คำถามเกี่ยวกับความบาป



คำถามเกี่ยวกับความบาป





คำถามเกี่ยวกับความบาป

คำจำกัดความของความบาปมีอะไรบ้าง?




คำถาม: คำจำกัดความของความบาปมีอะไรบ้าง?

คำตอบ:
พระคัมภีร์บอกว่าความบาปคือการละเมิดกฎของพระเจ้า (1 ยอห์น 3:4) และการกบฏต่อพระเจ้า (เฉลยธรรมบัญญัติ 9:7; โยชูวา 1:18) ความบาปเกิดขึ้นโดยลูซีเฟอร์ - “ดวงดาวที่ส่องสว่าง, โอรสแห่งรุ่งอรุณ” - ทูตสวรรค์ที่งามและมีฤทธิ์เดชมากที่สุด แต่มันก็ยังไม่พอใจในสิ่งที่มันมีอยู่ และอยากเป็นเหมือนพระเจ้าผู้ยิ่งใหญ่สูงสุด นั่นคือความหายนะของมันและจุดเริ่มต้นแห่งความบาป (อิสยาห์ 14:12-15) หลังจากที่มันได้รับชื่อใหม่ว่าซาตาน มันได้นำความบาปเข้ามาในสวนเอเดนที่ซึ่งมนุษย์อาศัยอยู่ และล่อลวงอาดัมและเอวาด้วยคำล่อลวงแบบเดียวกันคือ “เจ้าจะเป็นเหมือนพระเจ้า” หนังสือปฐมกาลบทที่ 3 ได้พูดเกี่ยวกับการกบฏของมนุษย์ต่อพระเจ้าและคำสั่งของพระองค์เอาไว้ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาความบาปได้ถูกส่งทอดลงมาเรื่อย ๆ ในหมู่มนุษย์ และเราซึ่งเป็นลูกหลานของอาดัมจึงได้รับผลแห่งความบาปนั้นจากเขา หนังสือโรม 5:12 บอกเราว่า ความบาปได้เข้ามาสู่โลกนี้โดยทางอาดัม ดังนั้นความตายจึงถูกส่งต่อมายังทุกคนเพราะ “ค่าจ้างแห่งความบาปคือความตาย” (โรม 6:23)

โดยทางอาดัม มนุษย์จึงมีแนวโน้มที่จะทำบาปและกลายเป็นคนบาปโดยธรรมชาติ เมื่ออาดัมทำบาปธรรมชาติภายในตัวเขาจึงถูกเปลี่ยนไปโดยความบาปแห่งการกบฏ ดังนั้นความตายฝ่ายวิญญาณและความเสื่อมทรามจึงเข้ามาถึงเขาและทุกคนที่เกิดมาภายหลังเขา มนุษย์กลายเป็นคนบาปไม่ใช่เพราะมนุษย์ทำบาป แต่มนุษย์มีบาปเพราะมนุษย์เป็นคนบาป มันเป็นความบาปที่มนุษย์ได้รับเป็นมรดกตกทอดมาจากบรรพบุรุษ เหมือนอย่างที่เราได้รับการถ่ายทอดรูปร่างหน้าตาหรือบุคลิกลักษณะมาจากพ่อแม่ เราก็ได้รับการถ่ายทอดธรรมชาติบาปมาจากอาดัมเช่นกัน กษัตริย์ดาวิดทรงโศกเศร้าด้วยเรื่องการล้มลงในความบาปของมนุษย์และทรงถ่ายทอดความรู้สึกนี้ออกมาในสดุดี 51:5 ว่า “ดูเถิด ข้าพระองค์ถือกำเนิดมาในความผิดบาป และมารดาตั้งครรภ์ข้าพระองค์ในบาป”

ความบาปอีกชนิดหนึ่งคือความบาปที่ถูกนำมายกให้ (imputed sin) หากใช้เกี่ยวกับทางด้านการเงินหรือกฎหมาย, คำ ๆ นี้ในภาษากรีกหมายถึงการนำอะไรที่เป็นของคน ๆ หนึ่งมาใส่ไว้ในบัญชีของคนอีกคนหนึ่ง ก่อนที่จะมีกฎของโมเสส ไม่มีการเอาบาปมายกให้มนุษย์แม้ว่ามนุษย์จะยังเป็นคนบาปอยู่เนื่องจากความบาปที่ถูกส่งทอดมาจากบรรพบุรุษก็ตาม แต่หลังจากที่มีพระราชบัญญัติ ความบาปที่เกิดขึ้นเพราะการทำผิดพระราชบัญญัติถือว่าเป็นบาป (นับรวมว่าเป็นหนี้) (โรม 5:13) แม้ว่าก่อนที่การละเมิดพระราชบัญญัติจะถูกถือว่าเป็นบาป โทษของความบาป (ความตาย) ก็ได้ครอบงำมนุษย์ตลอดมาอยู่แล้ว (โรม 5:14) ตั้งแต่อาดัมจนถึงโมเสสมนุษย์ถูกครอบงำโดยความตาย ไม่ใช่เพราะการทำผิดบาปต่อกฎของโมเสส (ซึ่งยังไม่มี) แต่เพราะธรรมชาติบาปที่แต่ละคนได้รับเป็นมรดกตกทอดมา หลังจากสมัยโมเสส มนุษย์ถูกครอบงำโดยความตายเพราะผลของควาบบาปทั้งที่ได้รับมาจากอาดัมและที่ถูกนำมาใส่ให้เนื่องจากการฝ่าฝืนกฎของพระเจ้า

พระเจ้าทรงใช้หลักการในการนำความบาปมาวางบนมนุษย์เพื่อประโยชน์ของมนุษย์เมื่อพระองค์ทรงนำความบาปของผู้เชื่อมาวางไว้บนพระเยซูคริสต์ ผู้ทรงเป็นผู้จ่ายค่าจ้างแห่งความบาปนั้น (ความตาย) บนไม้กางเขน โดยการนำความบาปของเรามาวางลงบนพระเยซู พระเจ้าทรงทำให้พระเยซูทรงเป็นเสมือนคนบาปทั้ง ๆ ที่พระองค์ไม่ได้เป็น และทรงทำให้พระเยซูสิ้นพระชนม์เพราะความบาปของทุกคนที่เชื่อในพระองค์ มันเป็นเรื่องสำคัญที่เราจะต้องเข้าใจว่าความบาปถูกนำมาวางลงบนพระองค์ แต่พระองค์ทรงไม่ได้รับมรดกความบาปจากอาดัมมา พระองค์ทรงรับแบกบาป แต่ทรงไม่ใช่คนบาป ความบริสุทธิ์และความบริบูรณ์พร้อมซึ่งเป็นพระลักษณะของพระองค์ไม่ได้ถูกความบาปแตะแม้แต่น้อย พระองค์ทรงถูกกระทำให้ดูเหมือนว่าทรงเป็นผู้ผิดบาปทุกชนิดที่ผู้เชื่อทุกคนได้เคยกระทำลงไป แม้ว่าพระองค์ทรงไม่ได้ทำมันแม้แต่น้อย พระเจ้าทรงสลับความชอบธรรมของพระคริสต์มาใส่ไว้ในบัญชีของเรา แล้วทรงนำความผิดบาปของเราสลับไปใส่ไว้ในบัญชีของพระคริสต์แทน (2 โครินธ์ 5:21)

ความบาปส่วนตัวคือความบาปที่มนุษย์ทำเองทุกวัน เนื่องจากเราได้รับธรรมชาติบาปเป็นมรดกตกทอดมาจากอาดัม เราจึงทำบาปซึ่งอาจจะเป็นอะไรก็ได้ตั้งแต่การโกหกเล็ก ๆ น้อย ๆ ไปจนถึงการฆาตกรรม ผู้ที่ไม่ได้วางความเชื่อของตนไว้ที่พระเยซูคริสต์จะต้องชดเชยความบาปเหล่านี้ที่ตัวเองได้ทำลงไปทั้งหมดรวมไปถึงความบาปที่ถูกนำมาใส่ให้ และความบาปที่เป็นมรดกตกทอดมาด้วย แต่ผู้เชื่อได้รับการปลดปล่อยให้เป็นอิสระจากการถูกลงโทษชั่วนิรันดร์ (นรกและความตายฝ่ายวิญญาณ) ไปแล้ว ดังนั้นในตอนนี้เราสามารถเลือกว่าจะทำความบาปส่วนตัวหรือไม่ เพราะเรามีอำนาจที่จะต่อต้านมันโดยทางพระวิญญาณบริสุทธิ์ผู้ทรงอยู่ในเรา ผู้ทรงชำระและตัดสินลงโทษเราเมื่อเราเกิดทำความบาปขึ้นมา (โรม 8:9-11) เมื่อเราสารภาพความบาปที่เราได้ทำลงไปเป็นการส่วนตัวต่อพระเจ้าและของให้พระองค์ทรงยกโทษให้ พระองค์ก็จะทรงนำเรากลับมาสู่สภาพดีและทรงให้เรามีความสัมพันธ์กับพระองค์ได้เหมือนเดิม “ถ้าเราสารภาพบาปของเรา พระองค์ทรงสัตย์ซื่อและเที่ยงธรรม ก็จะทรงโปรดยกบาปของเรา และจะทรงชำระเราให้พ้นจากการอธรรมทั้งสิ้น” (1 ยอห์น 1:9)

ความบาปที่ถูกส่งทอดมามาจากบรรพบุรุษ, ความบาปเพราะผิดพระราชบัญญัติ, ความบาปส่วนตัว, ทั้งหมดนี้ได้ถูกตรึงไว้แล้วบนการเขนของพระคริสต์ และ เดี๋ยวนี้ “ในพระเยซูนั้น เราได้รับการไถ่บาปโดยพระโลหิตของพระองค์ คือได้รับการอภัยโทษบาปของเรา โดยพระกรุณาอันอุดมของพระองค์” (เอเฟซัส 1:7)





คำจำกัดความของความบาปมีอะไรบ้าง?

ฉันจะรู้ได้อย่างไรว่าอะไรคือความบาป?




