คำถามเกี่ยวกับความรอด



คำถามเกี่ยวกับความรอด





คำถามเกี่ยวกับความรอด

พระวิญญาณบริสุทธิ์เป็นผู้ใด?




คำถาม: พระวิญญาณบริสุทธิ์เป็นผู้ใด?

คำตอบ:
มีการพูดถึงพระวิญญาณบริสุทธิ์ในความหมายที่ผิดเพี้ยนไป บ้างก็ว่าพระวิญญาณบริสุทธิ์คือพลังอันเร้นลับ บ้างก็เข้าใจว่าพระวิญญาณบริสุทธิ์คือพลังส่วนบุคคลที่พระเจ้าทรงประทานให้กับผู้ที่ติดตามพระคริสต์ ในพระคัมภีร์ได้กล่าวถึงพระวิญญาณบริสุทธิ์ไว้ว่าอย่างไร? กล่าวอย่างตรงๆ–พระคัมภีร์บอกว่าพระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงเป็นพระเจ้า นอกจากนี้ พระคัมภีร์ยังบอกเราอีกเช่นกันว่าพระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงเป็นบุคคล มีจิตใจ ความรู้สึก และความมุ่งหมาย

ข้อเท็จจริงที่ว่าพระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงเป็นพระเจ้านั้น เห็นได้อย่างชัดเจนจากข้อพระคัมภีร์หลายข้อ รวมถึงใน กิจการ 5:3-4 ในข้อนี้เปโตรถามอนาเนียว่าทำไมเขาจึงมุสาต่อพระวิญญาณบริสุทธิ์ และได้บอกเขาอีกว่าเขา “มิได้มุสาต่อมนุษย์แต่ได้มุสาต่อพระเจ้า” ซึ่งเป็นการประกาศอย่างชัดเจนว่าการโกหกพระวิญญาณบริสุทธิ์ ก็คือการโกหกพระเจ้า และเรายังทราบได้อีกเช่นกันว่าพระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงเป็นพระเจ้า เพราะพระองค์ทรงมีพระลักษณะพระเจ้า ตัวอย่างเช่น ความจริงที่ว่า พระวิญญาณบริสุทธิ์สถิตอยู่ทุกที่ ตามที่พระคัมภีร์ สดุดี 139:7-8 เขียนว่า “ข้าพระองค์จะไปไหนให้พ้นพระวิญญาณของพระองค์ได้ หรือข้าพระองค์จะหนีไปไหนให้พ้นพระพักตร์ของพระองค์ ถ้าข้าพระองค์ขึ้นไปยังสวรรค์ พระองค์ทรงสถิตที่นั่น ถ้าข้าพระองค์จะทำที่นอนไว้ในแดนผู้ตาย พระองค์ทรงสถิตที่นั่น” และใน 1 โครินธ์ 2:10 ที่แสดงให้เราเห็นถึงพระลักษณะของความรอบรู้ของพระองค์ว่า “พระเจ้าได้ทรงสำแดงสิ่งเหล่านั้นแก่เราทางพระวิญญาณ เพราะว่าพระวิญญาณทรงหยั่งรู้ทุกสิ่งแม้เป็นความล้ำลึกของพระเจ้าอันความคิดของมนุษย์นั้นไม่มีผู้ใดหยั่งรู้ได้ เว้นแต่จิตวิญญาณของมนุษย์ผู้นั้นเองฉันใด พระดำริของพระเจ้าก็ไม่มีใครหยั่งรู้ได้ เว้นแต่พระวิญญาณของพระเจ้าฉันนั้น”

เรารู้ว่าพระวิญญาณบริสุทธิ์เป็นบุคคลจริง ๆ เนื่องจากพระองค์ทรงมีจิตใจ ความรู้สึก และความมุ่งหมาย พระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงดำริ และทรงทราบ (1 โครินธ์ 2:10) พระวิญญาณบริสุทธิ์เสียพระทัยได้ ( เอเฟซัส 4:30) พระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงช่วยขอแทนเรา ( โรม 8:26-27) พระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงตัดสินตามน้ำพระทัยของพระองค์ ( 1 โครินธ์ 12:7-11) พระวิญญาณบริสุทธิ์เป็นพระเจ้า และทรงเป็น “บุคคล” ที่สามในไตรภาค ในฐานะของพระเจ้า พระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงสามารถเป็นที่พักพิงและที่ปรึกษาที่พระเยซูได้ทรงสัญญากับเราไว้ ( ยอห์น 14:16,26; 15:26)





พระวิญญาณบริสุทธิ์เป็นผู้ใด?

เราจะรับพระวิญญาณบริสุทธิ์ได้เมื่อไหร่ / อย่างไร?




คำถาม: เราจะรับพระวิญญาณบริสุทธิ์ได้เมื่อไหร่ / อย่างไร?

คำตอบ:
อัครทูตเปาโลสอนไว้อย่างชัดเจนว่าเราได้รับพระวิญญาณบริสุทธิ์ในนาทีที่เราเชื่อในพระเยซูคริสต์ว่าทรงเป็นพระผู้ช่วยให้รอดของเรา ข้อพระคัมภีร์ 1 โครินธ์ 12:13 บอกว่า “เพราะว่าถึงเราจะเป็นพวกยิวหรือพวกกรีก เป็นทาสหรือมิใช่ทาสก็ตาม เราทั้งหลายได้รับบัพติศมาโดยพระวิญญาณองค์เดียวเข้าเป็นกายอันเดียวกัน และพระวิญญาณองค์เดียวนั้นซาบซ่านอยู่” ข้อพระคัมภีร์โรม 8:9 บอกเราว่าหากผู้ใดผู้หนึ่งไม่มีพระวิญญาณบริสุทธิ์ เขาก็ไม่ได้เป็นของพระคริสต์ “ถ้าพระวิญญาณของพระเจ้าทรงสถิตอยู่ในท่านทั้งหลายจริงๆแล้ว ท่านก็มิได้อยู่ใต้เนื้อหนัง แต่อยู่ใต้พระวิญญาณ ผู้ใดไม่มีพระวิญญาณของพระคริสต์ ผู้นั้นก็ไม่เป็นของพระองค์” ข้อพระคัมภีร์ เอเฟซัส 1:13-14 สอนเราว่าพระวิญญาณบริสุทธิ์คือตราประทับแห่งความรอดสำหรับทุกคนที่เชื่อ “ในพระองค์นั้นท่านทั้งหลายก็เช่นเดียวกัน เมื่อท่านได้ฟังสัจวาทะ คือข่าวประเสริฐเรื่องความรอดของท่านและได้วางใจในพระองค์ ได้รับการผนึกตราไว้ด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์แห่งพระสัญญา เป็นมัดจำแห่งการรับมรดกของเรา จนกว่าเราจะได้รับเป็นกรรมสิทธิ์ เป็นที่ถวายสรรเสริญแด่พระสิริของพระองค์”

