คำถามเกี่ยวกับครอบครัวและการเลี้ยงดูบุตร



คำถามเกี่ยวกับครอบครัวและการเลี้ยงดูบุตร





คำถามเกี่ยวกับครอบครัวและการเลี้ยงดูบุตร

พระคัมภีร์พูดเกี่ยวกับการเป็นพ่อ(แม่) ที่ดีว่าอย่างไร?




คำถาม: พระคัมภีร์พูดเกี่ยวกับการเป็นพ่อ(แม่) ที่ดีว่าอย่างไร?

คำตอบ:
การเป็นพ่อแม่อาจเป็นเรื่องยาก แต่มันก็ทำให้เรามีความรู้สึกเหมือนได้รับรางวัลและสมปรารถนาเช่นกัน พระเจ้าทรงมีอะไรมากมายที่จะตรัสเกี่ยวกับวิธีเลี้ยงดูลูกอย่างประสบความสำเร็จโดยการทำให้เขาเป็นคนที่อยู่ในทางของพระองค์ สิ่งแรกที่เราจะต้องทำคือการสอนให้เขารู้จักความจริงเกี่ยวกับพระวจนะของพระเจ้า

นอกจากจะรักพระเจ้าและเป็นตัวอย่างของคนที่อยู่ในทางของพระเจ้าด้วยการทำตามคำสั่งของพระองค์แล้ว เรายังจำเป็นจะต้อง “และพวกท่านจงอุตส่าห์สอนถ้อยคำเหล่านั้นแก่บุตรหลานของท่าน เมื่อท่านนั่งอยู่ในเรือน เดินอยู่ตามทาง และนอนลงหรือลุกขึ้น จงพูดถึงถ้อยคำนั้น จงเอาถ้อยคำเหล่านี้พันไว้ที่มือของท่านเป็นหมายสำคัญ และจงจารึกไว้ที่หว่างคิ้วของท่าน และเขียนไว้ที่เสาประตูเรือน และที่ประตูของท่าน” (เฉลยธรรมบัญญัติ 6:7-9) โดยการนำคำสอนที่พระเจ้าทรงให้กับคนฮีบรูมาประยุกต์ใช้ เราสอนบุตรหลานของเราว่าการนมัสการพระเจ้านั้นควรเป็นการกระทำตลอดเวลา ไม่ใช่เป็นเพียงการกระทำในวันอาทิตย์หรือในการอธิษฐานตอนกลางคืนเท่านั้น

แม้ว่าลูก ๆ ของเราจะได้เรียนรู้อย่างมากมายผ่านทางการสอนโดยตรงแล้ว พวกเขายังได้เรียนรู้โดยการดูจากเราด้วย นี่คือเหตุผลว่าทำไมเราจึงต้องระวังตัวอยู่ตลอดเวลา ประการแรกเราจะต้องยอมรับบทบาทของเราที่พระเจ้าทรงมอบให้ สามีและภรรยาควรจะต้องให้เกียรติและยอมฟังซึ่งกันและกัน (เอเฟซัส 5:21) พร้อมกันนั้นพระเจ้าได้ทรงกำหนดสิทธิอำนาจไว้ให้เพื่อให้เกิดความมีระเบียบ

หนังสือ 1 โครินธ์ 11:3 กล่าวว่า “แต่ข้าพเจ้าใคร่ให้ท่านเข้าใจว่า พระคริสต์ทรงเป็นศีรษะของชายทุกคน และชายเป็นศีรษะของหญิง และพระเจ้าทรงเป็นพระเศียรของพระคริสต์” เรารู้ว่าพระคริสต์ไม่ได้ด้อยไปกว่าพระเจ้า เหมือนกับที่ภรรยาไม่ได้ด้วยไปกว่าสามี แต่พระเจ้าทรงรู้ว่าหากไม่มีการจำนนต่อสิทธิอำนาจ ทุกสิ่งทุกอย่างก็จะก็ไม่เป็นระเบียบ ความรับผิดชอบของสามีในฐานะหัวหน้าครอบครัว คือ การรักภรรยาเหมือนกับรักร่างกายของตัวเอง แบบเดียวกับที่พระคริสต์ทรงรักคริสตจักรด้วยความเสียสละ (เอเฟซัส 5:25-29)