คำถาม: ฉันจะรู้ได้อย่างไรว่าอะไรคือความบาป?

คำตอบ:
มีประเด็นอยู่สองประเด็นที่เกี่ยวกับคำถามนี้ (1) มีบางอย่างที่พระคัมภีร์บอกชัดเจนว่าว่าเป็นความบาป รายชื่อความบาปเหล่านี้อยู่ในหนังสือ สุภาษิต 6:16-19; กาลาเทีย 5:19-21; 1 โครินธ์ 6:9-10 แน่นอนว่าข้อพระคัมภีร์เหล่านี้บอกถึงกิจกรรมที่เป็นความบาป, สิ่งที่พระเจ้าไม่ทรงพอพระทัย, เช่น การฆ่าคน, การผิดประเวณี, การโกหก, การลักทรัพย์ เป็นตัน – แน่นอนว่าพระคัมภีร์บอกว่าสิ่งเหล่านี้เป็นความบาป (2) ที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้นคือการตัดสินว่าอะไรคือความบาปในกรณีที่พระคัมภีร์ไม่ได้พูดไว้อย่างชัดเจน หากพระคัมภีร์ไม่ได้พูดไว้เราก็มีหลักโดยทั่วไปในพระวจนะของพระองค์ที่จะชี้นำเราได้

(ก) เมื่อพระคัมภีร์ไม่ได้พูดไว้อย่างชัดเจน การถาม, ไม่ใช่ถามว่าสิ่งนั้น ๆ ผิดหรือไม่ แต่ถามว่ามันดีแน่หรือ, ยกตัวอย่างเช่น พระคัมภีร์บอกไว้ว่า “จงฉวยโอกาส” (โคโลสี 4:5) เมื่อเปรียบเทียบกับเวลานิรันดร์ เรามีเวลาไม่นานบนโลกนี้และมันมีค่ามาก จนกระทั่งเราไม่ควรจะเสียมันไปโดยการทำสิ่งที่เห็นแก่ตัว แต่ควรจะใช้มันทำในสิ่งที่ “เป็นประโยชน์ให้เหมาะสมกับความต้องการเพื่อจะได้เป็นคุณแก่คนที่ได้ยินได้ฟัง” (เอเฟซัส 4:29) จะดีกว่า

(ข) การทดสอบที่ดีคือการทดสอบดูว่าเราจะสามารถขอให้พระเจ้าอวยพรและใช้สิ่งที่เราทำให้เป็นประโยชน์สำหรับพระองค์ได้ไหม “เหตุฉะนั้นเมื่อท่านจะรับประทาน จะดื่ม หรือจะทำอะไรก็ตาม จงกระทำเพื่อเป็นการถวายพระเกียรติแด่พระเจ้า” (1 โครินธ์ 10:31) หากเรายังสงสัยว่ามันจะทำให้พระเจ้าพอพระทัยไหม การไม่ทำน่าจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุด “เพราะการกระทำใดๆที่มิได้เกิดจากความเชื่อมั่นก็เป็นบาปทั้งสิ้น” (โรม 14:23)

(ค) เราจำเป็นที่จะต้องจำไว้ว่าร่างกายของเรา รวมทั้งจิตวิญญาณด้วย ได้รับการไถ่ไว้แล้วและเป็นของพระเจ้า “ท่านไม่รู้หรือว่า ร่างกายของท่านเป็นวิหารของพระวิญญาณบริสุทธิ์ ซึ่งสถิตอยู่ในท่าน ซึ่งท่านได้รับจากพระเจ้า ท่านไม่ใช่เจ้าของตัวท่านเอง พระเจ้าได้ทรงซื้อท่านไว้แล้วด้วยราคาสูง เหตุฉะนั้นท่านจงถวายพระเกียรติแด่พระเจ้าด้วยร่างกายของท่านเถิด” (1 โครินธ์ 6:19- 20) ความจริงที่ยิ่งใหญ่นี้ควรจะช่วยให้เรารู้อย่างชัดเจนว่าเราควรจะทำและใช้ร่ายกายของเราอย่างไร

(ง) เราต้องประเมินผลของการกระทำของเรา ไม่เพียงแต่ที่เกี่ยวข้องกับพระเจ้าเท่านั้นแต่กับครอบครัวของเรา, เพื่อน และคนอื่น ๆ โดยทั่วไปด้วย แม้ว่าสิ่งที่เราทำนั้นจะไม่ทำร้ายเราแต่หากมันไปทำร้ายคนอื่น สิ่งที่เราทำนั้นก็ผิด “เป็นการดีที่จะไม่กินเนื้อสัตว์หรือเหล้าองุ่นหรือทำสิ่งใดๆที่จะเป็นเหตุให้พี่น้องสะดุด ... พวกเราซึ่งมีความเชื่อเข้มแข็งควรจะอดทนต่อความเชื่อของคนที่เคร่งในข้อหยุมๆหยิมๆ และไม่ควรกระทำสิ่งใดตามความพอใจของตัวเอง” (โรม 14:21; 15:1)

(จ) ท้ายที่สุด จงจำไว้ว่าพระเยซูคริสต์คือพระเจ้าและพระผู้ช่วยให้รอดของเรา และไม่มีอะไรที่จะเข้ามาแทนที่การทำตามน้ำพระทัยของพระองค์ได้ ไม่มีนิสัยหรือการพักผ่อนหย่อนใจ หรือความทะเยทะยานใดที่เราจะยอมให้มันเข้ามาควบคุมชีวิตเราได้ – พระคริสต์แต่เพียงพระองค์เดียวเท่านั้นคือผู้ที่ทรงมีสิทธิอำนาจในการทำเช่นนั้น “ข้าพเจ้าทำสิ่งสารพัดได้ แต่ไม่ใช่ทุกสิ่งที่จะทำได้นั้นเป็นประโยชน์ ข้าพเจ้าทำสิ่งสารพัดได้ แต่ข้าพเจ้าไม่ยอมอยู่ใต้อำนาจของสิ่งใดเลย” (1 โครินธ์ 6:12) “และเมื่อท่านจะกระทำสิ่งใดด้วยวาจาหรือด้วยกายก็ตาม จงกระทำทุกสิ่งในพระนามของพระเยซูเจ้าและขอบพระคุณพระบิดาเจ้าโดยพระองค์นั้น” (โคโลสี 3:17)





ฉันจะรู้ได้อย่างไรว่าอะไรคือความบาป?

ฉันจะเอาชนะความบาปในชีวิตคริสเตียนของฉันได้อย่างไร?




คำถาม: ฉันจะเอาชนะความบาปในชีวิตคริสเตียนของฉันได้อย่างไร?

คำตอบ:
พระคัมภีร์พูดถึงเครื่องมือดังต่อไปนี้ ที่เราจะใช้เพื่อเอาชนะความบาปของเราได้ดังต่อไปนี้:

(1) พระวิญญาณบริสุทธิ์ – ของขวัญอย่างหนึ่งที่พระเจ้าทรงประทานให้เรา (คริสตจักรของพระองค์) เพื่อให้มีชัยชนะในการใช้ชีวิตคริสเตียนคือพระวิญญาณบริสุทธิ์ พระเจ้าทรงเปรียบเทียบผลทางฝ่ายเนื้อหนังกับผลของพระวิญญาณบริสุทธิ์ไว้ใน BB. กาลาเทีย 5:16-25 ซึ่งในบทนั้น เราได้ถูกเรียกให้ดำเนินชีวิตตามพระวิญญาณ ผู้เชื่อทุกคนมีพระวิญญาณบริสุทธิ์อยู่ด้วยแล้ว แต่ในบทนี้ได้บอกว่า เราจำเป็นต้องดำเนินตามพระวิญญาณ ให้พระองค์ครอบครองชีวิตเรา นี่หมายความว่าให้เราเลือกที่จะ “สวมรองเท้าหนัง” ให้การทำงานของพระวิญญาณบริสุทธิ์ในชีวิตของเรามากกว่าที่จะเลือกตามฝ่ายเนื้อหนัง

ความแตกต่างที่พระวิญญาณบริสุทธิ์สามารถกระทำในชีวิตของผู้เชื่อได้ก็คือ การสำแดงให้เห็นถึงชีวิตของ เปโตร ซึ่งก่อนที่ชีวิตเปโตรจะมีพระวิญญาณบริสุทธิ์ เขาปฏิเสธพระเยซูถึงสามครั้ง หลังจากที่เขาบอกว่าเขาจะติดตามองค์พระคริสต์จนสิ้นชีวิต แต่หลังจากที่ชีวิตเขาได้รับพระวิญญาณแล้ว เขาได้พูดต่อสาธารณชนชาติยิวอย่างเปิดเผย และอย่างเข้มแข็งถึงการฟื้นคืนพระชนม์ของพระผู้ช่วยให้รอด

คนที่ดำเนินตามพระวิญญาณ และพยายามที่จะไม่ “ปิด” การทรงนำของพระวิญญาณ (“ดับพระวิญญาณ”) ตามที่เขียนไว้ใน (1 เธสะโลนิกา 5:19) และแสวงหาการทรงสถิตอยู่ของพระวิญญาณบริสุทธิ์ ( เอเฟซัส 5:18-21) คนคนหนึ่งจะมีพระวิญญาณบริสุทธิ์ได้อย่างไร? อันดับแรกคือ เป็นการทรงเลือกของพระเจ้า แม้กระทั่งในพันธสัญญาเดิม พระองค์ทรงเลือกเฉพาะคน และเฉพาะเหตุการณ์ในพันธสัญญาเดิมเพื่อกระทำให้คนที่พระองค์ทรงเลือกนั้นทำกิจการของพระองค์ได้สำเร็จ ( ปฐมกาล 41:38; อพยพ 31:3; เลวีนิติ 24:2; 1 ซามูเอล 10:10; ฯลฯ) ข้าพเจ้าเชื่อว่ามีเหตุการณ์ที่กล่าวถึงใน เอเฟซัส 5:18-21 และโคโลสี 3:16 ว่าพระเจ้าทรงเจิมพระวิญญาณให้กับคนที่เติมชีวิตของเขาด้วยพระคำของพระเจ้า ซึ่งมีหลักฐานจากข้อเท็จจริงที่ว่าผลของการเจิมพระวิญญาณที่ได้กล่าวถึงในข้อพระคัมภีร์ต่าง ๆ นั้นเหมือนกัน ดังนั้น สิ่งนี้จึงได้นำเรามาสู่แหล่งต่อไปที่จะเอาชนะความบาปได้