ข้อพระคัมภีร์สามข้อนี้ทำให้เห็นอย่างชัดเจนว่าเราได้รับพระวิญญาณบริสุทธิ์ในวินาทีที่เราได้รับความรอด ท่านเปาโลคงพูดไม่ได้ว่าเราทั้งหลายได้รับบัพติศมาโดยพระวิญญาณองค์เดียวเข้าเป็นกายอันเดียวกัน และพระวิญญาณองค์เดียวกันนั้นซาบซ่านอยู่ หากผู้เชื่อชาวเมืองโครินธ์ไม่ได้รับพระวิญญาณบริสุทธิ์ทุกคน ข้อพระคัมภีร์โรม 8:9 ยิ่งพูดหนักแน่นขึ้นไปอีกว่า ถ้าผู้ใดไม่มีพระวิญญาณ ผู้นั้นก็ไม่เป็นของพระคริสต์ ดังนั้นการมีพระวิญญาณคือการแสดงให้เห็นว่ามีความรอด ยิ่งกว่านั้นพระวิญญาณบริสุทธ็ไม่สามารถเป็น “ตราประทับแห่งความรอด” ได้ (เอเฟซัส 1:13-14) หากพระองค์ไม่ได้ถูกรับเข้ามาในวินาทีแห่งความรอด ข้อพระคัมภีร์หลายข้อแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าความรอดของเราได้รับการยืนยันในทันทีที่เราต้อนรับพระคริสต์เข้ามาในฐานะพระผู้ช่วยให้รอด

ข้อสนทนานี้สามารถถูกโต้แย้งได้ เพราะบ่อยครั้งที่พันธกิจของพระวิญญาณบริสุทธิ์มีความสับสน การรับ/การทรงสถิตของพระวิญญาณเกิดขึ้นในทันทีที่ผู้เชื่อได้รับความรอด การเต็มล้นด้วยพระวิญญาณเป็นขบวนการที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในชีวิตของคริสเตียน และในขณะที่เราเชื่อว่าการรับบัพติศมาของพระวิญญาณเกิดขึ้นในทันทีที่ผู้เชื่อได้รับความรอด มีคริสเตียนบางคนไม่เชื่อเช่นนั้น ดังนั้นบางครั้งจึงมีความสับสนเกิดขึ้นเกี่ยวกับการรับบัพติศมาของพระวิญญาณ และ “การรับพระวิญญาณ” ซึ่งเกิดขึ้นหลังการได้รับความรอด สรุปว่า เราได้รับพระวิญญาณบริสุทธิ์อย่างไร? เราได้รับพระวิญญาณบริสุทธิ์ง่าย ๆ โดยการเชื่อในองค์พระเยซูคริสต์ว่าทรงเป็นพระผู้ช่วยให้รอดของเรา (ยอห์น 3:5-16) เราได้รับพระวิญญาณบริสุทธิ์เมื่อไหร่? พระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงสถิตอย่างถาวรในเราในทันทีที่เราเชื่อ





เราจะรับพระวิญญาณบริสุทธิ์ได้เมื่อไหร่ / อย่างไร?

ฉันจะประกอบด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์ได้อย่างไร?




คำถาม: ฉันจะประกอบด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์ได้อย่างไร?

คำตอบ:
ข้อพระคัมภีร์สำคัญที่พูดเกี่ยวกับการประกอบด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์ในยุคนี้อยู่ในข้อพระคัมภีร์ยอห์น 14:16 เมื่อพระเยซูทรงสัญญาว่าพระวิญญาณจะทรงอยู่ภายในผู้เชื่อและการทรงอยู่นั้นจะเป็นการทรงอยู่ตลอดไป ที่สำคัญคือเราจะต้องแยกให้ถูกต้องระหว่างคำว่าการทรงอยู่ และการประกอบด้วยพระวิญญาณ การทรงอยู่ตลอดไปของพระวิญญาณไม่ใช่สำหรับผู้เชื่อแต่เพียงบางคน แต่สำหรับทุกคน มีข้อพระคัมภีร์หลายข้อที่ยืนยันเรื่องนี้ ข้อแรกกล่าวว่า พระวิญญาณบริสุทธิ์เป็นของขวัญสำหรับผู้เชื่อในพระเยซูทุกคนโดยไม่มีข้อยกเว้นหรือเงื่อนไขนอกจากการมีความเชื่อในพระคริสต์เท่านั้น (ยอห์น 7:37-39) ข้อสองคือ พระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงถูกมอบให้กับผู้เชื่อในทันทีที่เขาได้รับความรอด ข้อพระคัมภีร์เอเฟซัส 1:13 ชี้ให้เห็นว่าผู้เชื่อจะได้รับพระวิญญาณบริสุทธิ์ในทันทีที่เขาได้รับความรอด ข้อพระคัมภีร์กาลาเทีย 3:2 ก็เน้นความจริงเดียวกันนี้เช่นกันโดยกล่าวว่าการประทับตราและการทรงสถิตของพระวิญญาณเกิดขึ้นในทันทีที่คนผู้นั้นเชื่อ ประการที่สาม คือ พระวิญญาณบริสุทธิ์จะประทับอยู่ในผู้เชื่อตลอดไป พระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงถูกมอบให้กับผู้เชื่อเพื่อเป็นมัดจำ หรือ เป็นการยืนยันถึงอนาคตที่เต็มไปด้วยเกียรติยศและศักดิ์ศรีในพระคริสต์ (2 โครินธ์ 1:22; เอเฟซัส 4:30)