ในการตอบสนองต่อผู้นำที่เต็มไปด้วยความรัก มันไม่ใช่เรื่องยากที่ภรรยาจะยอมอยู่ภายใต้สิทธิอำนาจของสามี (เอเฟซัส 5:24, โคโลสี 3:18) ความรับผิดชอบเบื้องต้นของเธอ คือ การรักสามีและลูก ๆ ของเธอ, ใช้ชีวิตอยู่อย่างฉลาดและบริสุทธิ์ และดูแลบ้านเรือนของเธอ (ทิต้ส 2:4-5) ผู้หญิงจะเลี้ยงดูลูกได้เก่งกว่าผู้ชายเพราะผู้หญิงถูกสร้างขึ้นมาให้เป็นผู้ดูแลลูก ๆ

การตีสอนเป็นส่วนหนึ่งของการเป็นพ่อแม่ หนังสือสุภาษิต 13:24 กล่าวว่า “บุคคลที่สงวนไม้เรียวก็เกลียดบุตรชายของตน แต่ผู้ที่รักเขาพยายามตีสอนเขา” เด็ก ๆ ที่โตขึ้นมาในครอบครัวที่ไม่มีการตีสอนจะมีความรู้สึกว่าเขาไม่เป็นที่ต้องการและไร้ค่า พวกเขาจะไม่ทีทิศทางและขาดการควบคุมตัวเอง และเมื่อโตขึ้นเขาจะเป็นคนดื้อรั้นและไม่ค่อยเคารพต่อสิทธิอำนาจ รวมไปถึงสิทธิอำนาจของพระเจ้าด้วย “จงตีสอนบุตรชายของตนเมื่อยังมีความหวัง อย่าจงใจให้เขาถึงพินาศไป” (สุภาษิต 19:18)

ในเวลาเดียวกันการตีสอนต้องสมดุลกับความรัก ไม่เช่นนั้นเด็ก ๆ จะโตขึ้นด้วยความขุ่นเคืองใจ, เสียกำลังใจ และดื้อรั้น (โคโลสี 3:21) พระเจ้าทรงรู้ว่าการตีสอนนั้นเป็นเรื่องเจ็บปวดเมื่อต้องทำ (ฮีบรู 12:11) แต่หากมันเป็นการกระทำด้วยความรัก มันก็จะเป็นผลดีอย่างไม่น่าเชื่อกับเด็ก ๆ “ฝ่ายท่านผู้เป็นบิดาอย่ายั่วบุตรของตนให้เกิดโทสะ แต่จงอบรมบุตรด้วยการสั่งสอนและการเตือนสติตามหลักขององค์พระผู้เป็นเจ้า” (เอเฟซัส 6:4)

การให้เด็ก ๆ เข้ามาเกี่ยวข้องกับคริสตจักรและพันธกิจในขณะที่เขายังเล็กอยู่เป็นเรื่องสำคัญ การไปคริสตจักรที่เชื่อในพระคัมภีร์เป็นประจำ (ฮีบรู 10:25) จะช่วยให้เขาเห็นท่านศึกษาพระวจนะ และศึกษาร่วมกับพวกเขา จงคุยกับพวกเขาเกี่ยวกับโลกรอบ ๆ ตัวเขาตามที่เขาเห็น และสอนพวกเขาเกี่ยวกับพระสิริของพระเจ้าผ่านทางการดำเนินชีวิตในทุกวัน “จงฝึกเด็กในทางที่เขาควรจะเดินไป และเมื่อเขาเป็นผู้ใหญ่แล้ว เขาจะไม่พรากจากทางนั้น” (สุภาษิต 22:6)





พระคัมภีร์พูดเกี่ยวกับการเป็นพ่อ(แม่) ที่ดีว่าอย่างไร?

พระคัมภีร์พูดเกี่ยวกับพ่อที่เป็นคริสเตียนว่าอย่างไรบ้าง?