(2) พระวจนะคำของพระเจ้า - 2 ทิโมธี 3:16-17 กล่าวว่า พระเจ้าได้ทรงประทานพระวจนะคำของพระองค์เพื่อให้เรามีทิศทางในการทำการดี พระวจนะคำของพระองค์นั้นสอนให้เราทราบว่าจะใช้ชีวิตอย่างไร ให้เชื่อในสิ่งใด และยังสำแดงให้เราทราบว่าเมื่อเราเดินหลงทาง นอกจากนี้พระวจนะคำของพระองค์ยังช่วยให้เรากลับมาเดินในทางที่ถูกต้อง และให้เราดำเนินอยู่ในเส้นทางนั้นต่อไป เช่นที่กล่าวไว้ในพระธรรม ฮีบรู 4:12 กล่าวว่า พระวจนะของพระเจ้านั้นไม่ตายและทรงพลานุภาพอยู่เสมอ คมยิ่งกว่าดาบสองคมใดๆ แทงทะลุกระทั่งจิตและวิญญาณ ตลอดข้อกระดูกและไขในกระดูก และสามารถวินิจฉัยความคิดและความมุ่งหมายในใจด้วย ในพระธรรมสดุดีได้พูดถึงพลังแห่งการเปลี่ยนแปลงชีวิตของพระวจนะคำของพระเจ้าไว้ใน สดุดี 119:9 ข้อ 11 ข้อ 105 และข้ออื่น ๆ โยชูวาได้รับการแจ้งว่า กุญแจสำคัญของความสำเร็จในการมีชัยชนะเหนือศัตรู (เปรียบกับการต่อสู้ฝ่ายจิตวิญญาณ) คือ ไม่ลืมพระวจนะคำของพระองค์ แต่ให้ใช้พระวจนะคำทุกวันทุกคืน เพื่อที่เขาจะได้พบและสังเกตุเห็นได้เมื่อเขาทำดังนั้น แม้กระทั่งเมื่อทำในสิ่งที่พระเจ้าทรงสั่งเขา ซึ่งเป็นสิ่งที่ดูไม่สมเหตุสมผลในทางการรบ แต่นี่คือกุญแจแห่งชัยชนะในการรบของเขาเพื่อให้ได้มาซึ่งดินแดนแห่งพันธสัญญา

พระวจนะคำของพระเจ้า เป็นสิ่งที่เราควรให้ความสำคัญไม่ใช่เพียงเล็กน้อย เราอาจนำพระคัมภีร์ไปโบสถ์เพื่อใช้ในพิธีนมัสการ เราอ่านบทเรียนจากพระคัมภีร์ประจำวัน หรืออ่านพระคัมภีร์วันละบท แต่เราไม่ได้จดจำไว้ ไม่ได้นำมาใช้ในชีวิตประจำวัน หรือไม่ได้สารภาพบาปที่พระวจนะคำของพระองค์แสดงให้เราเห็น หรือไม่ได้สรรเสริญพระเจ้าสำหรับพระพรที่พระวจนะคำของพระองค์สำแดงให้เราเห็นว่าพระองค์ทรงประทานให้เราอย่างไร เมื่อเราพูดถึงพระคัมภีร์ หากเปรียบเป็นอาหาร เราไม่ควรละเลย หรือทานเพียงเล็กน้อย เราควรรับพระวจนะคำของพระองค์ให้มากเพียงพอที่จะทำให้เรามีชีวิตอยู่ในฝ่ายจิตวิญญาณ โดยเฉพาะการรับพระวจนะคำเวลาเราไปโบสถ์ (ควรรับเข้าไปให้มากพอที่จะทำให้ร่างกายแข็งแรง เพื่อเป็นคริสเตียนที่เติบโตขึ้น) หรือหาโอกาศให้เราได้รับอาหารฝ่ายจิตวิญญาณบ่อยๆ และใคร่ครวญคิดอย่างลึกซึ้งเพื่อให้ฝ่ายจิตวิญญาณได้ย่อยอาหารจากพระวจนะคำมากขึ้น

เป็นเรื่องสำคัญหากคุณยังไม่เริ่มสร้างวินัยในการศึกษาความหมายของพระวจนะคำของพระเจ้า ให้เป็นชีวิตประจำวันของเราทุกวัน และเพื่อจะจดจำพระวจนะคำนั้นไว้เวลาที่คุณพบข้อความใดก็ตามที่พระวิญญาณบริสุทธิ์ดลใจให้เข้าถึงจิตใจคุณ ให้ทำอย่างนี้จนเป็นนิสัย เราขอแนะนำให้คุณเริ่มเขียนบันทึกประจำวัน (อาจจะพิมพ์ลงคอมพิวเตอร์ถ้าคุณพิมพ์ได้เร็วกว่าเขียน) หรือเขียนลงในสมุดบันทึก ฯลฯ ให้ฝึกเป็นนิสัยคุณจะได้ไม่ละเลยพระวจนะคำนั้นจนกว่าคุณจะได้บันทึกสิ่งที่คุณได้จากพระวจนะคำนั้น ๆ ข้าพเจ้ามักจะบันทึกคำอธิษฐานที่ขอให้พระองค์ทรงช่วยเปลี่ยนแปลงในสิ่งที่พระองค์ได้ตรัสกับข้าพเจ้า พระคัมภีร์จึงเปรียบเสมือนเป็นเครื่องมือที่พระวิญญาณบริสุทธิ์ใช้นำในชีวิตของพวกเราและชีวิตของผู้อื่น ( เอเฟซัส 6:17) และเป็นเครื่องมือที่จำเป็นและส่วนประกอบสำคัญของอาวุธที่พระเจ้าทรงประทานให้เราเพื่อต่อสู้ในฝ่ายจิตวิญญาณ ( เอเฟซัส 6:12-18)!

(3) การอธิษฐาน – นี่เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่พระเจ้าทรงประทานให้ เป็นอีกอย่างที่คริสเตียนมักจะเพียงแค่พูดออกไป แต่ไม่ได้ใช้อย่างเหมาะสม เรามีประชุมการอธิษฐานและเวลาอธิษฐาน ฯลฯ แต่เราแสวงหาประโยชน์จากสิ่งนี้เหมือนอย่างที่คริสตจักรในสมัยแรกได้เริ่มต้น ตัวอย่าง ( กิจการ 3:1; 4:31; 6:4; 13:1-3, ฯลฯ) อัครสาวกเปาโลได้กล่าวย้ำอยู่เสมอว่า ท่านได้อธิษฐานเผื่อผู้คนที่ท่านต้องดูแลอย่างไร แต่เรากลับไม่ได้ใช้สิ่งที่เรามีนี้ พระเจ้าได้ให้คำสัญญาอันแสนวิเศษเกี่ยวกับการอธิษฐาน และอีกครั้งที่เปาโลได้กล่าวเรื่องการอธิษฐานในข้อความของท่านเรื่องการเตรียมการสู้รบฝ่ายจิตวิญญาณ ( เอเฟซัส 6:18)!

การอธิษฐานมีความสำคัญมากเพียงใด? เมื่อคุณมองดูชีวิตของเปโตรอีกครั้ง คุณจะได้พบกับพระวจนะคำของพระเจ้าที่ตรัสกับเปโตรในสวนเก็ธเซมาเนก่อนเปโตรจะปฏิเสธพระเยซู ซึ่งณ.ที่นั่น ในขณะที่พระเยซูกำลังอธิษฐานอยู่ เปโตรก็กำลังนอนหลับ พระเยซูทรงปลุกเขาให้ตื่นขึ้นและตรัสว่า “ท่านทั้งหลายจงเฝ้าระวังและอธิษฐาน เพื่อท่านจะไม่ต้องถูกทดลอง จิตวิญญาณพร้อมแล้วก็จริง แต่กายยังอ่อนกำลัง" ( มัทธิว 26:41) คุณก็เช่นกัน เหมือนเช่นเปโตร ต้องการทำสิ่งที่ถูกต้อง แต่ไม่เสาะหาความเข้มแข็ง เราต้องทำตามคำตักเตือนของพระเจ้าในการแสวงหา จดจ่อ และขอ.... อย่าหยุด แล้วพระองค์จะทรงประทานกำลังความเข้มแข็งตามที่เราต้องการ ( มัทธิว 7:7) แต่เราจำเป็นต้องให้มากกว่าการที่พูดออกไป

ข้าพเจ้าไม่ได้พูดว่า การอธิษฐานเป็นเวทย์มนต์ ไม่ใช่เลย พระเจ้าทรงยิ่งใหญ่นัก การอธิษฐานเป็นเพียงการยอมรับข้อจำกัดของเราและยอมรับฤทธิ์อำนาจอันยิ่งใหญ่ของพระเจ้า และให้เราหันมาหาพระองค์เพื่อขอความเข้มแข็งให้เราทำในสิ่งที่พระองค์ประสงค์ให้เราทำ (ไม่ใช่สิ่งที่ เรา ต้องการทำเอง) (1 ยอห์น 5:14-15)

