คำถามเกี่ยวกับการสมรส



คำถามเกี่ยวกับการสมรส





คำถามเกี่ยวกับการสมรส

พระคัมภีร์พูดว่าอย่างไรเกี่ยวกับการแต่งงาน?




คำถาม: พระคัมภีร์พูดว่าอย่างไรเกี่ยวกับการแต่งงาน?

คำตอบ:
สถาบันสมรสของพระเจ้าถูกบันทึกไว้ในหนังสือปฐมกาล “ชายจึงว่า "นี่แหละ กระดูกจากกระดูกของเรา เนื้อจากเนื้อของเรา จะต้องเรียกว่าหญิง เพราะหญิงนี้ออกมาจากชาย เหตุฉะนั้นผู้ชายจึงจากบิดามารดาของเขาไปผูกพันอยู่กับภรรยา และเขาทั้งสองจะเป็นเนื้ออันเดียวกัน” (ปฐมกาล 2:23-24) พระเจ้าทรงสร้างมนุษย์ผู้ชายก่อนแล้วจึงทรงสร้างมนุษย์ผู้หญิงจาก “กระดูกของเขา” พระคัมภีร์บันทึกไว้ว่าพระเจ้าทรงดึงเอา “กระดูกซี่โครง” ของอาดัมออกมาชิ้นหนึ่ง (ปฐมกาล 2:21-22) คำแปลในภาษาฮีบรูหมายความว่าด้านข้างของคน ๆ หนึ่ง

ดังนั้นเอวาจึงถูกดึงออกมาจาก “ด้านข้าง” ของอาดัม และตรงนั้นเองคือที่ ๆ เธอควรอยู่ “ชายนั้นจึงตั้งชื่อบรรดาสัตว์ใช้งานและนกในอากาศ และบรรดาสัตว์ป่า แต่ชายนั้นยังหามีคู่อุปถัมภ์ที่สมกับตนไม่” (ปฐมกาล 2:20) คำว่า “คู่อุปถัมภ์” มาจากคำว่า “ezer” ในภาษาฮีบรู ซึ่งเป็นรากศัพท์ของคำว่าห้อมล้อม, ป้องกันหรือช่วยเหลือ, ช่วย, ผู้ช่วย, ผู้คอยช่วยเหลือ ดังนั้นมันจึงหมายความว่าช่วยเหลือ, สงเคราะห์ หรือช่วยเหลือ เอวาถูกสร้างขึ้นมาให้อยู่เคียงข้างอาดัมในฐานะ “อีกครึ่งหนึ่ง” ของเขา เพื่อเป็นผู้คอยช่วยเหลือ หรือผู้ช่วยของเขา เมื่อชายและหญิงแต่งงานกัน เขาทั้งสองจะกลายเป็น “เนื้อเดียวกัน” พันธสัญญาใหม่พูดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเป็น “หนึ่งเดียวกัน” ไว้ว่า “เขาจึงไม่เป็นสองต่อไป แต่เป็นเนื้ออันเดียวกัน เหตุฉะนั้นซึ่งพระเจ้าได้ทรงผูกพันกันแล้ว อย่าให้มนุษย์ทำให้พรากจากกันเลย” (มัทธิว 19:6)

มีหนังสือพระกิตติคุณหลายเล่มที่อัครทูตเปาโลเป็นผู้เขียนที่พูดเกี่ยวกับชีวิตสมรสตามแนวพระคัมภีร์ และผู้ เชื่อที่บังเกิดใหม่ควรสร้างความสัมพันธ์ในชีวิตสมรสอย่างไร หนึ่งในข้อพระคัมภีร์เหล่านั้นอยู่ในหนังสือ 1 โครินธ์ บทที่ 7 และอีกตอนหนึ่งอยู่ในหนังสือเอเฟซัส 5:22-33 เมื่อเราศึกษาข้อพระคัมภีร์เหล่านี้ด้วยกัน เราจะพบว่ามันให้หลักการที่เราสามารถนำมาใช้ได้เพื่อทำให้ความสัมพันธ์ในชีวิตสมรสเป็นที่พอใจของพระเจ้า

ข้อพระคัมภีร์ในหนังสือเอเฟซัสมีเนื้อความที่ล้ำลึกเป็นพิเศษเมื่อพูดถึงการสมรสที่ประสพผลสำเร็จตามแนวพระคัมภีร์ “ฝ่ายภรรยาจงยอมฟังสามีของตนเหมือนยอมฟังองค์พระผู้เป็นเจ้า เพราะว่าสามีเป็นศีรษะของภรรยา เหมือนพระคริสต์ทรงเป็นศีรษะของคริสตจักร ซึ่งเป็นพระกายของพระองค์ และพระองค์ทรงเป็นพระผู้ช่วยให้รอดของคริสตจักร” (เอเฟซัส 5:22-23) “ฝ่ายสามีก็จงรักภรรยาของตน เหมือนอย่างที่พระคริสต์ทรงรักคริสตจักร และทรงประทานพระองค์เองเพื่อคริสตจักร” (เอเฟซัส 5:25) “เช่นนั้นแหละ สามีจึงควรจะรักภรรยาของตนเหมือนกับรักกายของตนเอง ผู้ที่รักภรรยาของตนก็รักตนเอง เพราะว่าไม่มีผู้ใดเกลียดชังเนื้อหนังของตนเอง มีแต่เลี้ยงดูและทนุถนอม เหมือนพระคริสต์ทรงกระทำแก่คริสตจักร” (เอเฟซัส 5:28-29) “เพราะเหตุนี้ผู้ชายจึงจะละบิดามารดาของตน ไปผูกพันอยู่กับภรรยา และเขาทั้งสองจะเป็นเนื้ออันเดียวกัน” (เอเฟซัส 5:31)