คำถาม: พระคัมภีร์พูดเกี่ยวกับพ่อที่เป็นคริสเตียนว่าอย่างไรบ้าง?

คำตอบ:
พระบัญญัติที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในพระคัมภีร์คือ “พวกท่านจงรักพระเยโฮวาห์พระเจ้าของท่าน ด้วยสุดจิตสุดใจ และด้วยสิ้นสุดกำลังของท่าน” (เฉลยธรรมบัญญัติ 6:5) เมื่อหันกลับไปดูข้อสอง พระคัมภีร์กล่าวว่า “เพื่อว่าพวกท่านจะได้ยำเกรงพระเยโฮวาห์พระเจ้าของท่านโดยรักษากฎเกณฑ์และพระบัญญัติของพระองค์ทั้งสิ้น ซึ่งข้าพเจ้าบัญชาท่าน ทั้งตัวท่านและบุตรหลานของท่าน ตลอดวันคืนแห่งชีวิตของท่านเพื่อว่าวันคืนของพวกท่านจะได้ยืนยาว” พระคัมภีร์ข้อต่อไปกล่าวว่า “และจงให้ถ้อยคำที่ข้าพเจ้าบัญชาพวกท่านในวันนี้อยู่ในใจของท่าน และพวกท่านจงอุตส่าห์สอนถ้อยคำเหล่านั้นแก่บุตรหลานของท่าน เมื่อท่านนั่งอยู่ในเรือน เดินอยู่ตามทาง และนอนลงหรือลุกขึ้น จงพูดถึงถ้อยคำนั้น” (ข้อ 6-7)

ประวัติศาสตร์ฮีบรูเปิดเผยว่าคนที่เป็นพ่อจะต้องขยันสอนลูกหลานของเขาให้อยู่ในทางและในพระคำของพระเจ้าเพื่อพวกเขาจะได้เจริญเติบโตฝ่ายวิญญาณและมีความผาสุขในชีวิต นี่คือสิ่งที่พ่อที่เชื่อฟังพระคัมภีร์ทำ ความ สำคัญของข้อพระคัมภีร์นี้คือเด็ก ๆ จะ “ได้รับการเลี้ยงดูและว่ากล่าวตักเตือนให้อยู่ในทางของพระเจ้า” นี่เป็นหน้าที่ในบ้านของผู้เป็นพ่อ ซึ่งนำเรามาถึงข้อพระคัมภีร์ในหนังสือสุภาษิต 22:6-11 โดยเฉพาะข้อ 6 ซึ่งกล่าวว่า: “จงฝึกเด็กในทางที่เขาควรจะเดินไป และเมื่อเขาเป็นผู้ใหญ่แล้ว เขาจะไม่พรากจากทางนั้น” การฝึก คือการสอนในขั้นแรกของพ่อแม่ เช่น ในการเรียนรู้เบื้องต้นของเขา การฝึกคือการสอนให้เด็กเห็นแบบอย่างชีวิตที่พ่อแม่ต้องการให้เขาเป็น การเริ่มการเรียนโดยให้เด็กเรียนรู้ด้วยวิธีนี้สำคัญมาก เหมือนต้นไม้ที่ขึ้นตามรูปแบบที่มันถูกดัดตั้งแต่ตอนปลูกใหม่ ๆ