(4) คริสตจักร – สำหรับเรื่องสุดท้ายนี้ก็เป็นอีกหนึ่งอย่างที่มีแนวโน้มว่าเราจะละเลยอยู่เสมอ เมื่อพระเยซูทรงสั่งให้เหล่าสาวกออกประกาศ พระองค์ทรงส่งพวกเขาออกไปเป็นคู่ (มัทธิว 10:1) เมื่อเราอ่านเรื่องการเดินทางประกาศในพระคัมภีร์กิจการ พวกเขาไม่ได้ออกไปทีละคน แต่ออกไปเป็นกลุ่มสองคน หรือมากกว่านั้น พระเยซูตรัสว่า หากมีคนสองหรือสามคนรวมตัวกันในนามของพระองค์ พระองค์จะทรงสถิตอยู่ท่ามกลางพวกเขา ( มัทธิว 18:20) พระองค์ทรงสั่งให้เราอย่าขาดการประชุมเหมือนอย่างบางคนที่ขาดอยู่ แต่ให้ใช้เวลานั้นปลุกใจซึ่งกันและกันให้มีความรักและทำความดี ( ฮีบรู 10:24-25) พระองค์ทรงบอกให้เราสารภาพผิดต่อกันและกัน ( ยากอบ 5:16) ในข้อเขียนอันเปี่ยมด้วยปัญญาในพระคัมภีร์เดิม บอกว่า ให้เราเป็นเหมือนเหล็กลับเหล็กได้ คนหนึ่งก็ลับเพื่อนของตนได้ ( สุภาษิต 27:17) “เชือกสามเกลียวจะขาดง่ายก็หามิได้” ยิ่งจำนวนมากยิ่งเข้มแข็งขึ้น ( ปัญญาจารย์ 4:11-12)

มีบางคนที่ข้าพเจ้ารู้จักได้พบพี่น้องในพระคริสต์ ซึ่งรวมตัวกันทางโทรศัพท์ หรือพบปะกันส่วนตัว หรือแบ่งปันถึงสิ่งที่พวกเขากระทำกันในการดำเนินชีวิตคริสเตียนว่า พวกเขาได้ดิ้นรนต่อสู้มาอย่างไร ฯลฯ และให้คำมั่นที่จะอธิษฐานเผื่อซึ่งกันและกัน และพยุงกันและกันในการมีสายสัมพันธ์ที่ดำเนินตามพระคำของพระเจ้า ฯลฯ

บางครั้ง การเปลี่ยนแปลงก็เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว บางครั้งก็มีการเปลี่ยนแปลงในบางเรื่องอย่างช้า ๆ และพระเจ้าได้ทรงสัญญากับเราไว้ว่า เมื่อเราใช้ทุกเรื่องที่พระองค์ทรงประทานให้ พระองค์จะทรงนำการเปลี่ยนแปลงมาสู่ขีวิตเรา หากเราแสวงหา เราก็จะรู้ว่าพระองค์ทรงสัตย์ซื่อกับพระสัญญาของพระองค์เสมอ!





ฉันจะเอาชนะความบาปในชีวิตคริสเตียนของฉันได้อย่างไร?

สำหรับพระเจ้าความบาปทุกอย่างเท่ากันหมดไหม?




คำถาม: สำหรับพระเจ้าความบาปทุกอย่างเท่ากันหมดไหม?

คำตอบ:
ในหนังสือมัทธิว 5:21-28 พระเยซูทรงเปรียบเทียบว่าการล่วงประเวณีมีความผิดเท่า ๆ กับการมีตัณหาในใจของท่าน และการฆ่าคนมีความผิดเท่ากับการมีความเกลียดชังในใจของท่าน แต่นี่ไม่ได้หมายความว่าความบาปทุกอย่างจะเป็นความผิดเท่ากันหมด สิ่งที่พระเยซูทรงกำลังอธิบายให้พวกฟาริสีเข้าใจคือแม้ว่าท่านเพียงแค่คิดหรืออยากจะทำก็เป็นความผิดบาปแล้ว ผู้นำทางด้านศาสนาในสมัยพระเยซูสอนผู้คนว่าหากท่านเพียงแต่คิดว่าอยากจะทำอะไร ตราบเท่าที่ท่านไม่ได้ทำมันลงไป ท่านก็ไม่ผิด แต่พระเยซูทรงพยายามให้พวกเขาตระหนักว่าพระเจ้าทรงพิพากษาผู้คนทั้งในด้านความคิดและการกระทำของเขา พระเยซูทรงประกาศว่าการกระทำของเรามาจากผลของสิ่งที่อยู่ในใจของเรา (มัทธิว 12:34)

ดังนั้นแม้ว่าพระเยซูจะตรัสว่าตัณหาและการล่วงประเวณีเป็นความบาปทั้งคู่ มันไม่ได้หมายความว่ามันจะเป็นความผิดที่เท่ากัน การฆ่าคนแย่กว่าการเกลียดคนมากนัก แม้ว่าการกระทำทั้งสองอย่างจะเป็นความผิดบาปในสายพระเนตรของพระเจ้าก็ตาม ความผิดบาปมีทั้งผิดมากและผิดน้อย ความผิดบาปอย่างหนึ่งอาจเลวร้ายกว่าความผิดบาปอีกอย่างหนึ่ง แต่เมื่อพูดเกี่ยวกับผลที่ติดตามมาชั่วนิรันดร์และความรอด ความบาปทุกอย่างเท่าเทียมกันหมด ความบาปทุกอย่างและแต่ละชนิดจะนำไปถึงการพิพากษานิรันดร์ (โรม 6:23) ความบาปทุกอย่างไม่ว่าจะ “เล็กน้อย,” แค่ไหน เป็นความบาปต่อพระเจ้าผู้ทรงไร้จุดจบและทรงเป็นนิรันดร์ ดังนั้นมันจึงสมควรที่จะได้รับการลงโทษอย่างไร้จุดจบและเป็นนิรันดร์เช่นเดียวกัน นอกจากนั้น ไม่มีความบาปอะไรที่ “ใหญ่” เกินกว่าพระเจ้าจะทรงยกโทษให้ไม่ได้ พระเยซูทรงสิ้นพระชนม์เพื่อชดเชยความบาปให้กับเรา (1 ยอห์น 2:2) พระเยซูทรงสิ้นพระชนม์เพื่อความบาปของเราทุกคน (2 โครินธ์ 5:21) ความบาปทุกอย่างเท่ากันสำหรับพระเจ้าไหม? ไม่เท่า สำหรับความรุนแรง? เท่ากัน สำหรับการลงโทษ? ไม่เท่ากัน ในความเป็นไปได้ที่พระเจ้าจะทรงยกโทษให้? เท่ากัน





สำหรับพระเจ้าความบาปทุกอย่างเท่ากันหมดไหม?

พระคัมภีร์พูดว่าอย่างไรเกี่ยวกับสื่อลามก? การดูสื่อลามกผิดไหม?




คำถาม: พระคัมภีร์พูดว่าอย่างไรเกี่ยวกับสื่อลามก? การดูสื่อลามกผิดไหม?

คำตอบ:
คำที่มีคนค้นหาเพื่อเข้าไปดูในอินเทอร์เนตมากที่สุดคือคำที่เกี่ยวกับสื่อลามก ในปัจจุบันสื่อลามกเป็นสิ่งที่แพร่หลายมาก ซาตานประสบผลสำเร็จ บางทีอาจจะมากกว่าสิ่งอื่น ๆ ทั้งหมด ในการบิดเบือนเพศสัมพันธ์ให้เป็นไปในทางที่ผิด มันเอาสิ่งที่ดีและถูกต้อง (เพศสัมพันธ์ที่เกิดจากความรักระหว่างสามีและภรรยา) ออกไปแล้วใส่ตัณหา, สื่อลามก, การผิดประเวณี, การข่มขืน, และเพศสัมพันธ์ระหว่างเพศเดียวกัน เข้าไปแทน สื่อลามกเป็นก้าวแรกบนถนนแห่งความชั่วร้ายและเสื่อมศีลธรรม ที่ลื่นและลาดต่ำลงไปเรื่อย ๆ (โรม6:19) เหมือนกับที่ผู้ที่ติดยาถูกดึงให้เสพยาที่แรงขึ้นไปเรื่อย ๆ สื่อลามกก็ดึงผู้เสพให้ติดเรื่องเพศที่ผิดปกติและไม่ใช่น้ำพระทัยของพระเจ้ามากขึ้นเรื่อย ๆ เช่นกัน

ความบาปใหญ่ ๆ สามประการคือ ตัณหาของเนื้อหนัง, ตัณหาของตา, และความหยิ่งในชีวิต (1 ยอห์น 2:16) สื่อลามากทำให้เราเกิดตัณหาของเนื้อหนังแน่นอน, และเราปฏิเสธไม่ได้ว่ามันก่อให้เกิดตัณหาของตาด้วย สื่อลามกไม่ใช่สิ่งที่เราควรคิดถึงแน่นอน “ดูก่อนพี่น้องทั้งหลาย ในที่สุดนี้ ขอจงใคร่ครวญถึงสิ่งที่จริง สิ่งที่น่านับถือ สิ่งที่ยุติธรรม สิ่งที่บริสุทธิ์ สิ่งที่น่ารัก สิ่งที่ทรงคุณ คือถ้ามีสิ่งใดที่ล้ำเลิศ สิ่งใดที่ควรแก่การสรรเสริญ ก็ขอจงใคร่ครวญดู”(ฟีลิปปี 4:8) สื่อลามกเป็นสิ่งเสพติด (1 โครินธ์ 6:12; 2 เปโตร 2:19), ทำลาย ( สุภาษิต 6:25-28; เอเสเคียล 20:30; เอเฟซัส4:19) และนำไปสู่ความชั่วร้ายที่แย่ลงเรื่อย ๆ (โรม 6:19) การดูผู้อื่นแล้วเกิดตัณหาในใจ (จุดสำคัญของสื่อลามก) คือการทำให้พระเจ้าขุ่นเคืองพระทัย (มัทธิว 5:28) เมื่อคน ๆ หนึ่งติดสื่อลามกอย่างถอนตัวไม่ขึ้น มันแสดงว่าคน ๆ นั้นไม่ได้รับความรอด (1 โครินธ์ 6:9)