เมื่อสามีและภรรยาเลือกที่จะใช้หลักการดังกล่าวอย่างกลมกลืนกับความสัมพันธ์ในชีวิตคู่ในฐานะผู้เชื่อที่บังเกิดใหม่ มันก็จะทำให้เขาทั้งสองมีชีวิตสมรสที่สอดคล้องกับพระคัมภีร์ นี่ไม่ใช่ความสัมพันธ์ที่มีน้ำหนักเทเอียงไปข้างเดียว แต่เป็นความสัมพันธ์ที่สมดุลโดยมีพระคริสต์เป็นผู้นำของครอบครัว ดังนั้นชีวิตสมรสตามแนวพระคัมภีร์จึงเป็นชีวิตสมรสที่หลอมรวมคนสองคนเข้าไว้เป็นหนึ่งเดียวกัน ซึ่งเป็นภาพของความเป็นหนึ่งเดียวกันของพระคริสต์กับคริสตจักรของพระองค์





พระคัมภีร์พูดว่าอย่างไรเกี่ยวกับการแต่งงาน?

อะไรคือเคล็ดลับที่ทำให้ชีวิตสมรสยืนยาว?




คำถาม: อะไรคือเคล็ดลับที่ทำให้ชีวิตสมรสยืนยาว?

คำตอบ:
อัครทูตเปาโลกกล่าวว่าภรรยาจะต้อง “ผูกพัน” กับสามีของเธอตราบเท่าที่เขายังมีชีวิตอยู่ “เพราะว่าผู้หญิงที่สามียังมีชีวิตอยู่นั้นต้องอยู่ในกฏประเพณีสามีภรรยา แต่ถ้าสามีตาย ผู้หญิงนั้นก็พ้นจากกฏนั้น” (โรม 7:2) หลักการที่เรามองเห็นในที่นี้คือฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดจะต้องเสียชีวิตเสียก่อน การผูกพันกันทางการสมรสจึงจะสิ้นสุดลงได้ นี่คือมุมมองของพระเจ้า แต่หลายครั้งเกินไปที่มันไม่ได้เกิดขึ้นในชีวิตสมรสในปัจจุบัน ในสังคมสมัยใหม่ของเรา 51% ของการสมรสสิ้นสุดลงด้วยการหย่าร้าง นี่หมายความว่าคู่สมรสที่ได้ปฏิญาณตนว่า “จะอยู่ด้วยกันจนกว่าความตายจะมาพรากเราไปจากกัน” ทำตามคำปฏิญาณไม่ได้

ดังนั้นคำถามจึงเป็นว่าคู่สมรสควรจะทำอย่างไรเพื่อที่จะให้ชีวิตคู่ของเขายืนยาวไป “จนกว่าความตายจะมาพรากเราไปจากกัน”? ประการแรกและประการที่สำคัญที่สุดคือการเชื่อฟังพระเจ้าและพระวจนะของพระองค์ นี่เป็นหลักการที่หญิงและชายควรนำมาใช้ในชีวิตก่อนแต่งงานก่อนที่เขาทั้งสองจะเข้ามาผูกพันกัน พระเจ้าตรัสว่า “สองคนจะเดินไปด้วยกันได้หรือ นอกจากทั้งสองจะได้ตกลงกันไว้ก่อน” (อาโมส 3:3)? สำหรับผู้เชื่อที่บังเกิดใหม่มันหมายความว่าเขาจะต้องไม่มีความสัมพันธ์กับใครที่ไม่ใช่ผู้เชื่อ “ท่านอย่าเข้าเทียมแอกกับคนที่ไม่เชื่อ เพราะว่าความชอบธรรมจะมีหุ้นส่วนอะไรกับความอธรรม และความสว่างจะเข้าสนิทกับความมืดได้อย่างไร” (2 โครินธ์ 6:14)? หากหลักการนี้ถูกนำมาใช้ มันจะช่วยไม่ให้คู่สมรสปวดหัวและมีความทุกข์หลังจากที่เขาทั้งสองได้สมรสกันแล้ว

หลักการอีกหลักการหนึ่งที่จะช่วยทำให้ชีวิตสมรสยืนยาวได้ก็คือสามีควรเชื่อฟังพระเจ้าและรัก, ให้เกียรติ และปกป้องภรรยาของตน เหมือนรักกายของตนเอง (เอเฟซัส 5:25-31) ในทำนองเดียวกันภรรยาก็ควรเชื่อฟังพระเจ้าและยอมฟังสามีของตน “เหมือนยอมฟังองค์พระผู้เป็นเจ้า” (เอเฟซัส 5:22) การสมรสระหว่างหญิงและชายเป็นภาพฝ่ายวิญญาณของความสัมพันธ์ระหว่างพระคริสต์และคริสตจักร พระคริสต์ทรงมอบพระองค์เองให้กับคริสตจักร และทรงรัก, ให้เกียรติ และปกป้องคริสตจักรเสมือนว่าคริสตจักรเป็น “เจ้าสาว” ของพระองค์ (วิวรณ์ 19:7-9)