นี่เป็นเรื่องตรงกันข้ามกับคำสั่งเกี่ยวกับการประกอบด้วยพระวิญญาณในหนังสือเอเฟซัส 5:18 เราควรจำนนโดยสิ้นเชิงต่อพระวิญญาณบริสุทธิ์เพื่อที่พระองค์จะได้ทรงครอบครองเราอย่างเต็มที่และทำให้เราเต็มด้วยพระองค์ หนังสือโรม 8:9 และ เอเฟซัส 1:13-14 บอกว่าพระองค์ทรงสถิตอยู่ในผู้เชื่อทุกคน แต่เราสามารถทำให้พระองค์เสียพระทัยได้ (เอเฟซัส 4:30) และการงานของพระองค์ภายในเราสามารถถูกดับไปได้ด้วย (1 เธสะโลนิกา 5:19) เมื่อเราอนุญาตให้สิ่งนี้เกิดขึ้นเราจะไม่สามารถเรียนรู้ถึงการงานและสำผัสถึงฤทธิเดชของพระวิญญาณบริสุทธิ์ภายในเราและผ่านทางเราได้อย่างเต็มที่ การประกอบด้วยพระวิญญาณหมายถึงการยอมให้พระองค์มีเสรีภาพในการยึดครองทุกส่วนในชีวิตของเรา, นำเราและควบคุมเรา เพื่อฤทธิอำนาจของพระองค์จะสามารถทำงานผ่านเราได้ เพื่อว่าทุกสิ่งที่เราทำจะเกิดผลเพื่อพระเจ้า การประกอบด้วยพระวิญญาณไม่ได้หมายถึงการแสดงออกแต่เพียงภายนอกเท่านั้น แต่หมายถึงการแสดงออกทางความคิดและเจตนารมณ์จากส่วนลึกที่สุดของเราด้วย ข้อพระคัมภีร์สดุดี19:14 กล่าวว่า “ข้าแต่พระเจ้า พระศิลาและพระผู้ไถ่ของข้าพระองค์ ขอให้ถ้อยคำจากปากของข้าพระองค์ และการรำพึงภาวนาในจิตใจเป็นที่โปรดปรานในสายพระเนตรของพระองค์เถิด”

ความบาปคือสิ่งที่ทำให้เราไม่สามารถประกอบด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์ได้ และการเชื่อฟังพระเจ้าคือวิธีที่จะทำให้เรารักษาพระวิญญาณไว้ได้ ถึงแม้ว่าจุดศูนย์รวมของเราควรจะอยู่ที่การประกอบด้วยพระวิญญาณดังที่หนังสือเอเฟซัส 5:18 สอนไว้ การอธิษฐานขอให้เราประกอบด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์ไม่ได้ทำให้เราประกอบด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์ได้ การเชื่อฟังคำสั่งของพระเจ้าเท่านั้นคือการอนุญาตให้พระวิญญาณมีเสรีภาพที่จะทำงานในเรา เนื่องจากเราเป็นคนบาปมันจึงเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ที่เราจะประกอบด้วยพระวิญญาณตลอดเวลา เราควรจัดการกับความบาปในชีวิตของเราทันที และเริ่มต้นเอาจริงเอาจังในการที่จะเป็นผู้ที่ประกอบด้วยพระวิญญาณและได้รับการทรงนำโดยพระวิญญาณ





ฉันจะประกอบด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์ได้อย่างไร?

ฉันจะรู้ได้อย่างไรว่าของประทานฝ่ายวิญญาณของฉันคืออะไร?




คำถาม: ฉันจะรู้ได้อย่างไรว่าของประทานฝ่ายวิญญาณของฉันคืออะไร?

คำตอบ:
ไม่มีสูตรวิเศษหรือการทดสอบของประทานฝ่ายวิญญาณชนิดไหนที่จะบอกเราได้แน่นอนว่าของประทานฝ่ายวิญญาณของเราคืออะไร พระวิญญาณบริสุทธิ์ประทานของประทานต่าง ๆ ตามชอบพระทัยของพระองค์ (1 โครินธ์ 12:7-11) แต่ในขณะเดียวกันพระเจ้าก็ไม่ทรงมีพระประสงค์ที่จะให้เราละเลยไม่สนใจว่าพระองค์ทรงมีพระประสงค์ที่จะให้เรารับใช้พระองค์อย่างไร ปัญหาคือมันเป็นเรื่องง่ายที่เราจะหมกมุ่นอยู่กับของประทานฝ่ายวิญญาณเสียจนกระทั่งเราเลือกที่จะปรนนิบัติพระเจ้าภายในขอบเขตที่เรารู้สึกว่าเรามีของประทานเท่านั้น แต่ของประทานฝ่ายวิญญาณไม่ได้ทำงานแบบนั้น พระเจ้าทรงเรียกให้เราปรนนิบัติพระองค์ด้วยความเชื่อฟัง แล้วพระองค์จะประทานของประทานที่เราต้องการเพื่อทำงานที่พระองค์ทรงเรียกให้เราทำให้สำเร็จเอง

การค้นหาว่าเรามีของประทานฝ่ายวิญญาณอะไรบ้างสามารถทำได้หลายวิธี การทดสอบ หรือ ทำรายการของประทานฝ่ายวิญญาณสามารถช่วยให้เราเข้าใจได้ดีขึ้นว่าของประทานฝ่ายวิญญาณของเรามีอะไรบ้าง แต่เราไม่ควรจะเชื่อในการทำเช่นนั้นอย่างเต็มที่ การยืนยันจากคนอื่นก็สามารถช่วยได้เหมือนกันว่าเรามีของประทานฝ่ายวิญญาณอะไร บ่อยครั้งที่คนที่เห็นเราใช้ของประทานในการปรนนิบัติพระเจ้าโดยไม่รู้หรือสนใจว่านั่นเป็นของประทานของเรา จะบอกได้ว่าของประทานของเราคืออะไร การอธิษฐานก็เป็นเรื่องสำคัญเช่นกัน มีผู้เดียวที่รู้แน่นอนว่าของประทานฝ่ายวิญญาณของเราคืออะไร คือ พระวิญญาณบริสุทธิ์ - พระผู้ทรงประทานของประทานเหล่านั้นให้กับเราเอง – ดังนั้นเราจึงสามารถขอให้พระเจ้าแสดงให้เรารู้ว่าของประทานฝ่ายวิญญาณของเราคืออะไรเพื่อที่เราจะได้ใช้ของประทานเหล่านั้นได้อย่างเต็มที่เพื่อถวายพระสิริแด่พระองค์