หากมีอะไรสักอย่างในชีวิตที่ข้าพเจ้าสามารถเปลี่ยนได้ก่อนที่จะมาเป็นคริสเตียน สิ่งนั้นก็คือการเกี่ยวข้องกับสื่อลามก ขอบคุณพระเจ้า – พระองค์ทรงสามารถและจะให้ชัยชนะแก่เรา ท่านกำลังเกี่ยวข้องกับสื่อลามกแล้วอยากจะเป็นอิสระจากมันหรือไม่? นี่คือขั้นตอนสู่ชัยชนะ: (1) สารภาพบาปของท่านกับพระเจ้า (1 ยอห์น 1:9) (2) อธิษฐานให้พระเจ้าทรงชำระ, เปลี่ยนแปลง และเปลี่ยนจิตใจของท่านเสียใหม่ (โรม 12:2) (3) ขอให้พระเจ้าเติมใจของท่านให้เต็มด้วยข้อพระคัมภีร์ฟีลิปปี 4:8 (4) เรียนรู้ที่จะรักษาร่างกายของท่านให้อยู่ในความบริสุทธิ์ (1 เธสะโลนิกา 4:3-4) (5) ทำความเข้าใจเรื่องการมีเพศสัมพันธ์ที่ถูกต้อง และจงพอใจกับการมีเพศสัมพันธ์กับคู่สมรสของท่านเท่านั้น (1 โครินธ์ 7:1-5) (6) จงระลึกเสมอว่าหากท่านเดินในพระวิญญาณ ท่านก็จะไม่เกิดตัณหาของเนื้อหนัง (กาลาเทีย 5:16) (7) ลดโอกาสที่ท่านจะได้ดูได้เห็นภาพจากสื่อลามก (เช่น ติดตั้งตัวกั้นภาพจากสื่อลามกในคอมพิวเตอร์ของท่าน, อย่าดูทีวีหรือวีดีโอโป๊, หาเพื่อนคริสเตียนให้อธิษฐานเผื่อและช่วยเหนี่ยวรั้งท่าน - อาจเป็นคู่สมรสหากท่านแต่งงานแล้ว)





พระคัมภีร์พูดว่าอย่างไรเกี่ยวกับสื่อลามก? การดูสื่อลามกผิดไหม?

พระคัมภีร์พูดว่าอย่างไรเกี่ยวกับการดื่มแอลกอฮอล์/ไวน์ (เหล้าองุ่น)? จะบาปไหมถ้าคริสเตียนดื่มแอลกอฮอล์/ไวน์ (เหล้าองุ่น)?




คำถาม: พระคัมภีร์พูดว่าอย่างไรเกี่ยวกับการดื่มแอลกอฮอล์/ไวน์ (เหล้าองุ่น)? จะบาปไหมถ้าคริสเตียนดื่มแอลกอฮอล์/ไวน์ (เหล้าองุ่น)?

คำตอบ:
มีข้อพระคัมภีร์หลายข้อที่หนุนใจให้ผู้คนอยู่ห่างจากแอลกอฮอล์ (เลวีนิติ 10:9, กันดารวิถี 6:3; เฉลยธรรมบัญญัติ 14:26; 29:6; ผู้วินิจฉัย 13:4,7,14; 1 ซามูเอล 1:15; สุภาษิต 20:1; 31:4,6; อิสยาห์ 5:11,22; 24:9; 28:7; 29:9; 56:12; มีคาห์ 2:11; ลูกา 1:15) แต่อย่างไรก็ตามพระคัมภีร์ไม่ได้ห้ามคริสเตียนไม่ให้ดื่มเบียร์, ไวน์ หรือเครื่องดื่มที่ผสมแอลกอฮอล์เสียเลย แต่คริสเตียนถูกสั่งให้หลีกเลี่ยงการดื่มจนเมามาย (เอเฟซัส 5:18) พระคัมภีร์ตำหนิความเมาและผลของมัน (สุภาษิต 23:29-35) คริสเตียนถูกสั่งด้วยว่าเขาจะต้องไม่ยอมให้ร่างกายตกอยู่ภายใต้ “การควบคุม” ของสิ่งใด (1 โครินธ์ 6:12; 2 เปโตร 2:19) นอกจากนั้นข้อพระคัมภีร์ยังห้ามอีกว่าไม่ให้คริสเตียนทำอะไรที่อาจทำให้พี่น้องขุ่นเคืองใจ, หรือส่งเสริมให้เขาทำบาปต่อจิตสำนึกผิดชอบของเขา (1 โครินธ์ 8:9-13) จากหลักการที่กล่าวมานี้ คงเป็นเรื่องยากมากที่คริสเตียนจะพูดว่าเขาดื่มแอลกอฮอล์เพื่อถวายเกียรติพระเจ้า (1 โครินธ์ 10:31)

พระเยซูทรงเปลี่ยนน้ำให้เป็นเหล้าองุ่น ดังนั้นจึงดูเหมือนว่าพระเยซูทรงดื่มเหล้าองุ่นในบางโอกาส (ยอห์น 2:1-11; มัทธิว 26:29) น้ำในสมัยพันธสัญญาใหม่ไม่ค่อยสะอาดนัก หากไม่มีการใช้หลักสุขอนามัยที่ดี น้ำจะเต็มไปด้วยแบคทีเรีย, เชื้อไวรัส และสิ่งปนเปื้อนมากมายหลายชนิด ซึ่งเหมือนกับในโลกที่สามในปัจจุบัน ดังนั้นผู้คนจึงดื่มเหล้าองุ่น (หรือน้ำองุ่น) เป็นประจำเพราะมีสิ่งปนเปื้อนน้อยกว่ามาก ในหนังสือ 1 ทิโมธี 5:23 ท่านอาจารย์เปาโลสั่งห้ามทิโมธีให้หยุดดื่มน้ำ (ซึ่งคงเป็นสาเหตุของปัญหาเกี่ยวกับท้องไส้ของท่าน) แต่ให้ดื่มเหล้าองุ่นแทน รากศัพท์ภาษากรีกของคำว่าเหล้าองุ่นในพระคัมภีร์ คือ ศัพท์ที่ใช้กันทั่วไปในปัจจุบันสำหรับคำว่าเหล้าองุ่น ในยุคนั้นเหล้าองุ่นถูกหมักไว้ แต่ความแรงของมันไม่เท่ากับในปัจจุบัน หากจะพูดว่ามันเป็นน้ำองุ่นก็ไม่ค่อยถูกต้องนัก แต่จะพูดว่ามันเป็นเหมือนเหล้าองุ่นในปัจจุบันก็ไม่ถูกต้องอีกเหมือนกัน ขอย้ำอีกครั้งหนึ่งว่าพระคัมภีร์ไม่ได้ห้ามคริสเตียนไม่ให้ดื่มเบียร์, เหล้าองุ่น, หรือเครื่องดื่มที่ผสมแอลกอฺฮอล์ แอลกอฮอล์โดยตัวของมันเองไม่ได้เป็นความบาป แต่การเมามายและติดแอลกอฮอล์ต่างหากที่คริสเตียนต้องหลีกเลี่ยงโดยสิ้นเชิง (เอเฟซัส 5:18; 1 โครินธ์ 6:12) อย่างไรก็ตามหลักการในพระคัมภีร์ทำให้การโต้เถียงว่าการที่คริสเตียนดื่มแอลกอฮอล์ไม่ว่าจะมากน้อยแค่ไหนเป็นที่พอพระทัยของพระเจ้านั้น เป็นเรื่องยาก





พระคัมภีร์พูดว่าอย่างไรเกี่ยวกับการดื่มแอลกอฮอล์/ไวน์ (เหล้าองุ่น)? จะบาปไหมถ้าคริสเตียนดื่มแอลกอฮอล์/ไวน์ (เหล้าองุ่น)?

คริสเตียนมีมุมมองเกี่ยวกับการสูบบุหรี่อย่างไรบ้าง? การสูบบุหรี่เป็นความบาปด้วยหรือ?




คำถาม: คริสเตียนมีมุมมองเกี่ยวกับการสูบบุหรี่อย่างไรบ้าง? การสูบบุหรี่เป็นความบาปด้วยหรือ?

คำตอบ:
พระคัมภีร์ไม่เคยพูดไว้โดยตรงเกี่ยวกับการสูบบุหรี่ แต่มีหลักอยู่สองประการที่เกี่ยวกับการสูบบุหรี่แน่นอน ประการแรกคือพระคัมภีร์สอนว่าอย่าให้เรายอมให้อะไรเป็น "นาย" เหนือร่างกายของเรา ข้อพระคัมภีร์ 1 โครินธ์ 6:12 บอกว่า "ข้าพเจ้าทำสิ่งสารพัดได้" - แต่ไม่ใช่ทุกสิ่งที่จะทำได้นั้นเป็นประโยชน์ "ข้าพเจ้าทำสิ่งสารพัดได้" - แต่ข้าพเจ้าไม่ยอมอยู่ใต้อำนาจของสิ่งใดเลย การสูบบุหรี่เป็นเรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเป็นเสพสิ่งเสพติด ต่อมาในบริบทเดียวกันข้อพระคัมภีร์บอกว่า "ท่านไม่รู้หรือว่า ร่างกายของท่านเป็นวิหารของพระวิญญาณบริสุทธิ์ ซึ่งสถิตอยู่ในท่าน ซึ่งท่านได้รับจากพระเจ้า ท่านไม่ใช่เจ้าของตัวท่านเอง พระเจ้าได้ทรงซื้อท่านไว้แล้วด้วยราคาสูง เหตุฉะนั้นท่านจงถวายพระเกียรติแด่พระเจ้าด้วยร่างกายของท่านเถิด" (1 โครินธ์ 6:19-20) การสูบบุหรี่เป็นเรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าไม่ดีต่อสุขภาพของท่าน การสูบบุหรี่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าเป็นการทำลายปอดของและอาจจะเป็นการทำลายหัวใจด้วย

การสูบบุหรี่ถือว่า "เป็นประโยชน์" ต่อร่างกายได้ไหม? (1 โครินธ์ 6:12)? การสูบบุหรี่สามารถพูดได้ว่าเป็นการ"ถวายพระเกียรติ" แด่พระเจ้าด้วยร่างกายของท่านได้ไหม? (1 โครินธ์ 6:20) คน ๆ หนึ่งสามารถสูบบุหรี่แล้วบอกอย่างจริงใจว่าเป็นการ "ถวายพระเกียรติแด่พระเจ้า" ได้ไหม? (1 โครินธ์ 10:31) เราเชื่อว่าคำตอบสำหรับคำถามสามคำถามนี้มีเสียงดังฟังชัดว่า "ไม่ได้" เราเชื่อว่าการสูบบุหรี่เป็นความบาป และ ดังนั้นผู้เชื่อในพระเยซูคริสต์จึงไม่ควรสูบ

บางคนแย้งว่าแต่มีคนหลายคนรับประทานอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพซึ่งสามารถถือว่าเป็นสิ่งเสพติดได้ ยกตัวอย่างเช่น มีคนหลายคนติดคาเฟอีนอย่างแรงจนไม่สามารถทำอะไรได้หากไม่ได้ดื่มกาแฟแก้วแรกเสียก่อนในตอนเช้า ถึงแม้ว่านี่จะเป็นเรื่องจริงแต่มันทำให้การสูบบุหรี่เป็นเรื่องถูกต้องตรงไหน? เราเชื่อว่าคริสเตียนไม่ควรรับประทานอย่างตะกระตะกรามและรับประทานอาหารที่ไม่ถูกสุขภาพจนมากเกินไป ใช่แล้ว บ่อยครั้งที่คริสเตียนทำตัวเป็นคนปากอย่างใจอย่างด้วยการกล่าวโทษความบาปอย่างหนึ่งแต่อนุญาตความบาปอีกอย่างหนึ่ง ... แต่มันทำให้การสูบบุหรี่ถวายเกียรติแด่พระเจ้าได้อย่างไร?