ในการสมรสครั้งแรกเมื่อพระเจ้าทรงนำเอวามาให้อาดัม เอวาถูกสร้างขึ้นมาจาก “เนื้อและกระดูก” ของอาดัม (ปฐมกาล 2:31) และเขาทั้งสองก็กลายเป็น “เนื้อเดียวกัน” (ปฐมกาล 2:23-24) นี่เป็นแนวความคิดที่ได้สูญหายไปในสังคมสมัยใหม่ การเป็นเนื้อเดียวกันมีความหมายมากกว่าการผูกพันกันทางกาย แต่หมายถึงการหลอมรวมความคิด และจิตใจให้เข้าเป็นหนึ่งเดียวกัน ความสัมพันธ์นี้ลึกซึ้งเกินกว่าการผูกพันกันทางด้านเพศหรืออารมณ์ แต่เป็นการหลอมรวมคนสองคนให้เป็น “หนึ่งเดียวกัน” ในมิติฝ่ายวิญญาณ ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อทั้งสองฝ่ายจำนนต่อพระเจ้าและต่อซึ่งกันและกันเท่านั้น ความสัมพันธ์นี้ไม่ใช่เป็นความสัมพันธ์ที่มีเฉพาะคำว่า “ฉัน หรือ ของฉัน” เท่านั้น แต่เป็นความสัมพันธ์ที่มีแต่คำว่า “เรา และ ของเรา” เท่านั้น นี่คือหนึ่งในเคล็ดลับของการมีชีวิตสมรสที่ยืนยาว การทำให้ชีวิตสมรสยืนยาวจนกระทั่งความตายมากพรากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไปเป็นสิ่งที่คู่สมรสต้องให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก การทำให้ความสัมพันธ์แนวดิ่งกับพระเจ้ามั่นคงมีผลในระยะยาวสำหรับความสัมพันธ์แนวนอนระหว่างสามีและภรรยา มันเป็นหลักประกันว่าชีวิตสมรสของเขาจะยืนยาวและเป็นที่ถวายเกียรติแก่องค์พระผู้เป็นพระเจ้า





อะไรคือเคล็ดลับที่ทำให้ชีวิตสมรสยืนยาว?

การที่คริสเตียนจะออกเดทหรือแต่งงานกับคนที่ไม่ได้เป็นคริสเตียน เป็นสิ่งที่ถูกต้องหรือไม่?




คำถาม: การที่คริสเตียนจะออกเดทหรือแต่งงานกับคนที่ไม่ได้เป็นคริสเตียน เป็นสิ่งที่ถูกต้องหรือไม่?

คำตอบ:
ข้อพระคัมภีร์ 2 โครินธ์ 6:14 กล่าวว่า “ท่านอย่าเข้าเทียมแอกกับคนที่ไม่เชื่อ เพราะว่าความชอบธรรมจะมีหุ้นส่วนอะไรกับความอธรรม และความสว่างจะเข้าสนิทกับความมืดได้อย่างไร” แม้ว่าข้อพระคัมภีร์นี้ไม่ได้พูดเกี่ยวกับการสมรสโดยตรง แต่แน่นอนว่ามันสามารถนำมาใช้เกี่ยวกับการสมรสได้ด้วย “พระคริสต์กับเบลีอัลจะลงรอยกันอย่างไรได้ หรือคนที่เชื่อจะมีส่วนอะไรกับคนที่ไม่เชื่อ วิหารของพระเจ้าจะตกลงอะไรกับรูปเคารพได้ เพราะว่าเราเป็นวิหารของพระเจ้าผู้ทรงดำรงพระชนม์ ดังที่พระเจ้าตรัสไว้ว่า `เราจะอยู่ในเขาทั้งหลาย และจะดำเนินในหมู่พวกเขา และเราจะเป็นพระเจ้าของเขา และเขาจะเป็นชนชาติของเรา' พระเจ้าตรัสว่า `เหตุฉะนั้นเจ้าจงออกจากหมู่พวกเขาเหล่านั้น และจงแยกตัวออกจากเขาทั้งหลาย อย่าแตะต้องสิ่งซึ่งไม่สะอาด แล้วเราจึงจะรับพวกเจ้าทั้งหลาย” (2 โครินธ์ 6:15-17)

พระคัมภีร์พูดต่อไปว่า “อย่าหลงเลย การคบคนชั่วย่อมเสียนิสัย” (1 โครินธ์ 15:33) การมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับผู้ไม่เชื่อสามารถกลายเป็นสิ่งกีดขวางการเดินของท่านกับพระคริสต์ได้อย่างรวดเร็วและง่ายดาย เราถูกเรียกให้ประกาศกับผู้หลงหาย ไม่ใช่ให้ไปมีความสัมพันธ์ขั้นลึกล้ำกับพวกเขา การสร้างสัมพันธ์ที่มีคุณภาพกับผู้ไม่เชื่อไม่มีอะไรผิด – แต่ไม่ควรก้าวไปไกลกว่านั้น หากท่านกำลังเดทกับผู้ไม่เชื่อ อะไรคือความสำคัญอันดับแรกของท่าน – การได้ใจเขามาให้ท่านหรือการได้จิตวิญญาณเขามาให้พระคริสต์? หากท่านแต่งงานกับผู้ไม่เชื่อ ท่านและเขาจะสร้างความผูกพันฝ่ายวิญญาณกันได้อย่างไร? ท่านจะมีชีวิตสมรสที่มีคุณภาพได้อย่างไรหากท่านมีความเห็นไม่ตรงกันในเรื่องที่สำคัญที่สุดในจักรวาล – องค์พระเยซูคริสต์?





การที่คริสเตียนจะออกเดทหรือแต่งงานกับคนที่ไม่ได้เป็นคริสเตียน เป็นสิ่งที่ถูกต้องหรือไม่?

พระคัมภีร์พูดอย่างไรเกี่ยวกับการหย่าและการแต่งงานใหม่?




คำถาม: พระคัมภีร์พูดอย่างไรเกี่ยวกับการหย่าและการแต่งงานใหม่?