แน่นอน, พระเจ้าทรงเรียกบางคนให้เป็นครูและทรงประทานของประทานแห่งการสอนให้กับเขา พระองค์ทรงเรียกคนบางคนให้เป็นผู้รับใช้และทรงอวยพรพวกเขาด้วยของประทานแห่งการเป็นผู้อุปการะ แต่อย่างไรก็ตามการได้รู้อย่างแน่นอนว่าของประทานฝ่ายวิญญาณของเราคืออะไร ไม่ได้เป็นข้อยกเว้นไม่ให้เรารับใช้พระองค์ทางด้านอื่น ๆ มันเป็นประโยชน์สำหรับเราไหมในการที่จะได้รู้ว่าของประทานฝ่ายวิญญาณของเรามีอะไรบ้าง? แน่นอนมันมีประโยชน์แน่ มันผิดไหมที่เราจะจดจ่ออยู่แต่กับของประทานฝ่ายวิญญาณของเราจนพลาดโอกาสที่จะรับใช้พระเจ้า? แน่นอน! หากเราอยากถวายตัวให้พระเจ้าใช้ พระองค์จะทรงประทานของประทานฝ่ายวิญญาณที่เราต้องการให้แน่





ฉันจะรู้ได้อย่างไรว่าของประทานฝ่ายวิญญาณของฉันคืออะไร?

การรับบัพติศมาในพระวิญญาณบริสุทธิ์คืออะไร?




คำถาม: การรับบัพติศมาในพระวิญญาณบริสุทธิ์คืออะไร?

คำตอบ:
การรับบัพติศมาในพระวิญญาณบริสุทธิ์สามารถอธิบายได้ว่าเป็นงานที่พระวิญญาณของพระเจ้าทรงทำในการนำผู้เชื่อให้เข้ามาผูกพันกับพระคริสต์และผู้เชื่อคนอื่น ๆ ในพระกายของพระองค์ในวินาทีที่ผู้เชื่อได้รับความรอด ข้อพระคัมภีร์ 1 โครินธ์ 12:12-13 และ โรม 6:1-4 คือจุดที่เราได้พบคำสอนนี้ ข้อพระคัมภีร์ 1 โครินธ์ 12:13 กล่าวว่า “เพราะว่าถึงเราจะเป็นพวกยิวหรือพวกกรีก เป็นทาสหรือมิใช่ทาสก็ตาม เราทั้งหลายได้รับบัพติศมาโดยพระวิญญาณองค์เดียวเข้าเป็นกายเดียวกัน และพระวิญญาณองค์เดียวนั้นซาบซ่านอยู่” ข้อพระคัมภีร์โรม 6:1-4 กล่าวว่า “ถ้าเช่นนั้นแล้วเราจะว่าอย่างไร ควรเราจะอยู่ในบาปต่อไป เพื่อให้พระคุณมีมากยิ่งขึ้นหรือ อย่าให้เป็นอย่างนั้นเลย พวกเราที่ตายต่อบาปแล้ว จะมีชีวิตในบาปต่อไปอย่างไรได้ ท่านไม่รู้หรือว่า เราทั้งหลายที่ได้รับบัพติศมาเข้าในพระเยซูคริสต์ ก็ได้รับบัพติศมานั้นเข้าในความตายของพระองค์ เหตุฉะนั้นเราจึงถูกฝังไว้กับพระองค์แล้วโดยการรับบัพติศมาเข้าส่วนในความตายนั้น เหมือนกับที่พระคริสต์ได้ทรงถูกชุบให้เป็นขึ้นมาจากความตาย โดยเดชพระรัศมีของพระบิดาอย่างไร เราก็จะได้ดำเนินตามชีวิตใหม่ด้วยอย่างนั้น” แม้ว่าข้อพระคัมภีร์โรม 6 ไม่ได้พูดอย่างเจาะจงเกี่ยวกับพระวิญญาณของพระเจ้า แต่ก็ได้อธิบายถึงตำแหน่งที่ผู้เชื่อถูกวางไว้จำเพาะพระพักตร์ของพระเจ้า และ ข้อพระคัมภีร์ 1 โครินธ์ 12 ได้บอกเราว่ามันเกิดขึ้นได้อย่างไร

มีความจริงสามประการที่ควรได้รับการพิจารณาเพื่อช่วยให้เราเข้าใจเรื่องการรับบัพติศมาในพระวิญญาณได้ดีขึ้น ประการแรกคือ ข้อพระคัมภีร์ 1 โครินธ์ 12:13 บอกไว้อย่างชัดเจนว่าเราทั้งหลายได้รับบัพติศมาแล้ว เหมือนกับว่าเราทั้งหลายถูกให้ดื่มแล้ว (การทรงสถิตของพระวิญญาณ) ประการที่สอง ไม่มีที่ไหนในพระคัมภีร์ที่หนุนใจให้ผู้เชื่อรับบัพติศมากับ/ใน/โดยพระวิญญาณ นี่แสดงให้เห็นว่าผู้เชื่อทุกคนมีประสบการณ์ในพันธกิจนี้แล้ว ประการสุดท้าย ข้อพระคัมภีร์เอเฟซัส 4:5 ดูเหมือนว่าจะพูดถึงการรับบัพติศมาในพระวิญญาณ หากเป็นเช่นนั้น การรับบัพติศมาในพระวิญญาณเป็นความจริงสำหรับผู้เชื่อทุกคน เช่นเดียวกับการมี “ความเชื่อเดียว” และ “พระบิดาเดียว” นั่นเอง

สรุปว่าการรับบัพติศมาในพระวิญญาณบริสุทธิ์ก่อให้เกิดบางสิ่งสองประการคือ (1) ผูกพันเราเข้ากับพระกายของพระคริสต์ และ (2) ทำให้เรามีส่วนในการเข้าตรึงบนกางเขนร่วมกับพระคริสต์ การเข้าส่วนในพระกายหมายถึงการได้รับชีวิตใหม่ร่วมกับพระองค์ (โรม 6:4) ดังนั้นเราจึงควรใช้ของประทานฝ่ายวิญญาณของเราเพื่อทำให้กายนั้นได้ทำหน้าที่อย่างถูกต้องเหมาะสมตามที่ข้อพระคัมภีร์ 1 โครินธ์ 12:13 กล่าวไว้ การมีประสบการณ์ในการรับบัพติศมาในพระวิญญาณเดียวกันเป็นเหตุให้เราต้องรักษาความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในคริสตจักร ดังเช่นที่ข้อพระคัมภีร์เอเฟซัส 4:5 กล่าวไว้ การเข้าร่วมในการวายพระชนม์, ถูกฝัง และฟื้นขึ้นมาร่วมกับพระคริสต์โดยการรับบัพติศมาในพระวิญญาณก่อให้เกิดรากฐานแห่งความเชื่อว่าเราได้ถูกแยกไว้แล้วจากพลังแห่งความบาป และ มีชีวิตใหม่แล้ว (โรม 6:1-10, โคโลสี 2:12)





การรับบัพติศมาในพระวิญญาณบริสุทธิ์คืออะไร?