ข้อพระคัมภีร์ในพันธสัญญาใหม่แสดงภาพคำสั่งที่ชัดเจนของพระเจ้าต่อผู้ที่เป็นพ่อเกี่ยวกับการเลี้ยงดูลูก หนังสือเอเฟซัส 6:4 คือการสรุปคำสั่งของพระองค์ต่อพ่อแม่, โดยมีพ่อเป็นตัวแทน, ที่มีทั้งในแง่ลบแลแง่บวก “ฝ่ายท่านผู้เป็นบิดาอย่ายั่วบุตรของตนให้เกิดโทสะ แต่จงอบรมบุตรด้วยการสั่งสอนและการเตือนสติตามหลักขององค์พระผู้เป็นเจ้า” ข้อพระคัมภีร์ตอนนี้ เป็นตอนที่พระคัมภีร์พูดเกี่ยวกับหน้าที่รับผิดชอบของพ่อในการเลี้ยงดูลูก ๆ แง่ลบของพระคัมภีร์ข้อนี้ชี้ให้เห็นว่าพ่อไม่ควรส่งเสริมให้ลูกมีความประทับใจที่ไม่ดีด้วยการแสดงความเข้มงวด, ความอยุติธรรม, ความลำเอียง หรือการใช้อำนาจโดยไม่มีเหตุผลออกมา การแสดงความประพฤติที่ไม่ดีต่อหน้าเด็กคือการปลูกฝังความชั่วร้ายในใจเขาเท่านั้น แง่บวกที่พระคัมภีร์บอกไว้คือ การสอนพวกเขา, เลี้ยงดูพวกเขา, พัฒนาความประพฤติในทุกด้านของเขาด้วยคำสั่งสอนและการตักเตือนตามหลักขององค์พระผู้เป็นเจ้า นี่คือขบวนการทั้งหมด ในการสั่งสอนและอบรม(โดยการเป็นตัวอย่างในฐานะพ่อ) คำว่า “ตักเตือน” หมายถึง “การเตือนความจำ” ของลูกถึงข้อผิดพลาด (ทางด้านการกระทำ) หรือหน้าที่ (ความรับผิดชอบตามระดับอายุและความเข้าใจ) ของเขา

เด็ก ๆ ไม่สมควรที่จะโตขึ้นมาโดยไม่ได้รับการเลี้ยงดูหรือควบคุม พวกเขาควรได้รับการสั่งสอน, ฝึกวินัย และตักเตือน เพื่อที่จะได้มีความรู้, รู้จักควบคุมตัวเอง และรู้จักเชื่อฟัง ขบวนการเรียนรู้ทั้งหมดควรเป็นระดับฝ่ายวิญญาณและเป็นเรื่องเกี่ยวกับคริสเตียน (ตามความหมายของคำว่าคริสเตียนที่แท้จริง) มันเป็น “การเลี้ยงดูและตักเตือนสั่งสอนของพระเจ้า” ซึ่งเป็นวิธีเดียวที่ถูกกำหนดไว้และเกิดผลเพื่อให้เด็ก ๆ จบการศึกษาได้ วิธีให้การศึกษาชนิดอื่นอาจจบลงด้วยความล้มเหลวก็ได้ พื้นฐานทางด้านคุณธรรมและฝ่ายวิญญาณของเรา มีความสำคัญและเป็นสากลพอ ๆ กับความรู้ ดังนั้นเรื่องฝ่ายวิญญาณจึงเป็นสิ่งจำเป็นในการพัฒนาความคิดและความรู้ หนังสือสุภาษิตบอกเราอีกครั้งหนึ่งว่า “ความยำเกรงพระเจ้าเป็นบ่อเกิดของความรู้”

พ่อที่เป็นคริสเตียนคืออุปกรณ์ในพระหัตถ์ของพระเจ้าในเรื่องเกี่ยวกับการเป็นพ่อ เนื่องจากการเป็นคริสเตียนคือศาสนาที่แท้จริงเพียงศาสนาเดียว และพระเจ้าในพระคริสต์คือพระเจ้าผู้ทรงเที่ยงแท้แต่เพียงพระองค์เดียว ดังนั้นวิธีที่เป็นไปได้วิธีเดียวในการให้การศึกษาที่เป็นประโยชน์กับลูก คือ วิธีที่มาจากการอบรมสั่งสอนจากพระเจ้า ขบวนการทั้งหมดของการสั่งสอนและฝึกอบรมต้องมาจากเงื่อนไขของพระองค์ (พระเจ้า) และมาจากพระองค์ เพื่อที่สิทธิอำนาจของพระองค์จะสัมผัสกับความคิด, จิตใจ และจิตสำนึกของเด็กได้ พ่อที่เป็นมนุษย์ไม่ควรแสดงว่าตัวคือผู้ที่มีอำนาจสูงสุดในการตัดสินใจ เพราะนั่นคือการสร้างความสำคัญให้กับ “ตัวเอง” ด้วยการให้พระเจ้า, พระเจ้าในพระคริสต์, เป็นผู้สอนและผู้นำ ผู้ทรงมีสิทธิอำนาจในทุกอย่างที่เราจะต้องเชื่อฟังและทำตามเท่านั้น ผลของการอบรมสั่งสอนจึงจะเกิดขึ้นได้