คำตอบ:
ในเบื้องต้น ไม่ว่าเราจะมองมุมไหนเกี่ยวกับการหย่าร้าง ประการสำคัญคือให้เรานึกถึงข้อพระคัมภีร์มาลาคี 2:16ก ที่พูดว่า “พระเยโฮวาห์พระเจ้าของอิสราเอลตรัสว่า เราเกลียดชังการหย่าร้าง” พระคัมภีร์บอกว่า ตามแผนการของพระเจ้า การแต่งงานคือการผูกพันชั่วชีวิต “เขาจึงไม่เป็นสองต่อไป แต่เป็นเนื้ออันเดียวกัน เหตุฉะนั้นซึ่งพระเจ้าได้ทรงผูกพันกันแล้ว อย่าให้มนุษย์ทำให้พรากจากกันเลย” (มัทธิว 19:6) แต่พระเจ้าทรงรู้ว่าเนื่องจากการแต่งงานเป็นการผูกพันคนบาปสองคนเข้าด้วยกัน การหย่าร้างจึงเกิดขึ้นได้ ในพันธสัญญาเดิมพระองค์ได้ทรงวางกฎบางประการไว้เพื่อปกป้องสิทธิของผู้ที่ถูกหย่าร้าง โดยเฉพาะฝ่ายหญิง (เฉลยธรรมบัญญัติ 24:1-4) พระเยซูทรงชี้ให้เห็นว่ากฎเหล่านี้ถูกตั้งขึ้นเพราะหัวใจของมนุษย์แข็งกระด้าง ไม่ใช่เพราะเป็นน้ำพระทัยของพระเจ้า (มัทธิว 19:8)

ข้อถกเถียงที่ว่าพระคัมภีร์อนุญาตให้มีการหย่าร้างหรือการแต่งงานใหม่หรือไม่ ต้องกลับไปดูที่พระวจนะของพระเยซูในหนังสือมัทธิว 5:32 และ 19:9 คำว่า “นอกจากการเล่นชู้” เป็นสิ่งเดียวในพระคัมภีร์ที่ดูเหมือนว่าพระเจ้าจะทรงอนุญาตให้มีการหย่าและแต่งงานใหม่ได้ ผู้ตีความหมายหลายท่านตีความหมายว่า “ข้อยกเว้น” นี้หมายถึง “การเล่นชู้” ระหว่างหมั้นเท่านั้น ในวัฒนธรรมของชาวยิว ชายและหญิงถูกถือว่าสมรสกันแล้วแม้ว่าเขาทั้งสองเพียงแค่“หมั้น” กันเท่านั้น ดังนั้นการผิดศีลธรรมระหว่างช่วงเวลา “หมั้น” จึงเป็นเหตุผลที่เป็นไปได้แต่เพียงเหตุผลเดียวสำหรับการหย่าร้าง

แต่ในศัพท์ภาษากรีก คำว่า “การเล่นชู้” หมายถึงการผิดศีลธรรมทางเพศทุกชนิด มันอาจหมายถึง การผิดประเวณี, การเที่ยวโสเภณี, การนอกใจ, ฯลฯ เป็นไปได้ที่พระเยซูตรัสว่าให้มีการหย่าได้หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งผิดศีลธรรมทางเพศ ความสัมพันธ์ทางเพศคือส่วนหนึ่งของความผูกพันในการสมรสที่ทำให้ “เขาทั้งสองเป็นเนื้ออันเดียวกัน” (ปฐมกาล 2:24; มัทธิว 19:5; เอเฟซัส 5:31) ดังนั้นการตัดสายใยแห่งความผูกพันนั้นโดยการมีเพศสัมพันธ์นอกสมรสอาจเป็นเหตุผลที่พระคัมภีร์ยอมให้มีการหย่าร้างได้ พระเยซูทรงมีความคิดเกี่ยวกับการแต่งงานใหม่อยู่ในบริบทนี้ด้วยคำว่า “แล้วไปมีภรรยาใหม่” (มัทธิว 19:9) นี่แสดงให้เห็นว่ามีการอนุญาตให้มีการการหย่าร้างและ การแต่งงานใหม่ในกรณีที่เป็นไปตามข้อยกเว้น, ไม่ว่าจะมีการตีความหมายแบบไหนก็ตาม ที่สำคัญคือจงสังเกตว่าฝ่ายที่ไม่มีความผิดเท่านั้นที่ได้รับอนุญาตให้แต่งงานใหม่ได้ และแม้ว่าบริบทไม่ได้กล่าวไว้ แต่การอนุญาตให้มีการแต่งงานใหม่หลังการหย่าเป็นพระเมตตาของพระเจ้าต่อผู้ที่ถูกกระทำ ไม่ใช่ต่อผู้กระทำความผิดทางเพศ อาจมีบ้างที่ “ฝ่ายผิด” ได้รับอนุญาตให้แต่งงานใหม่ – แต่แนวความคิดนั้นพระคัมภีร์ไม่ได้สอนไว้

มีบางคนเข้าใจว่าข้อพระคัมภีร์ 1 โครินธ์ 7:15 เป็น “ข้อยกเว้น” อีกข้อหนึ่งที่อนุญาตให้มีการแต่งงานใหม่ได้หากคู่สมรสฝ่ายที่ไม่เชื่อหย่าขาดจากผู้เชื่อ แต่อย่างไรก็ตามบริบทนี้ไม่ได้พูดถึงการแต่งงานใหม่ เพียงแต่พูดว่า ไม่จำเป็นที่ผู้เชื่อจะต้องจำใจอยู่ด้วยกันหากคู่สมรสผู้ไม่เชื่อต้องการจะไป บางคนบอกว่าการกระทำทารุณ (ต่อคู่สมรสหรือลูก) ก็เป็นเหตุผลเพียงพอสำหรับการหย่าร้างแม้ว่าพระคัมภีร์จะไม่ได้มีบอกไว้ก็ตาม ถึงแม้ว่านี่จะเป็นสาเหตุจริง ๆ มันก็ไม่ใช่เรื่องฉลาดที่เราจะทึกทักเอาเองว่าพระคัมภีร์อนุญาต