การหมิ่นประมาทพระวิญญาณบริสุทธิ์คืออะไร?




คำถาม: การหมิ่นประมาทพระวิญญาณบริสุทธิ์คืออะไร?

คำตอบ:
เรื่องเกี่ยวกับ “การหมิ่นประมาทพระวิญญาณบริสุทธิ์” ในพันธสัญญาใหม่มีกล่าวไว้ในหนังสือมาระโก 3:22-30 และมัทธิว 12:22-32 คำว่าหมิ่นประมาทโดยทั่วไปอาจหมายถึงการ “ท้าทายอย่างไม่เคารพเกรงกลัว” ยกตัวอย่างเช่น การสาปแช่งพระเจ้า การทำให้สิ่งที่เกี่ยวกับพระเจ้าเป็นเรื่องน่าอับอายหรือไม่ดีโดยเจตนา การอ้างว่าสิ่งที่ชั่วร้ายมาจากพระเจ้า หรือปฏิเสธที่จะสรรเสริญพระองค์ในสิ่งดีที่พระองค์กระทำ แต่กรณีนี้เป็นกรณีพิเศษซึ่งหนังสือมัทธิว 12:31 เรียกว่าเป็น “การหมิ่นประมาทพระวิญญาณบริสุทธิ์” หนังสือมัทธิว 12:31-32 กล่าวว่า ทั้ง ๆ ที่พวกฟาริสีได้เห็นอย่างปฏิเสธไม่ได้ว่าพระเยซูทรงทำการอัศจรรย์โดยฤทธิ์เดชของพระวิญญาณบริสุทธิ์ พวกเขากลับกล่าวหาว่าพระองค์โดนผี “เบเอลเซบูล” เข้าสิง (มัทธิว 12:24) จงสังเกตว่าในหนังสือมาระโก 3:30 พระเยซูตรัสอย่างเจาะจงถึงสิ่งที่พวกเขาได้ทำซึ่งถือว่าเป็นการ “หมิ่นประมาทพระวิญญาณบริสุทธิ์”

การหมิ่นประมาทที่ว่านี้ คือการที่มีคนบางคนกล่าวหาว่าพระเยซูคริสต์ทรงถูกผีสิง แทนที่จะมองว่าพระองค์ทรงเต็มล้นด้วยพระวิญญาณ ยังมีอีกหลายวิธีในการหมิ่นประมาทพระวิญญาณบริสุทธิ์ แต่การหมิ่นประมาท “ครั้งนี้” เป็นการหมิ่นประมาทที่ไม่สามารถยกโทษให้ได้ และไม่สามารถนำมาเลียนแบบได้ในปัจจุบัน เพราะพระเยซูคริสต์ไม่ได้ทรงประทับอยู่บนโลกนี้แล้ว แต่ทรงอยู่ ณ เบื้องขวาของพระเจ้า ไม่มีใครสามารถเห็นพระองค์ทรงทำการอัศจรรย์และกล่าวว่านั่นเป็นฤทธิ์อำนาจของมารซาตานแทนที่จะเป็นฤทธิอำนาจของพระวิญญาณบริสุทธิ์ แม้ว่าในปัจจุบันจะไม่มีการหมิ่นประมาทพระวิญญาณอีกต่อไปแล้ว เราควรระลึกไว้ว่ายังมีสภาวะอีกสภาวะหนึ่งที่ยังคงดำรงอยู่ซึ่งเป็นสภาวะที่ไม่สามารถให้อภัยได้ – นั่นคือสภาวะของการไม่เชื่อ ไม่มีการให้อภัยสำหรับคนที่เสียชีวิตโดยไม่มีความเชื่อ การปฏิเสธการกระตุ้นของพระวิญญาณบริสุทธิ์อย่างต่อเนื่องเพื่อให้เกิดความเชื่อในพระเยซูคริสต์เป็นการหมิ่นประมาทที่ไม่สามารถให้อภัยได้ จำได้ไหมว่าข้อพระคัมภีร์ยอห์น 3:16 กล่าวไว้ว่าอย่างไร “เพราะว่าพระเจ้าทรงรักโลก จนได้ทรงประทานพระบุตรองค์เดียวของพระองค์ เพื่อทุกคนที่วางใจในพระบุตรนั้นจะไม่พินาศ แต่มีชีวิตนิรันดร์” เงื่อนไขเดียวเท่านั้นที่ทำให้คนบางคนไม่ได้รับการให้อภัยคือการที่เขาไม่ได้เป็นหนึ่งใน “ผู้ที่เชื่อในพระบุตร” นั่นเอง





การหมิ่นประมาทพระวิญญาณบริสุทธิ์คืออะไร?

ในปัจจุบันนี้ของประทานแห่งการอัศจรรย์ของพระวิญญาณยังมีอยู่ไหม?




คำถาม: ในปัจจุบันนี้ของประทานแห่งการอัศจรรย์ของพระวิญญาณยังมีอยู่ไหม?