คำแนะนำผู้ที่เป็นพ่อจากพระคัมภีร์เป็นสิ่งที่ดีที่สุดจากพระเจ้าเสมอ เรามีแนวโน้มที่จะลดมาตรฐานของพระองค์ลงมาเสมอกับมาตรฐานและประสบการณ์ของเราเสมอ คำถามของท่านคือถามว่าพระคัมภีร์พูดอย่างไรเกี่ยวกับการเป็นพ่อ และข้าพเจ้าก็ได้พยายามตอบคำถามนั้น จากการเป็นพ่อของลูกชายสามคน ข้าพเจ้าได้พบว่าข้าพเจ้าล้มเหลวมากแค่ไหนจากมาตรฐานของพระคัมภีร์ แต่นั่นไม่ได้ทำให้ข้อพระคัมภีร์, ความจริง และสติปัญญาของของพระเจ้าผิดไปด้วยการพูดว่า “พระคัมภีร์ใช้การไม่ได้”

ข้าพเจ้าขอสรุปจากสิ่งที่พูดไปแล้วว่า คำว่า “ยั่วยุ” หมายถึง ชวนให้โมโห, แหย่ให้โกรธ, ถูผิดด้าน, ยุยงส่งเสริม, ฯลฯ การกระทำเช่นนี้เป็นการกระทำโดยวิญญาณไม่ถูกต้องและเป็นวิธีที่ผิด เช่น การใช้ความเข้มงวดกวดขัน, ความไม่มีเหตุผล, ความเกรี้ยวกราด, ความรุนแรง, การเรียกร้องที่โหดร้าย, ข้อจำกัดที่ไม่จำเป็น และความดื้อรั้นในการใช้อำนาจอย่างเห็นแก่ตัว การยั่วยุเช่นนี้จะทำให้ลูกมีปฏิกิริยาต่อต้าน, หมดความรัก, ตรวจสอบความต้องการที่จะเป็นคริสเตียนของเขา, และทำให้เขามีความรู้สึกว่าเขาทำให้พ่อแม่พอใจไม่ได้ (ข้าพเจ้ารู้ เพราะเคยเป็นและเคยทำ มาก่อน) พ่อหรือแม่ที่ฉลาด (ข้าพเจ้าอยากฉลาดกว่านั้นในตอนนั้น) ควรทำให้ลูกอยากเชื่อฟังเพราะความรักและความอ่อนโยนจากเรา พ่อและแม่ไม่ควรเป็นผู้ปกครองที่ชอบกดขี่ข่มเหงลูก และไม่มีวิญญาณของพระเจ้าอยู่ในตัว

มาร์ติน ลูเธอร์ กล่าวว่า “จงเก็บผลแอบเปิ้ลไว้ใกล้ ๆ ไม้เรียว เพื่อให้รางวัลลูกเมื่อเขาทำดี” การอบรมสั่งสอนโดยทั่วไปควรทำด้วยความเอาใจใส่และฝึกฝนอย่างสม่ำเสมอและด้วยการอธิษฐาน การลงโทษ, การลงวินัย และการให้คำปรึกษาโดยพระวจนะของพระเจ้า ทั้งการตำหนิและการหนุนใจเมื่อจำเป็น คือ “การว่ากล่าวตักเตือน” คำสั่งสอนที่มาจากพระเจ้าพ่อแม่สามารถเรียนรู้และนำมาใช้ได้จากประสบการณ์ของการเป็นคริสเตียน การว่ากล่าวตักเตือนแบบคริสเตียนเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อป้องกันไม่ให้ลูก ๆ โตขึ้นโดยไม่มีความยำเกรงพระเจ้า, เคารพสิทธิอำนาจของพ่อแม่, มีความรู้ตามมาตรฐานของคริสเตียน และมีความยับยั้งชั่งใจ