ข้อโต้แย้งอีกข้อหนึ่งต่อการสูบบุหรี่คือความจริงที่ว่ามีคนของพระเจ้าหลายคนสูบบุหรี่ ยกตัวอย่างเช่น นักเทศน์ขื่อดังของอังกฤษชื่อ C.H. Spurgeon แต่เราไม่คิดว่าข้อโต้แย้งนี้มีน้ำหนักอะไรเลย เราเชื่อว่า Spurgeon ผิดที่สูบบุหรี่ แต่นอกเหนือไปจากการสูบบุหรี่เขาเป็นคนของพระเจ้าและเป็นนักเทศน์พระวจนะของพระเจ้าที่เก่งไหม? แน่นอน! แต่มันทำให้การกระทำทั้งหมดและนิสัยของเขาถวายพระเกียรติพระเจ้าไหม? ไม่เลย

ในการพูดว่าการสูบบุหรี่เป็นความบาป เราไม่ได้พูดว่าคนที่ติดบุหรี่ทุกคนไม่ได้รับความรอด มีผู้เชื่อในพระเยซูคริสต์หลายคนสูบบุหรี่ การสูบบุหรี่ไม่ได้ทำให้คนไม่ได้รับความรอด หรือสูญเสียความรอด การสูบบุหรี่สามารถได้รับการให้อภัยไม่น้อยไปกว่าความบาปอื่น ๆ ไม่ว่าคน ๆ นั้นจะเป็นผู้เชื่อใหม่ หรือคนที่เป็นคริสเตียนแล้ว เข้ามาสารภาพบาปต่อพระเจ้าก็ตาม (1 ยอห์น 1:9) ในขณะเดียวกัน เราเชื่ออย่างแน่นอนว่าการสูบบุหรี่เป็นความบาปที่ควรเลิกกระทำ และด้วยความช่วยเหลือจากพระเจ้า ท่านสามารถเอาชนะมันได้





คริสเตียนมีมุมมองเกี่ยวกับการสูบบุหรี่อย่างไรบ้าง? การสูบบุหรี่เป็นความบาปด้วยหรือ?

พระคัมภีร์พูดว่าอย่างไรบ้างเกี่ยวกับการพนัน? การพนันเป็นความบาปหรือไม่?




คำถาม: พระคัมภีร์พูดว่าอย่างไรบ้างเกี่ยวกับการพนัน? การพนันเป็นความบาปหรือไม่?

คำตอบ:
การพนันสามารถพูดได้ว่าเป็น “การเสี่ยงเงินเพื่อทวีคูณเงินในบางอย่างที่เสียเปรียบ” พระคัมภีร์ไม่ได้ตัดสินว่าการพนัน, การเสี่ยงโชค หรือการเล่นลอตเตอรี่ เป็นสิ่งผิด แต่พระคัมภีร์เตือนเราว่าอย่ารักเงินทอง (1 ทิโมธี 6:10; ฮีบรู 13:5) และหนุนใจให้เราไม่พยายามคิดที่จะ “รวยทางลัด” (สุภาษิต 13:11; 23:5; ปัญญาจารย์ 5:10) แน่นอนที่สุดว่าการพนันจดจ่ออยู่ที่การรักเงินทอง และที่ปฏืเสธไม่ได้เลย ก็คือ มันยั่วใจคนให้เกิดความหวังว่าเขาจะรวยเร็วและง่าย

การพนันมีอะไรผิด? การพนันเป็นหัวข้อที่ยากในการถกเพราะหากเป็นการเล่นที่พอสัณฐานประมาณ และเป็นบางโอกาส มันก็แค่เป็นการเสียเงินเปล่าเท่านั้นเอง ไม่จำเป็นว่ามันจะต้องเป็นสิ่งที่ “ชั่วร้าย” ผู้คนเสียเงินโดยเปล่าประโยชน์ไปกับหลายสิ่งหลายอย่างอยู่แล้ว การพนันไม่ได้เป็นการเสียเงินมากน้อยไปกว่าการดูหนัง (ในหลายกรณี), การกินอาหารแพงเกินความจำเป็น, หรือการซื้อของที่ไม่มีค่า แต่ก็ใช่ว่าเมื่อเราสูญเงินไปกับสิ่งอื่น ๆ ได้ เราก็สามารถสูญเงินไปกับการพนันได้เหมือนกัน เงินไม่ควรจะถูกทิ้งไปโดยเปล่าประโยชน์ เงินส่วนเกินควรถูกเก็บไว้เพื่อใช้ในยามจำเป็นในอนาคต หรือถวายให้กับคริสตจักรเพื่อการงานของพระเจ้า สำหรับงานของพระเจ้า - ไม่ใช่เพื่อการพนัน

การพนันในพระคัมภีร์: ถึงแม้ว่าพระคัมภีร์ไม่ได้พูดอย่างชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องการพนัน แต่ก็ได้พูดถึงการเสี่ยง “โชค” หรือ “โอกาส” ยกตัวอย่างเช่น การจับสลากในหนังสือเลวีนิติ เพื่อเลือกระหว่างแพะที่เป็นเครื่องถวายบูชากับแพะรับบาป โยชูวาก็จับสลากเพื่อแบ่งดินแดนให้กับเผ่าต่าง ๆ เนหมีย์จับสลากเพื่อตัดสินใจว่าจะให้ใครอยู่ในและนอกกำแพงเมือง อัครทูตจับสลากเพื่อหาคนมาแทนยูดาส หนังสือสุภาษิต 16:33 กล่าวว่า “สลากนั้นเขาทอดลงที่ตัก แต่การตัดสินมาจากพระเยโฮวาห์ทั้งสิ้น” ไม่มีที่ไหนในพระคัมภีร์ที่มีการใช้การพนันหรือ การ “เสี่ยงโชค” เพื่อความบันเทิง หรือบอกว่ามันเป็นการกระทำของผู้ที่ติดตามพระเจ้าซึ่งเป็นที่ยอมรับ

คาสิโนและลอตเตอรี่: สถานคาสิโนใช้อุบายการตลาดทุกชนิดล่อนักการพนันให้เสี่ยงเงินให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ สถานที่ต่าง ๆ เหล่านี้มักจะเสริฟเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในราคาถูกหรือไม่คิดเงิน ซึ่งทำให้ลูกค้าเมาและทำให้ความสามารถในการตัดสินใจอย่างฉลาดของเขาลดลง ทุกสิ่งทุกอย่างในสถานคาสิโนถูกทำขึ้นอย่างเหมาะเจาะเพื่อดึงเงินก้อนใหญ่จากลูกค้าแต่ไม่ให้อะไรกลับมาเลยนอกจากความเพลิดเพลินที่ไร้สาระชั่วครู่ชั่วยาม ลอตเตอรี่แสดงภาพพจน์ว่ามันเป็นทางที่จะได้เงินมาช่วยการศึกษาและ/หรือกิจกรรมทางสังคมอื่น ๆ แต่จากการศึกษาค้นคว้าปรากฏว่าคนที่ชอบซื้อลอตเตอรี่โดยปกติแล้วจะไม่ค่อยมีเงินพอแม้แต่จะซื้อลอตเตอรี่เสียด้วยซ้ำไป สำหรับคนที่สิ้นหวังเสน่ห์ของการ “รวยทางลัด” ยั่วใจเกินกว่าที่จะปฏิเสธมันได้ แต่โอกาสที่จะถูกมีน้อยมาก จึงทำให้ชีวิตของคนหลายคนเสียไป

ทำไมเงินที่ได้มาจากการถูกลอตเตอรี่จึงไม่เป็นที่พอพระทัยของพระเจ้า: คนบางคนอ้างว่าเขาซื้อลอตเตอรี่หรือเล่นการพนันเพื่อที่จะได้นำเงินที่ได้มาถวายให้กับคริสตจักร หรือที่อื่นที่เป็นประโยชน์ แม้ว่านั่นจะเป็นเจตนาที่ดี แต่ความจริงคือมีน้อยคนมากที่ใช้เงินรางวัลเพื่องานของพระเจ้า จากการศึกษาค้นคว้าปรากฏว่าคนที่ถูกลอตเตอรี่ส่วนใหญ่มีสภาพทางการเงินแย่กว่าเดิมสองสามปีให้หลัง มีน้อยคน (หากมี) ใช้เงินเพื่อการดี อันที่จริงพระเจ้าทรงไม่ต้องการเงินของเราเพื่อสนับสนุนพันธกิจของพระองค์ในโลกนี้ สุภาษิต 13:11 กล่าวว่า “ทรัพย์ศฤงคารที่ได้มาโดยโชคลาภจะยอบแยบลง แต่บุคคลที่ส่ำสมโดยการงานจะได้เพิ่มพูนขึ้น” พระเจ้าทรงเป็นใหญ่สูงสุด และพระองค์จะทรงจัดเตรียมให้กับคริสตจักรของพระองค์เองโดยทางสุจริต พระเจ้าจะได้รับเกียรติไหมจากเงินถวายที่ได้มาจากการซื้อขายยาเสพติด, หรือที่ถูก “ขโมย” มาจากธนาคาร? เช่นเดียวกันพระองค์ไม่ทรงมีพระประสงค์ที่จะรับเงินที่ถูก “ขโมย” มาจากคนจนที่อยากรวยเป็นแน่