คำตอบ:
ประการแรก สิ่งสำคัญคือเราจะต้องรู้ว่านี่ไม่ใช่คำถามเกี่ยวกับว่าพระเจ้ายังทรงทำการอัศจรรย์อยู่หรือไม่ในปัจจุบัน มันคงเป็นการโง่มากและไม่ตรงกับพระคัมภีร์เลย ที่จะคิดว่าพระเจ้าทรงไม่รักษาโรค หรือตรัสกับผู้คน หรือทำหมายสำคัญและการอัศจรรย์แล้วในปัจจุบัน คำถามคือ ของประทานแห่งการอัศจรรย์ของพระวิญญาณตามที่มีปรากฏอยู่ในหนังสือ 1 โครินธ์ บทที่ 12-14 ยังมีอยู่หรือไม่ในปัจจุบัน และนี่ก็ไม่ใช่คำถามว่าพระวิญญาณบริสุทธิ์ยังทรง “สามารถ” ประทานของประทานแห่งการอัศจรรย์ให้กับใครหรือไม่อีกเหมือนกัน แต่คำถามคือ พระวิญญาณบริสุทธิ์ “ยังคง” แจกจ่ายของประทานแห่งการอัศจรรย์หรือไม่ในปัจจุบัน เหนือสิ่งอื่นใดทั้งสิ้น เราตระหนักดีว่าพระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงมีอิสระที่จะแจกจ่ายของประทานตามพระประสงค์ของพระองค์ (1 โครินธ์ 12:7-11)

ในหนังสือกิจการและพระกิตติคุณ การอัศจรรย์ส่วนใหญ่ถูกกระทำโดยอัครทูตและผู้ใกล้ชิด ข้อพระคัมภีร์ 2 โครินธ์ 12:12 ให้เหตุผลว่าทำไม “แท้จริงลักษณะของอัครทูตก็ได้สำแดงให้ประจักษ์แจ้งในหมู่พวกท่านแล้ว ด้วยความเพียร โดยหมายสำคัญ โดยการมหัศจรรย์ และโดยการอิทธิฤทธิ์” หากผู้เชื่อในพระคริสต์ทุกคน พรักพร้อมด้วยความสามารถในการทำหมายสำคัญ การอัศจรรย์ และการอิทธิฤทธิ์ – ดังนั้น หมายสำคัญ การอัศจรรย์ และการอิทธิฤทธิ์ ก็ไม่มีทางที่จะเป็นตราประทับของอัครทูตได้ หนังสือกิจการ 2:22 บอกเราว่าพระเยซูเป็นที่ “ยอมรับ” โดยการทรงกระทำ “หมายสำคัญ การอัศจรรย์ และการอิทธิฤทธิ์” เช่นเดียวกัน เหล่าอัครทูตได้รับการ “ประทับตรา” ว่าเป็นผู้สื่อข่าวจากพระเจ้าโดยการอัศจรรย์ที่พวกเขาทำ หนังสือกิจการ 14:3 บรรยายว่าพระกิตติคุณได้รับการ “ยืนยัน” โดยการอัศจรรย์ที่เปาโลและบารนาบัสทำ

1 โครินธ์บทที่ 12-14 พูดในเบื้องต้นเกี่ยวกับเรื่องของประทานของพระวิญญาณ จากบริบทนี้ดูเหมือนว่าคริสเตียน “ธรรมดา ๆ” บางครั้งก็ได้รับของประทานแห่งการอัศจรรย์ด้วยเหมือนกัน (12:8-10; 28-30) แต่พระคัมภีร์ไม่ได้บอกว่ามันเป็นเรื่องธรรมดาแค่ไหน จากที่เราได้เรียนรู้ข้างต้นว่าอัครทูตได้รับการ “ประทับตรา” ด้วยหมายสำคัญและการอัศจรรย์ ดังนั้นจึงดูเหมือนว่าของประทานแห่งการอัศจรรย์ที่คริสเตียน “ธรรมดา ๆ” ได้รับนั้นเป็นข้อยกเว้นไม่ใช่ข้อบังคับ นอกจากอัครทูตและคนใกล้ชิดของพวกเขาแล้ว ไม่มีที่ไหนในพันธสัญญาใหม่บอกไว้อย่างเจาะจงว่าคนอื่น ๆ ก็มีการใช้ของประทานแห่งการอัศจรรย์ของพระวิญญาณด้วยเหมือนกัน

ที่สำคัญอีกประการหนึ่งที่เราจะต้องตระหนักคือคริสตจักรในยุคแรกไม่มีพระคัมภีร์ที่สมบูรณ์อย่างที่เรามีในปัจจุบัน (2 ทิโมธี 3:16-17) ดังนั้นของประทานเกี่ยวกับการเผยพระวจนะ, ความรู้, สติปัญญา, ฯลฯ จึงเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับคริสเตียนในยุคแรกเพื่อที่จะได้รู้ว่าพระเจ้าทรงมีพระประสงค์ที่จะให้พวกเขาทำอะไร ของประทานเกี่ยวกับการเผยพระวจนะช่วยให้ผู้เชื่อสื่อความจริงและการเปิดเผยสำแดงใหม่ ๆ จากพระเจ้าได้ เดี๋ยวนี้การเปิดเผยสำแดงของพระเจ้าสมบูรณ์แล้วในพระคัมภีร์ ดังนั้น ของประทานเกี่ยวกับ “การเปิดเผยสำแดง” จึงไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป หรือไม่เต็มที่อย่างที่เคยเป็นในสมัยพันธสัญญาใหม่

พระเจ้าทรงรักษาผู้คนอย่างอัศจรรย์ทุกวัน พระองค์ยังคงตรัสกับเราในทุกวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นการตรัสด้วยเสียงของพระองค์ หรือผ่านทางความคิด หรือผ่านทางความรู้สึกก็ตาม พระเจ้ายังคงทำการอัศจรรย์, หมายสำคัญ และการอิทธิฤทธิ์ – และในบางครั้งก็ทรงทำผ่านคริสเตียน แต่ทั้งหมดที่ได้พูดมาไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นของประทานแห่งการอัศจรรย์ของพระวิญญาณเสมอไป วัตถุประสงค์แรกของของประทานแห่งการอัศจรรย์คือเพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่าพระกิตติคุณเป็นความจริงและอัครทูตคือผู้ส่งข่าวของพระเจ้าจริง ๆ พระคัมภีร์ไม่ได้บอกอย่างจำเพาะเจาะจงว่าของประทานแห่งการอัศจรรย์ได้สิ้นสุดลงแล้ว แต่ได้วางรากฐานให้เห็นว่าทำไมของประทานเหล่านี้จึงไม่จำเป็นอีกต่อไป





ในปัจจุบันนี้ของประทานแห่งการอัศจรรย์ของพระวิญญาณยังมีอยู่ไหม?