บางครั้งการมัวแต่ถกกันเกี่ยวกับข้อยกเว้น ทำให้เราลืมความจริงไปว่า ไม่ว่า “ความไม่สัตย์ซื่อในการสมรส” จะหมายความว่าอย่างไร มันไม่ใช่ข้ออ้างเพื่อการหย่าร้าง แต่เป็นข้อผ่อนปรนให้มีการหย่าได้เท่านั้น แม้ว่าในขณะที่มีการนอกใจเกิดขึ้น โดยพระคุณของพระเจ้า สามีและภรรยาสามารถเรียนรู้ที่จะให้อภัยซึ่งกันและกัน และหันกลับมาสร้างชีวิตสมรสใหม่ได้ พระเจ้าทรงให้อภัยเรามากกว่านั้นมากนัก แน่นอนเราสามารถดูพระองค์เป็นตัวอย่างได้ และยิ่งกว่านั้นเรายังสามารถยกโทษบาปแห่งการนอกใจได้เหมือนกัน (เอเฟซัส 4:12) แต่ในหลายกรณี คู่สมรสไม่ยอมกลับใจใหม่และเลิกทำบาปทางเพศ ในกรณีนี้เราสามารถยกข้อพระคัมภีร์มัทธ19:9 มาใช้ได้ หลายคนรีบร้อนที่จะแต่งงานใหม่จนเกินไปหลังจากการหย่าร้าง ในขณะที่พระเจ้าอาจจะทรงมีพระประสงค์ให้เขาอยู่เป็นโสดก็ได้ บางครั้งพระเจ้าจะทรงเรียกให้คนบางคนอยู่เป็นโสดเพื่อที่เขาจะได้ไม่หันเหความสนใจของเขาไปที่ไหน (1 โครินธ์ 7:32-35) การแต่งงานใหม่หลังการหย่าร้างอาจเป็นทางเลือกในบางกรณี แต่นั่นไม่ได้หมายความว่ามันเป็นทางเลือกเดียวเท่านั้น

เป็นเรื่องน่าเศร้าที่อัตราการหย่าร้างในหมู่ผู้ที่อ้างตัวว่าเป็นคริสเตียนสูงเกือบจะพอ ๆ กับอัตราการหย่าร้างในหมู่ผู้ไม่เชื่อ พระคัมภีร์บอกไว้อย่างชัดเจนมากว่าพระเจ้าทรงเกลียดการหย่าร้าง (มาลาคี 2:16) และการคืนดี และการให้อภัยควรเป็นสัญญลักษณ์ของผู้เชื่อ (ลูกา 11:4; เอเฟซัส 4:32) แต่อย่างไรก็ตามพระเจ้าทรงตระหนักว่าจะต้องมีการหย่าร้างแม้แต่ในหมู่ลูก ๆ ของพระองค์ ดังนั้นผู้เชื่อที่ผ่านการหย่าร้างหรือสมรสใหม่ไม่ควรมีความรู้สึกว่าพระเจ้าทรงรักพวกเขาน้อยลง แม้ว่าการหย่าร้างหรือการสมรสใหม่นั้นจะไม่ได้อยู่ภายใต้ข้อยกเว้นในมัทธิว 19:9 ก็ตาม พระเจ้าทรงใช้แม้แต่ความบาปในการไม่เชื่อฟังของคริสเตียนเพื่อการดีของพระองค์เสมอ





พระคัมภีร์พูดอย่างไรเกี่ยวกับการหย่าและการแต่งงานใหม่?

ภรรยาต้องเชื่อฟังต่อสามีไหม?




คำถาม: ภรรยาต้องเชื่อฟังต่อสามีไหม?

คำตอบ:
นี่เป็นหัวข้อสำคัญมากที่เกี่ยวกับชีวิตสมรสและชีวิตประจำวันด้วย พระเจ้าทรงให้มีการเชื่อฟังเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในหนังสือปฐมกาล ในตอนแรก เนื่องจากความบาปยังไม่เกิดขึ้น มนุษย์จึงไม่ต้องจำนนต่ออำนาจบังคับบัญชาของใครนอกจากของพระเจ้า เมื่ออาดัมและเอวาไม่เชื่อฟังพระเจ้า ความบาปจึงเข้ามาในโลกและอำนาจบังคับบัญชาจึงเป็นสิ่งจำเป็น ดังนั้น พระเจ้าจึงได้ทรงสถาปนาอำนาจบังคับบัญชาขึ้นมาเพื่อบังคับให้กฎหมายของแผ่นดินเป็นไปตามนั้น และเพื่อให้เรามีเครื่องปกป้องคุ้มครอง ประการแรกเราจำเป็นที่จะต้องจำนนต่อพระเจ้าซึ่งเป็นทางเดียวที่เราจะเชื่อฟังพระองค์ได้อย่างแท้จริง (ยากอบ 1:21 และยากอบ 4:7) ในหนังสือ 1 โครินธ์ 11:2-3 เราจะเห็นว่าสามีจะต้องจำนนต่อพระคริสต์ดังเช่นที่พระคริสต์ทรงจำนนต่อพระเจ้า ต่อจากนั้นพระคัมภีร์บอกว่าภรรยาควรดูตัวอย่างจากสามี และจำนนต่อสามีของเธอ ข้อพระคัมภีร์อื่น ๆ ที่พูดเกี่ยวกับการจำนนต่อพระเจ้าของพระคริสค์อยู่ในหนังสือมัทธิว 26:39 และยอห์น 5:30.