ข้อพระคัมภีร์ 1 ทิโมธี 6:10 บอกเราว่า “ด้วยว่าการรักเงินนั้นเป็นรากเหง้าแห่งความชั่วทั้งสิ้น ขณะที่บางคนโลภสิ่งเหล่านี้จึงได้หลงไปจากความเชื่อนั้น และทิ่มแทงตัวของเขาเองให้ทะลุด้วยความทุกข์ใจเป็นอันมาก” ฮีบรู 13:5 กล่าวว่า “ท่านจงพ้นจากการรักเงิน จงพอใจในสิ่งที่ท่านมีอยู่ เพราะว่าพระองค์ได้ตรัสไว้แล้วว่า เราจะไม่ละท่านหรือทอดทิ้งท่านเลย” มัทธิว 6:24 กล่าวว่า “ไม่มีผู้ใดปรนนิบัตินายสองนายได้ เพราะเขาจะชังนายข้างหนึ่งและจะรักนายอีกข้างหนึ่ง หรือเขาจะนับถือนายฝ่ายหนึ่งและจะดูหมิ่นนายอีกฝ่ายหนึ่ง ท่านจะปรนนิบัติพระเจ้าและเงินทองพร้อมกันไม่ได้”





พระคัมภีร์พูดว่าอย่างไรบ้างเกี่ยวกับการพนัน? การพนันเป็นความบาปหรือไม่?

พระคัมภีร์กล่าวไว้ว่าอย่างไรเกี่ยวกับการสัก/เจาะ ร่างกาย?




คำถาม: พระคัมภีร์กล่าวไว้ว่าอย่างไรเกี่ยวกับการสัก/เจาะ ร่างกาย?

คำตอบ:
กฎในพันธสัญญาเดิมสั่งคนอิสราเอลไว้ว่า “เจ้าอย่าเชือดเนื้อของเจ้าเพราะเหตุมีคนตาย หรือสักเป็นเครื่องหมายใดๆลงที่ตัวเจ้า เราคือพระเยโฮวาห์” ” (เลวีนิติ 19:28) ดังนั้นถึงแม้ว่าผู้เชื่อในปัจจุบันจะไม่ต้องถือกฎในพันธสัญญาเดิมแล้วก็ตาม (โรม 10:4; กาลาเทีย 3:23-25; เอเฟซัส 2:15) แต่ความจริงที่ว่าได้มีการสั่งห้ามการสักไว้จึงเป็นสิ่งที่เราควรถาม พันธสัญญาใหม่ไม่ได้พูดอะไรเกี่ยวกับว่าผู้เชื่อควรหรือไม่ควรสัก

เมื่อพูดถึงการสักหรือเจาะร่างกาย ข้อตรวจสอบที่ดีคือให้เราพิจารณาดูว่าเราสามารถขอพระเจ้าอย่างจริงใจและไม่รู้สึกผิด ให้อวยพรเราและใช้สิ่งที่เราทำนั้นเพื่อการดีของพระองค์ได้หรือไม่ “เหตุฉะนั้นเมื่อท่านจะรับประทาน จะดื่ม หรือจะทำอะไรก็ตาม จงกระทำเพื่อเป็นการถวายพระเกียรติแด่พระเจ้า” (1 โครินธ์ 10:31) พระคัมภีร์ไม่ได้สั่งห้ามการสักหรือเจาะร่างกาย แต่ก็ไม่ได้ให้เหตุผลที่ทำให้เราเชื่อว่าพระเจ้าทรงอนุญาตให้เราสักหรือเจาะร่างกายเช่นกัน

อีกข้อหนึ่งที่สมควรจะได้รับการพิจารณาคือ ความพอสัณฐานประมาณ พระคัมภีร์สอนให้เราแต่งตัวอย่างพอสัณฐานประมาณ (1 ทิโมธี 2:9) แง่หนึ่งเกี่ยวกับการแต่งตัวอย่างพอสัณฐานประมาณ คือ การแน่ใจว่าสิ่งที่ควรปกปิดด้วยเสื้อผ้าได้รับการปกปิดอย่างสมควร แต่ความหมายที่สำคัญของความพอสัณฐานประมาณคือ การไม่เรียกร้องความสนใจเข้ามาสู่ตนเอง คนที่แต่งตัวอย่างพอสัณฐานประมาณคือคนที่ไม่ได้แต่งตัวเพื่อดึงดูดความสนใจ การสักและการเจาะร่างกายเป็นการดึงดูดความสนใจแน่นอน ดังนั้นจากมุมมองนี้ การสักหรือเจาะร่างกายจึงไม่ใช่เป็นการกระทำที่พอสัณฐานประมาณ

หลักสำคัญจากพระคัมภีร์เกี่ยวกับเรื่องที่พระคัมภีร์ไม่ได้พูดถึงตรง ๆ คือ หากการกระทำนั้นมีช่องว่างให้สงสัยว่าจะเป็นที่พอพระทัยของพระเจ้าหรือไม่ การไม่ทำก็จะเป็นทางออกที่ดีที่สุดเพราะ “การกระทำใด ๆ ก็ตามที่มิได้กระทำด้วยความเชื่อก็เป็นบาปทั้งสิ้น” (โรม 14:23) เราจำเป็นที่จะต้องจำไว้ว่าร่างกายของเรา, รวมทั้งจิตวิญญาณของเรา, ได้รับการไถ่ไว้แล้วและเป็นของพระเจ้า ถึงแม้ว่าข้อพระคัมภีร์ 1 โครินธ์ 6:19-20 ไม่ได้พูดถึงการสักหรือเจาะร่างกายโดยตรงก็ตาม แต่มันให้หลักการกับเรา, “หลักการอะไรหรือ? ก็หลักการที่ว่า ท่านไม่รู้หรือว่า ร่างกายของท่านเป็นวิหารของพระวิญญาณบริสุทธิ์ ซึ่งสถิตอยู่ในท่าน ซึ่งท่านได้รับจากพระเจ้า ท่านไม่ใช่เจ้าของตัวท่านเอง นั่นไง” ความจริงที่ยิ่งใหญ่นี้ควรมีผลอย่างแท้จริงในสิ่งที่เราทำและสถานที่ ๆ เราไป หากร่างกายของเราเป็นของพระเจ้า เราควรมั่นใจว่าเราได้รับ “อนุญาต” จากพระองค์อย่างชัดเจน ก่อนที่เราจะ “ทำเครื่องหมายใด ๆ ลงที่ตัว” ด้วยรอยสักหรือการเจาะร่างกาย





พระคัมภีร์กล่าวไว้ว่าอย่างไรเกี่ยวกับการสัก/เจาะ ร่างกาย?

พระคัมภีร์พูดเกี่ยวกับเรื่องการรักร่วมเพศว่าอย่างไร? การเล่นรักร่วมเพศเป็นความบาปหรือไม่?




คำถาม: พระคัมภีร์พูดเกี่ยวกับเรื่องการรักร่วมเพศว่าอย่างไร? การเล่นรักร่วมเพศเป็นความบาปหรือไม่?

คำตอบ:
พระคัมภีร์บอกอยู่ตลอดเวลาว่าการเล่นรักร่วมเพศเป็นความบาป (ปฐมกาล 19:1-13; เลวีนิติ 18:22; โรม 1:26-27; 1 โครินธ์ 6:9) โรม 1:26-27 สอนอย่างเจาะจงว่าการเล่นรักร่วมเพศคือผลของการปฏิเสธและไม่เชื่อฟังพระเจ้า พระคัมภีร์บอกว่าเมื่อคน ๆ หนึ่งอยากเดินอยู่ในความบาปและความไม่เชื่อฟังโดยไม่ยอมหยุด พระเจ้าจึงทรง “ปล่อยให้เขา” ทำความชั่วร้ายและเลวทรามมากขึ้น เพื่อแสดงให้เขาเห็นถึงชีวิตที่สิ้นหวังและหาประโยชน์ไม่ได้เมื่อออกห่างจากพระเจ้า ข้อพระคัมภีร์ 1 โครินธ์ 6:9 กล่าวว่าผู้ที่ “สร้างความขุ่นเคืองพระทัย” ด้วยการเล่นรักร่วมเพศจะไม่ได้รับอาณาจักรของพระเจ้าเป็นมรดก

พระเจ้าไม่ได้ทรงสร้างมนุษย์ให้มีความปรารถนาที่จะเล่นรักร่วมเพศ พระคัมภีร์บอกว่าคนกลายเป็นคนเล่นรักร่วมเพศก็เพราะความบาป (โรม 1:24-27) และท้ายที่สุดมันอยู่ที่ความต้องการของเขาเอง คนบางคนอาจเกิดมาโดยมีแนวโน้มที่จะเป็นผู้ที่เล่นรักร่วมเพศ เหมือนกับคนบางคนที่เกิดมาพร้อมกับมีแนวโน้มว่าจะเป็นคนก้าวร้าวรุนแรงหรือทำความบาปอื่น ๆ แต่นี่ไม่ใช่ข้ออ้างเพื่อที่จะให้เขาเลือกที่จะทำบาปโดยยอมจำนนต่อความปรารถนาที่เป็นความบาปของเขา หากคน ๆ หนึ่งเกิดมาโดยมีแนวโน้มที่จะเป็นคนที่มีความโกรธ/ฉุนเฉียวอย่างแรง มันถูกต้องไหมที่เขาจะยอมจำนนต่อความปรารถนานั้น? ไม่ถูกต้องแน่นอน! ก็เหมือนกันกับการเล่นรักร่วมเพศ