ของประทานในการพูดภาษาแปลก ๆ คืออะไร? ของประทานในการพูดภาษาแปลก ๆ เป็นของประทานสำหรับปัจจุบันนี้หรือไม่?




คำถาม: ของประทานในการพูดภาษาแปลก ๆ คืออะไร? ของประทานในการพูดภาษาแปลก ๆ เป็นของประทานสำหรับปัจจุบันนี้หรือไม่?

คำตอบ:
ปรากฏการณ์ครั้งแรกเกี่ยวกับการพูดภาษาแปลก ๆ เกิดขึ้นในวันเทศกาลเพนเทคศเต ในหนังสือกิจการ 2:1-4 ในตอนนั้นพวกอัครทูตออกไปแบ่งปันพระกิตติคุณกับฝูงชนด้วยการพูดกับพวกเขาด้วยภาษาท้องถิ่น “เราทั้งหลายต่างก็ได้ยินคนเหล่านี้กล่าวถึงมหกิจของพระเจ้าตามภาษาของเราเอง” (กิจการ 2:11) คำว่า “ภาษาแปลก ๆ” ในภาษากรีกแปลตรงตัวว่า “ภาษาต่าง ๆ” ดังนั้นของประทานแห่งการพูดภาษาแปลก ๆ คือการพูดด้วยภาษาที่คนพูดไม่รู้จักแต่คนฟังรู้จักเพื่อให้คนฟังเข้าใจเพราะเป็นภาษาของเขาเอง ใน 1 โครินธ์ บทที่ 12-14 เมื่อท่านอาจารย์เปาโลพูดถึงของประทานที่น่าอัศจรรย์ ท่านออกความเห็นว่า “นี่แหละพี่น้องทั้งหลาย ถ้าข้าพเจ้ามาหาท่านและพูดภาษาต่างๆ จะเป็นประโยชน์อะไรแก่ท่านเล่า เว้นเสียแต่ข้าพเจ้าจะพูดกับท่านโดยคำวิวรณ์ หรือโดยความรู้ หรือโดยคำพยากรณ์ หรือโดยการสั่งสอน” (1 โครินธ์ 14:6) ตามคำพูดของท่านอาจารย์เปาโล และตามความเห็นที่สอดคล้องกับเรื่องการพูดภาษาแปลก ๆ ที่กล่าวไว้ในหนังสือกิจการ การพูดภาษาแปลก ๆ มีประโยชน์สำหรับคนที่ฟังพระวจนะของพระเจ้าในภาษาของเขาเอง แต่ไร้ประโยชน์สำหรับคนอื่น – นอกจากมันจะได้รับการแปล

คนที่มีของประทานในการแปลภาษาแปลก ๆ (1 โครินธ์ 12:30) จะสามารถเข้าใจว่าคนที่พูดภาษาแปลก ๆ นั้นกำลังพูดว่าอะไรแม้ว่าเขาจะไม่รู้จักภาษาที่กำลังถูกพูดอยู่ก็ตาม แล้วเขาก็จะแปลภาษาที่คนอีกคนหนึ่งกำลังพูดให้ทุกคนฟัง “เหตุฉะนั้นให้คนที่พูดภาษาต่างๆอธิษฐานว่า เขาจะสามารถแปลได้ด้วย” (1 โครินธ์ 14:13) ข้อสรุปของท่านอาจารย์เปาโลเกี่ยวกับภาษาแปลก ๆ ที่ไม่ได้รับการแปลมีพลังมาก “แต่ว่าในคริสตจักร ข้าพเจ้าพอใจที่จะพูดสักห้าคำด้วยความเข้าใจ เพื่อเสียงของข้าพเจ้าจะสั่งสอนคนอื่นด้วย ดีกว่าที่จะพูดหมื่นคำเป็นภาษาต่างๆ” (1 โครินธ์ 14:19)

ของประทานในการพูดภาษาแปลก ๆ ยังใช้ได้ในปัจจุบันหรือไม่? ข้อพระคัมภีร์ 1 โครินธ์ 13:8 กล่าวว่าของประทานในการพูดภาษาแปลก ๆ ถูกเลิกราไปแล้ว แต่พระคัมภีร์โยงการเลิกรานั้นไปสู่ “ความสมบูรณ์” ที่จะมาถึงใน 1 โครินธ์ 13:10 มีบางคนชี้ไปถึงความแตกต่างระหว่างภาษาที่ใช้ในการเผยพระวจนะ และความรู้ที่ “จะเสื่อมสูญไป” กับภาษาแปลก ๆ ที่จะ “มีเวลาเลิกราไป” ว่าเป็นหลักฐานว่าการพูดภาษาแปลก ๆ จะถูกเลิกราไปก่อนที่ “ความสมบูรณ์” จะมาถึง แม้ว่านี่จะเป็นไปได้ แต่ข้อพระคัมภีร์ไม่ได้แสดงให้เห็นชัดเจน บางคนชี้ไปที่ข้อพระคัมภีร์เช่น อิสยาห์ 28:11 และ โยเอล 2:28-29 ว่าการพูดภาษาแปลก ๆ เป็นหมายสำคัญที่แสดงถึงคำพิพากษาของพระเจ้าที่จะมาถึง 1 โครินธ์ 14:22 บอกว่าภาษาแปลก ๆ เป็น “หมายสำคัญสำหรับผู้ไม่เชื่อ” ตามข้อโต้แย้งนี้ ของประทานในการพูดภาษาแปลก ๆ คือ การเตือนพวกยิวว่าพระเจ้ากำลังจะทรงพิพากษาคนอิสราเอลเนื่องจากพวกเขาปฏิเสธพระเยซูคริสต์ในฐานะพระเมสสิยาห์ ดังนั้น เมื่อพระเจ้าทรงพิพากษาชนชาติอิสราเอลจริง ๆ (โดยการทำลายกรุงเยรูซาเล็มด้วยชาวโรมันในปี ค.ศ 70) ของประทานในการพูดภาษาแปลก ๆ ย่อมไม่ความจำเป็นอีกต่อไป แม้ว่ามุมมองนี้มีความเป็นไปได้ และแม้ว่าวัตถุประสงค์เดิมของการพูดภาษาแปลก ๆ จะสำเร็จลง แต่ไม่ได้หมายความว่ามันจะต้องถูกหยุดลงด้วย พระคัมภีร์ไม่ได้สรุปว่าของประทานแห่งการพูดภาษาแปลก ๆ ถูกเลิกราไปแล้ว