การจำนนเป็นการตอบสนองตามธรรมชาติต่อผู้นำที่เต็มไปด้วยความรัก เมื่อสามีรักภรรยาเหมือนพระคริสต์ทรงรักคริสตจักร (เอเฟซัส 5:25-33), การจำนนเป็นการตอบสนองตามธรรมชาติจากภรรยาต่อสามีของเธอ รากศัพท์ของคำว่า ยอมฟัง (Hupotasso) เป็นคำต่อเนื่องของคำกริยา นั่นหมายความว่าการยอมฟังพระเจ้า, ผู้นำของเรา และสามีของเราไม่ได้เป็นการกระทำครั้งเดียว แต่เป็นการกระทำต่อเนื่องในความคิด ซึ่งกลายมาเป็นรูปแบบในความประพฤติ การยอมฟังที่หนังสือเอเฟซัสบทที่ 5 พูดถึง ไม่ใช่เป็นการยอมจำนนฝ่ายเดียวของผู้เชื่อ ต่อคนที่เห็นแก่ตัวและชอบกดขี่ผู้อื่น การจำนนตามแนวพระคัมภีร์คือการจำนนระหว่างผู้เชื่อสองคนที่เต็มล้นด้วยพระวิญญาณ โดยทั้งสองฝ่ายยอมพระเจ้าและซึ่งกันและกัน การยอมจำนนเป็นถนนสองทาง การจำนนเป็นสี่งที่มีเกียรติและมีความสมบูรณ์ เมื่อภรรยาได้รับความรักดังเช่นที่พระคริสต์ทรงรักคริสตจักร การจำนนไม่ใช่เรื่องยาก หนังสือ เอเฟซัส 5:24 กล่าวว่า “คริสตจักรยอมฟังพระคริสต์ฉันใด ภรรยาก็ควรยอมฟังสามีทุกประการฉันนั้น” พระคัมภีร์ข้อนี้บอกว่าภรรยาต้องจำนนต่อสามีทุกอย่างในเรื่องที่ถูกต้องและถูกกฎหมาย ภรรยาไม่มีเหตุผลอะไรที่จะไม่เชื่อฟังกฎหมายหรือละทิ้งความสำพันธ์กับพระเจ้า

ผู้หญิงคนแรกถูกสร้างขึ้นมาจากกระดูกซี่โครงด้านข้างของอาดัม ไม่ใช่ทางด้านศีรษะของเขาพื่อเป็นนายเหนือเขา, หรือทางด้านเท้าของเขาเพื่อให้เขาเหยียบย่ำ แต่จากด้านข้างเพื่อให้เสมอกับเขา, ใต้แขนของเขาเพื่อให้เขาปกป้องดูแล และใกล้หัวใจของเขาเพื่อเป็นที่รักของเขา คำว่า “จำนน” ในหนังสือเอเฟซัส 5:21 เป็นคำ ๆ เดียวกับในข้อ 5:22 ผู้เชื่อทุกคนถูกเรียกให้จำนนต่อซึ่งกันและกันด้วยความยำเกรงพระคริสต์ ข้อ 19-21 เป็นผลมาจากการเต็มล้นด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์ (5:18) ผู้เชื่อที่เต็มล้นด้วยพระวิญญาณถูกเรียกให้เป็นนักนมัสการ (5:19), ให้ขอบคุณพระเจ้า (5:20), ให้ยอมฟังกันและกัน (5:21) ต่อจากนั้นท่านอาจารย์เปาโลเขียนต่อไปเกี่ยวกับการมีชีวิตที่เต็มล้นด้วยพระวิญญาณแล้วนำมาใช้กับสามีและภรรยาในข้อ 22-33





ภรรยาต้องเชื่อฟังต่อสามีไหม?

พระคัมภีร์พูดเกี่ยวกับการแต่งงานข้ามเชื้อชาติไว้ว่าอย่างไร?




คำถาม: พระคัมภีร์พูดเกี่ยวกับการแต่งงานข้ามเชื้อชาติไว้ว่าอย่างไร?

คำตอบ:
กฎบัญญัติในพันธสัญญาเดิมสั่งคนอิสราเอลไม่ให้แต่งงานกับคนต่างชาติ (เฉลยธรรมบัญญัติ 7:3-4) เหตุผลก็คือว่าคนอิสราเอลอาจถูกนำให้ออกห่างจากพระเจ้าหากพวกเขาแต่งงานกับคนที่กราบไหว้รูปเคารพ, คนนอกศาสนา หรือ คนที่ไม่รู้จักพระเจ้า พันธสัญญาใหม่มีหลักการที่คล้ายกันแต่ต่างระดับกว่า คือ “ท่านอย่าเข้าเทียมแอกกับคนที่ไม่เชื่อ เพราะว่าความชอบธรรมจะมีหุ้นส่วนอะไรกับความอธรรม และความสว่างจะเข้าสนิทกับความมืดได้อย่างไร?” (2 โครินธ์ 6:14) เช่นเดียวกับที่คนอิสราเอล (ผู้เชื่อในพระเจ้าผู้ทรงเที่ยงแท้แต่พระองค์เดียว) ถูกสั่งห้ามไม่ให้แต่งงานกับผู้ที่ไม่เชื่อ คริสเตียน (ผู้เชื่อในพระเจ้าผู้ทรงเที่ยงแท้แต่พระองค์เดียว) ก็ถูกสั่งไม่ให้แต่งงานกับผู้ที่ไม่เชื่อเช่นเดียวกัน ดังนั้นคำตอบ คือ ไม่เลย พระคัมภีร์ไม่ได้บอกว่าการแต่งงานข้ามเชื้อชาติเป็นความผิด