แต่พระคัมภีร์ไม่ได้บอกว่าการเล่นรักร่วมเพศเป็นความบาปที่ “ร้ายแรง” กว่าความบาปอย่างอื่น ความบาปทุกชนิดเป็นที่ขุ่นเคืองพระทัยของพระเจ้า การเล่นรักร่วมเพศเป็นเพียงหนึ่งในความบาปหลาย ๆ อย่างที่ข้อพระคัมภีร์ 1 โครินธ์ 6:9-10 กล่าวถึง ซึ่งจะทำให้คนทำไปไม่ถึงแผ่นดินของพระเจ้า ตามที่พระคัมภีร์มีบันทึกไว้พระเจ้าทรงให้อภัยคนเล่นรักร่วมเพศเหมือนกันกับ คนล่วงประเวณี คนถือรูปเคารพ คนผิดผัวเมียเขา ฆาตกร ฯลฯ พระเจ้าย้งทรงสัญญาไว้ด้วยว่าพระองค์จะประทานกำลังและชัยชนะเหนือความบาป, รวมถึงการเล่นรักร่วมเพศด้วย, ให้กับผู้ที่เชื่อในพระเยซูคริสต์สำหรับความรอดของเขา (1 โครินธ์ 6:11; 2 โครินธ์ 5:17)





พระคัมภีร์พูดเกี่ยวกับเรื่องการรักร่วมเพศว่าอย่างไร? การเล่นรักร่วมเพศเป็นความบาปหรือไม่?

การสำเร็จความใคร่ด้วยตัวเอง - เป็นความบาปหรือไม่ตามพระคัมภีร์?




คำถาม: การสำเร็จความใคร่ด้วยตัวเอง - เป็นความบาปหรือไม่ตามพระคัมภีร์?

คำตอบ:
พระคัมภีร์ไม่ได้กล่าวอย่างชัดเจนหรือบอกว่าการสำเร็จความใคร่ด้วยตนเองเป็นความบาป แต่ว่าการกระทำที่นำไปสู่การสำเร็จความใคร่ด้วยตนเองเป็นความบาปแน่นอนอย่างไม่ต้องสงสัย การสำเร็จความใคร่ด้วยตนเองเป็นผลของความคิดที่เป็นตัณหา, การปลุกเร้าทางเพศ, และ/หรือ การดูสื่อลามก ปัญหาเหล่านี้แหละที่เราต้องจัดการกับมัน หากความบาปอันเนื่องมาจากตัณหาและสื่อลามกถูกตัดออกไปและถูกเอาชนะได้ - ปัญหาของการสำเร็จความใคร่ด้วยตนเองก็จะไม่เป็นปัญหาอีกต่อไป

พระคัมภีร์บอกให้เราหลีกเลี่ยงแม้แต่การเอ่ยถึงเรื่องทางเพศที่ผิดศีลธรรม (เอเฟซัส 5:3) ข้าพเจ้าไม่เห็นว่าการสำเร็จความใคร่ด้วยตนเองจะผ่านการทดสอบที่เจาะจงนี้ไปได้อย่างไร บางครั้งการทดสอบว่าอะไรคือความบาปหรือไม่ คือ ท่านสามารถบอกคนอื่นด้วยความภูมิใจได้ไหมว่าท่านเพิ่งทำอะไรลงไป หากท่านอายหรือมีความรู้สึกผิดหากคนอื่นรู้เข้า สิ่งที่ท่านทำไปก็เข้าข่ายว่าเป็นความบาป ข้อทดสอบที่ดีอีกข้อหนึ่งคือ ท่านสามารถขออย่างจริงใจและด้วยจิตสำนึกที่ดีให้พระเจ้าอวยพรและใช้กิจกรรมนั้นเพื่อการดีของพระองค์ได้หรือไม่ ข้าพเจ้าไม่คิดว่าการสำเร็จความใคร่ด้วยตนเองเป็นอะไรที่เรา “ภูมิใจ” หรือสามารถขอบคุณพระเจ้าได้อย่างจริงใจ

พระคัมภีร์สอนว่า “เหตุฉะนั้นเมื่อท่านจะรับประทาน จะดื่ม หรือจะทำอะไรก็ตาม จงกระทำเพื่อเป็นการถวายพระเกียรตแด่พระเจ้า” (1 โครินธ์ 10:31) หากการกระทำนั้นเปิดช่องให้ท่านสงสัยว่าพระเจ้าจะทรงพอพระทัยหรือไม่ การไม่ทำก็น่าจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุด การสำเร็จความใคร่ด้วยตนเองเปิดช่องให้สงสัยแน่นอน “เพราะการกระทำใดๆก็ตามที่มิได้กระทำด้วยความเชื่อก็เป็นบาปทั้งสิ้น” (โรม 14:23) ตามที่พระคัมภีร์บอกไว้ ข้าพเจ้าไม่เห็นว่าการสำเร็จความใคร่ด้วยตนเองจะถวายเกียรติพระเจ้าได้อย่างไร นอกจากนั้นเราจำเป็นที่จะต้องจำไว้ว่าร่างกายของเรา รวมทั้งจิตวิญญาณของเราด้วยได้รับการไถ่ไว้แล้วและเป็นของพระเจ้า “ท่านไม่รู้หรือว่า ร่างกายของท่านเป็นวิหารของพระวิญญาณบริสุทธิ์ ซึ่งสถิตอยู่ในท่าน ซึ่งท่านได้รับจากพระเจ้า ท่านไม่ใช่เจ้าของตัวท่านเอง พระเจ้าได้ทรงซื้อท่านไว้แล้วตามราคา เหตุฉะนั้นท่านจงถวายพระเกียรติแด่พระเจ้าด้วยร่างกายของท่าน และด้วยจิตวิญญาณของท่าน ซึ่งเป็นของพระเจ้า” (1 โครินธ์ 6:19-20) ความจริงที่ยิ่งใหญ่นี้ควรจะเป็นเครื่องเตือนใจว่าเรากำลังทำอะไรกับร่างกายของเราและพาร่างกายของเราไปในสถานที่อย่างไร ดังนั้นตามหลักการเหล่านี้ ข้าพเจ้าต้องพูดว่าการสำเร็จความใคร่ด้วยตนเองเป็นความบาปอย่างแน่นอนตามที่มีบอกไว้ในพระคัมภีร์ ข้าพเจ้าไม่เชื่อว่าการสำเร็จความใคร่ด้วยตนเองเป็นที่พอพระทัยของพระเจ้า, หรือเป็นการหลีกเลี่ยงสิ่งที่ผิดศีลธรรม, หรือผ่านการทดสอบของพระเจ้าผู้ซึ่งทรงเป็นเจ้าของร่างกายของเรา





การสำเร็จความใคร่ด้วยตัวเอง - เป็นความบาปหรือไม่ตามพระคัมภีร์?

ความบาปที่ร้ายแรงเจ็ดประการมีอะไรบ้าง?




คำถาม: ความบาปที่ร้ายแรงเจ็ดประการมีอะไรบ้าง?

คำตอบ:
มีคนหลายคนกลัวความบาปเจ็ดประการที่คิดว่าพระเจ้าจะทรงไม่ให้อภัย ความบาปเจ็ดประการนี้เป็นที่รู้จักกันในชื่อว่า “ความบาปที่ร้ายแรงเจ็ดประการ” “ความบาปที่ร้ายแรงเจ็ดประการ” นี้ถูกต้องตามพระคัมภีร์ไหม? คำตอบคือ ถูกและไม่ถูก หนังสือสุภาษิต 6:16-19 กล่าวว่า “มีหกสิ่งซึ่งพระเจ้าทรงเกลียด มีเจ็ดซึ่งเป็นที่น่าเกลียดน่าชังสำหรับพระองค์ (1) ตายโส (2) ลิ้นมุสา และ (3) มือที่ทำโลหิตไร้ผิดให้ตก (4) จิตใจที่คิดแผนงานโหดร้าย (5) เท้าซึ่งรีบวิ่งไปสู่ความร้าย (6) พยานเท็จซึ่งหายใจออกเป็นคำมุสา และ (7) และคนผู้หว่านความแตกร้าวท่ามกลางพวกพี่น้อง” แต่นี่ไม่ใช่สิ่งที่คนส่วนใหญ่เข้าใจเกี่ยวกับ “ความบาปที่ร้ายแรงเจ็ดประการ”

คนส่วนใหญ่เข้าใจว่า “ความบาปที่ร้ายแรงเจ็ดประการ” คือ ความหยิ่ง, ความอิจฉา, ความตะกละ, ตัณหา, ความโกรธ, ความโลภ และความเกียจคร้าน แม้ว่าแต่ละอย่างที่กล่าวมานี้จะเป็นความบาปอย่างปฏิเสธไม่ได้ พระคัมภีร์ไม่ได้เรียกมันว่า “ความบาปที่ร้ายแรงเจ็ดประการ” เราอาจใช้ความบาปที่ถือว่าเป็น “ความบาปที่ร้ายแรงเจ็ดประการ” เป็นวิธีจำแนกประเภทความบาปที่มีอยู่ก็ได้ ความบาปเกือบทุกชนิดสามารถนำมาใส่ไว้ภายใต้หัวข้อใดหัวข้อหนึ่งภายใต้ความบาปเจ็ดประการนี้ แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือเราจะต้องตระหนักว่าความบาปเจ็ดประการนี้ไม่ได้ “ร้ายแรง” ไปกว่าความบาปอื่น ๆ ค่าจ้างของความบาปทุกชนิดคือความตาย (โรม 6:23) ขอบคุณพระเจ้าที่โดยทางพระเยซูคริสต์ ความบาปทั้งหมดของเรา รวมถึง “ความบาปที่ร้ายแรงเจ็ดประการ” โดยทางพระองค์ทรงให้อภัยได้ทั้งนั้น (มัทธิว 26:28; กิจการ 10:43; เอเฟซัส 1:7)





ความบาปที่ร้ายแรงเจ็ดประการมีอะไรบ้าง?