ในเวลาเดียวกัน หากของประทานในการพูดภาษาแปลก ๆ ยังคงใช้การได้อยู่ในคริสตจักรในปัจจุบัน มันจะต้องถูกใช้อย่างสอดคล้องกับพระคัมภีร์ และจะต้องเป็นภาษาจริง ๆ และพอเข้าใจได้ (1 โครินธ์ 14:10) มันจะต้องเป็นภาษาที่สื่อพระวจนะของพระเจ้าให้กับคนอีกภาษาหนึ่ง (กิจการ 2:6-12) มันจะต้องสอดคล้องกับพระบัญชาที่พระเจ้าทรงให้ไว้ผ่านท่านอาจารย์เปาโล “ถ้าผู้ใดจะพูดภาษาต่างๆ จงให้พูดเพียงสองคนหรืออย่างมากที่สุดก็สามคน และให้พูดทีละคน และให้อีกคนหนึ่งแปล แต่ถ้าไม่มีผู้ใดแปลก็ให้คนเหล่านั้นอยู่เงียบๆในที่ประชุมคริสตจักร และให้พูดกับตัวเอง และทูลต่อพระเจ้า” (1 โครินธ์ 14:27-28) มันจะต้องสอดคล้องกับข้อพระคัมภีร์ 1 โครินธ์ 14:33 “เพราะว่าพระเจ้าไม่ใช่ผู้ก่อให้เกิดความสับสนวุ่นวาย แต่ทรงเป็นผู้ก่อให้เกิดสันติสุข เหมือนที่ได้เกิดขึ้นในบรรดาคริสตจักรแห่งวิสุทธิชนนั้น”

แน่นอนที่สุดว่าพระเจ้าทรงสามารถที่จะให้ของประทานแห่งการพูดภาษาแปลก ๆ กับใครก็ได้เพื่อให้เขาสื่อกับคนอีกคนหนึ่งด้วยภาษาอีกภาษาหนึ่ง พระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงยิ่งใหญ่สูงสุดในการแจกจ่ายของประทานฝ่ายวิญญาณ (1 โครินธ์ 12:11) ลองวาดภาพดูว่ามันจะเกิดประโยชน์กับมิชชันนารีมากแค่ไหนถ้าพวกเขาไม่ต้องเข้าโรงเรียนเรียนภาษาท้องถิ่น หรือถ้าพวกเขาสามารถพูดกับผู้คนด้วยภาษาท้องถิ่นได้เลย แต่ดูเหมือนว่าพระเจ้าไม่ได้ทรงทำเช่นนั้น ในปัจจุบันภาษาแปลก ๆ ดูเหมือนจะไม่ได้เกิดขึ้นเหมือนอย่างที่เกิดในสมัยพันธสัญญาใหม่ แม้ว่ามันจะมีประโยชน์มากก็ตาม ผู้เชื่อส่วนใหญ่ที่บอกว่าเขาใช้ของประทานในการพูดภาษาแปลก ๆ ไม่ได้ทำอย่างสอดคล้องกับที่ข้อพระคัมภีร์บอกไว้ข้างต้น ความจริงเหล่านี้นำไปสู่ข้อสรุปว่าของประทานในการพูดภาษาแปลก ๆ ได้หยุดไปแล้ว หรืออย่างน้อยหายากที่เป็นไปตามแผนของพระเจ้าสำหรับคริสตจักรในปัจจุบัน

ผู้ที่เชื่อในของประทานในการพูดภาษาแปลก ๆ ว่าเป็น “ภาษาแห่งการอธิษฐาน” เพื่อให้ตัวเองจำเริญขึ้น ได้แง่คิดมาจากข้อพระคัมภีร์ 1 โครินธ์ 14:4 และ/หรือ 14:28 “ฝ่ายคนที่พูดภาษาต่างๆนั้นก็ทำให้ตนเองเจริญฝ่ายเดียว แต่ผู้ที่พยากรณ์นั้นย่อมทำให้คริสตจักรจำเริญขึ้น” ตลอดบทที่ 14 ท่านอาจารย์เปาโลเน้นถึงความสำคัญของการแปลภาษาแปลก ๆ (ดู 14:5-12) สิ่งที่ท่านอาจารย์เปาโลพูดถึงในข้อ 4 คือ “ถ้าท่านพูดภาษาแปลก ๆ โดยไม่มีการแปล ก็เท่ากับว่าท่านไม่ได้ทำอะไรนอกจากทำให้ตนเองจำเริญขึ้น ทำให้ตัวเองดูเหมือนว่าเข้าลึกฝ่ายวิญญาณมากกว่าคนอื่น หากท่านพูดภาษาแปลก ๆ แล้วมีการแปล ท่านก็ทำให้คนอื่นจำเริญขึ้น” ไม่มีที่ไหนในพันธสัญญาใหม่ที่สั่งไว้อย่างเจาะจงเกี่ยวกับการ “อธิษฐานในภาษาแปลก ๆ” ไม่มีที่ไหนในพันธสัญญาใหม่บอกวัตถุประสงค์ของการ “อธิษฐานในภาษาแปลก ๆ” หรือพูดอย่างจำเพาะเจาะจงถึงใครที่ “อธิษฐานในภาษาแปลก ๆ” นอกจากนั้น หาก “ของประทานในการพูดภาษาแปลก ๆ” มีไว้เพื่อทำให้ตัวเองจำเริญขึ้น มันจะไม่เป็นการยุติธรรมสำหรับคนที่ไม่มีของประทานในการพูดภาษาแปลก ๆ หรือ ที่เขาจะไม่จำเริญขึ้น? 1 โครินธ์ 12:29-30 แสดงให้เห็นชัดเจนว่าไม่ใช่ทุกคนจะมีของประทานในการพูดภาษาแปลก ๆ





ของประทานในการพูดภาษาแปลก ๆ คืออะไร? ของประทานในการพูดภาษาแปลก ๆ เป็นของประทานสำหรับปัจจุบันนี้หรือไม่?