คนเราควรถูกตัดสินเพราะความประพฤติของเขา ไม่ใช่สีผิว เราทุกคนควรระวังที่จะไม่แสดงการเลือกที่รักมักที่ชังหรือเหยียดสีผิว ต่อผู้อื่น (ยากอบ 2:1-10 ดู ข้อ 1 และ 9 เป็นพิเศษ) มาตรฐานของคริสเตียนทั้งชายและหญิงในการเลือกคู่ครองควรอยู่ที่การดูว่าคนที่เราสนใจอยู่นั้นเป็นคริสเตียนหรือไม่ (2 โครินธ์ 6:14) บังเกิดใหม่โดยความเชื่อในพระเยซูคริสต์หรือไม่ (ยอห์น 3:3-5) มาตรฐานของพระคัมภีร์ในการเลือกคู่สมรส คือ ความเชื่อในพระคริสต์, ไม่ใช่สีผิว การแต่งงานข้ามเชื้อชาติไม่ใช่เรื่องที่ผิดหรือถูก แต่เป็นเรื่องของสติปัญญา, วิจารณญาณ, และการอธิษฐาน

เหตุผลเดียวที่การแต่งงานข้ามเชื้อชาติควรได้รับการพิจารณาอย่างถี่ถ้วน คือ ความยุ่งยากที่คู่สมรสอาจจะต้องเจอเพราะคนอื่นอาจจะรับเขาทั้งคู่ได้ยาก คู่สมรสข้ามเชื้อชาติหลายคู่เจอการเหยียดสีผิวและการดูถูก ซึ่งบางครั้งรวมไปถึงครอบครัวของตัวเองด้วย นอกจากนั้นบางครั้งคู่สมรสข้ามเชื้อชาติอาจเจอปัญหาเมื่อลูกที่เกิดมามีสีผิวไม่เหมือนกับสีผิวของพ่อแม่หรือพี่น้อง ดังนั้นคู่รักข้ามเชื้อชาติจึงจำเป็นต้องพิจารณาเรื่องเหล่านี้และเตรียมพร้อมที่จะรับมือกับมันหากเขาต้องการจะแต่งงานกัน ขอย้ำอีกครั้งหนึ่งว่าพระคัมภีร์มีข้อจำกัดเกี่ยวกับการสมรสของคริสเตียนเพียงแค่ว่าอีกฝ่ายหนึ่งจะต้องเป็นอวัยวะในพระกายของพระคริสต์เท่านั้นเอง





พระคัมภีร์พูดเกี่ยวกับการแต่งงานข้ามเชื้อชาติไว้ว่าอย่างไร?

ฉันหย่าแล้ว ฉันจะแต่งงานใหม่ได้ไหมตามพระคัมภีร์?




คำถาม: ฉันหย่าแล้ว ฉันจะแต่งงานใหม่ได้ไหมตามพระคัมภีร์?

คำตอบ:
เราได้รับคำถามดังต่อไปนี้บ่อย ๆ “ฉันหย่าแล้วด้วยเหตุผลนั่นนี่ ฉันจะแต่งงานใหม่ได้ไหม” – หรือ – “ฉันหย่ามาแล้วสองครั้ง – ครั้งแรกเพราะสามีนอกใจ ครั้งที่สองเพราะเราเข้ากันไม่ได้ ตอนนี้ฉันกำลังคบอยู่กับผู้ชายที่หย่ามาแล้วสามครั้ง – ครั้งแรกเพราะเข้ากับภรรยาไม่ได้ ครั้งที่สองเพราะเขานอกใจภรรยา ครั้งที่สามเพราะภรรยานอกใจเขา เราจะแต่งงานกันได้ไหม?” คำถามแบบนี้ตอบยากมากเพราะพระคัมภีร์ไม่ได้ให้รายละเอียดไว้ว่าคนที่หย่าแล้วสามารถหรือไม่สามารถแต่งงานใหม่ได้เพราะอะไร

แต่ที่เรารู้แน่นอนก็คือ – พระเจ้าทรงเกลียดการหย่าร้าง (มาลาคี 2:16) แผนการของพระเจ้าคือให้คู่สมรสอยู่ด้วยกันตลอดชีวิต (ปฐมกาล 2:24; มัทธิว 19:6) เหตุผลเดียวที่พระเจ้าทรงอนุญาตให้มีการหย่าร้างได้คือเมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งนอกใจ (ปฐมกาล 2:24; มัทธิว 19:6) – แต่แม้แต่เหตุผลนี้คริสเตียนก็ยังถกเถียงกันอยู่ ความเป็นไปได้อีกประการหนึ่งก็คือการที่คู่สมรสที่ไม่เชื่อในพระเจ้าทิ้งคู่สมรสที่เชื่อไป (1 โครินธ์ 7:12-15) แต่ข้อพระคัมภีร์นี้ก็ไม่ได้บอกไว้ชัดเจนถึงการแต่งงานใหม่ นอกจากจะหนุนใจให้ยังอยู่ด้วยกัน สำหรับข้าพเจ้า ข้าพเจ้าคิดว่าการถูกทำร้ายทั้งทางร่างกาย เพศ หรือ ทางอารมณ์อย่างรุนแรงน่าจะมีเหตุผลพอที่จะทำให้เกิดการหย่าร้างหรือแต่งงานใหม่ได้ แต่พระคัมภีร์ไม่ได้สอนไว้อย่างชัดเจนเหมือนกัน

จากหัวข้อนี้ เรารู้แน่นอนอยู่สองประการคือ (1) พระเจ้าทรงเกลียดการหย่าร้าง (มาลาคี 2:16) (2) พระเจ้าทรงเมตตาและทรงให้อภัยเสมอ การหย่าร้างแต่ละครั้งเป็นผลมาจากความบาป ไม่ว่าจะเป็นความบาปของฝ่ายเดียวหรือของทั้งคู่ก็ตาม พระเจ้าทรงให้อภัยการหย่าร้างไหม? แน่นอนพระองค์ทรงให้อภัย! การหย่าร้างไม่ได้เป็นความบาปที่ทรงให้อภัยยากกว่าความบาปอย่างอื่น พระองค์ทรงให้อภัยความบาปทุกประเภทอยู่แล้วโดยทางความเชื่อในพระเยซูคริสต์ (มัทธิว 26:28; เอเฟซัส 1:7) เมื่อพระเจ้าทรงให้อภัยบาปเนื่องจากการหย่าร้างแล้ว มันหมายความว่าท่านเป็นอิสระที่จะแต่งงานใหม่ใช่ไหม? ไม่จำเป็น บางครั้งพระเจ้าทรงเรียกให้คนบางคนเป็นโสด (1 โครินธ์ 7:7-8) การอยู่เป็นโสดไม่ควรถูกมองว่าเป็นคำสาปแช่งหรือการลงโทษ แต่ควรจะถูกมองว่าเป็นโอกาสที่จะได้รับใช้พระเจ้าได้อย่างเต็มที่ (1 โครินธ์ 7:32-36) แต่พระวจนะของพระเจ้าได้บอกไว้ว่าแต่ถ้าเขายั้งใจไม่ได้ก็ให้เขาแต่งงานเสีย เพราะแต่งงานเสียก็ดีกว่ามีใจเร่าร้อนด้วยกามราคะ (1 โครินธ์ 7:9) บางทีนี่อาจจะหมายถึงการแต่งงานใหม่ก็ได้

ดังนั้นท่านแต่งงานใหม่ได้ไหมหรือควรแต่งงานใหม่ไหม? ข้าพเจ้าตอบคำถามนี้ไม่ได้ สุดท้ายแล้วมันก็ต้องขึ้นอยู่กับตัวของท่านเอง, คู่สมรสในอนาคต และที่สำคัญที่สุดคือพระเจ้า คำแนะนำเดียวที่ข้าพเจ้าให้ได้ก็คือให้ท่านอธิษฐานกับพระเจ้า ขอสติปัญญาจากพระองค์ว่าพระองค์ทรงมีพระประสงค์ที่จะให้ท่านทำอะไร (ยากอบ 1:5) จงอธิษฐานด้วยใจเปิด และขอพระเจ้าอย่างจริงใจให้พระองค์ทรงใส่ความปรารถนาของพระองค์เข้ามาในใจของท่าน (สดุดี 37:4) จงแสวงหาน้ำพระทัยของพระเจ้า (สุภาษิต 3:5-6) และทำตามน้ำพระทัยของพระองค์ นี่เป็นคำตอบที่ดีที่สุดที่ข้าพเจ้าจะให้ได้





ฉันหย่าแล้ว ฉันจะแต่งงานใหม่ได้ไหมตามพระคัมภีร์?

คู่สมรสที่เป็นคริสเตียนได้รับ/ไม่ได้รับอนุญาตให้ทำอะไรบ้างทางเพศ?




คำถาม: คู่สมรสที่เป็นคริสเตียนได้รับ/ไม่ได้รับอนุญาตให้ทำอะไรบ้างทางเพศ?

คำตอบ:
พระคัมภีร์บอกว่า “จงให้การสมรสเป็นที่นับถือแก่คนทั้งปวง และให้เตียงสมรสปราศจากความชั่วช้า เพราะคนมีชู้ และคนที่ล่วงประเวณีนั้น พระเจ้าจะทรงพิพากษาโทษเขา” (ฮีบรู 13:4) พระคัมภีร์ไม่ได้บอกไว้ว่าสามีและภรรยาได้รับหรือไม่ได้รับอนุญาตให้ทำอะไรบ้างทางเพศ สามีและภรรยาถูกสั่งว่า “อย่าปฏิเสธการอยู่ร่วมกันเว้นแต่ได้ตกลงกันเป็นการชั่วคราว” (1 โครินธ์ 7:5 ) ข้อพระคัมภีร์ข้อนี้อาจจะให้หลักการเกี่ยวกับความสัมพันธ์ทางเพศในชีวิตสมรสไว้ก็ได้ คือ ไม่ว่าจะทำอะไร ทั้งคู่จะต้องเห็นพ้องต้องกันเสียก่อน ไม่มีใครควรถูกชักชวนหรือบังคับให้ทำอะไรที่เขารู้สึกอึดอัดหรือคิดว่าผิด หากคู่สมรสตกลงใจด้วยกันว่าจะลองอะไรบางอย่าง (เช่น การใช้ปาก, ท่าที่แปลกออกไป, หรืออุปกรณ์ทางเพศ ฯลฯ) พระคัมภีร์ไม่ได้บอกว่าทำไมเขาทั้งสองจะลองไม่ได้

มีอะไรอยู่สองสามอย่างที่คู่สมรสไม่เคยได้รับอนุญาตให้ทำ “การสลับคู่” หรือ “การนำคนอื่นเพิ่มเข้ามา” คือการผิดประเวณีแน่นอน (กาลาเทีย 5:19; เอเฟซัส 5:3; โคโลสี 3:5; 1 เธสะโลนิกา 4:3) การผิดประเวณีเป็นความบาปแม้ว่าคู่สมรสของท่านจะยินยอม, เห็นด้วย หรือแม้แต่มีส่วนร่วมด้วยก็ตาม สื่อลามกเป็นตัวทำให้เกิด “ตัณหาของเนื้อหนัง และตัณหาของตา” (1 ยอห์น 2:16) ดังนั้นมันจึงทำให้พระเจ้าไม่พอพระทัยเช่นกัน นอกจากสองเรื่องนี้แล้ว พระคัมภีร์ไม่ได้ห้ามไว้อย่างเจาะจงว่าสามีและภรรยาทำต่อซึ่งกันและกันไม่ได้ - ตราบเท่าที่ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องต้องกัน





คู่สมรสที่เป็นคริสเตียนได้รับ/ไม่ได้รับอนุญาตให้ทำอะไรบ้างทางเพศ?