“พระคัมภีร์ทุกตอนได้รับการดลใจจากพระเจ้า และเป็นประโยชน์ในการสอน การตักเตือนว่ากล่าว การปรับปรุงแก้ไขคนให้ดี และการอบรมในทางธรรม เพื่อคนของพระเจ้าจะพรักพร้อมที่จะกระทำการดีทุกอย่าง” (2 ทิโมธี 3:16-17) นี่คือสิ่งที่พระคัมภีร์พูดไว้เกี่ยวกับการเป็นพ่อ วิธีที่พ่อจะนำมาใช้เพื่อสอนความจริงของพระเจ้าจะแตกต่างกันออกไป แต่ความจริงเหล่านั้นควรสามารถนำมาใช้ได้ตลอดชีวิต เมื่อพ่อสัตย์ซื่อในการเป็นตัวอย่าง สิ่งที่ลูกได้เรียนรู้เกี่ยวกับพระเจ้าจะช่วยให้เขามั่นคงตลอดชีวิตของเขา ไม่ว่าเขาจะทำอะไรหรือไปอยู่ที่ไหนก็ตาม เขาจะเรียนรู้ที่จะ “รักพระเจ้าด้วยสุดใจ สุดจิตและสุดกำลังของเขา” และต้องการที่จะปรนนิบัติพระองค์ในทุกสิ่งที่เขาทำ





พระคัมภีร์พูดเกี่ยวกับพ่อที่เป็นคริสเตียนว่าอย่างไรบ้าง?

พระคัมภีร์พูดอะไรบ้างเกี่ยวกับการเป็นแม่ที่เป็นคริสเตียน?




คำถาม: พระคัมภีร์พูดอะไรบ้างเกี่ยวกับการเป็นแม่ที่เป็นคริสเตียน?

คำตอบ:
บทบาทของการเป็นแม่เป็นบทบาทที่สำคัญที่พระเจ้าทรงมอบให้กับผู้หญิงหลายคน ในหนังสือทิตัส แม่ถูกสอนให้รักลูก ๆ ของตน: “เพื่อเขาจะได้ฝึกสอนพวกผู้หญิงสาวๆให้รู้จักประมาณตนในการกินดื่ม ให้รักสามีและรักบุตรของตน ให้มีสติสัมปชัญญะ เป็นคนบริสุทธิ์ เอาใจใส่ในบ้านเรือน เป็นคนดี และเชื่อฟังสามีของตน เช่นนี้จึงจะไม่มีผู้ใดลบหลู่พระวจนะของพระเจ้าได้” ในหนังสืออิสยาห์ 49:15ก พระคัมภีร์กล่าวว่า “ผู้หญิงจะลืมบุตรที่ยังกินนมของนาง และจะไม่เมตตาบุตรชายจากครรภ์ของนางได้หรือ "แม้ว่าคนเหล่านี้ยังลืมได้ กระนั้นเราก็จะไม่ลืมเจ้า” ความเป็นแม่เริ่มตอนไหน?

เด็ก ๆ เป็นของขวัญจากพระเจ้า (สดุดี 127:3-5) ในหนังสือทิต้ส 2:4 มีคำว่า “phileoteknos” ซึ่งเป็นภาษากรีกซึ่งหมายถึงความรักชนิดพิเศษ “ของแม่” ความหมายของคำ ๆ นี้คือการ “ฝักใฝ่” อยู่กับลูก ๆ , คอย “เลี้ยงดู”, “ทะนุบำรุง” พวกเขา, “อ้าแขนต้อนรับพวกเขาด้วยความรัก”, “ให้สิ่งที่พวกเขาจำเป็น”, “ให้ความเป็นเพื่อนด้วยความอ่อนโยน” ปฏิกิริยาแต่ละชนิดที่กล่าวมานี้มีความเป็นความพิเศษจากพระหัตถ์ของพระเจ้า เราถูกสั่งไว้ในพระคัมภีร์ให้มอง “ความรักของแม่” ว่าเป็นหน้าที่ของเรา ทั้งพ่อและแม่ถูกสั่งให้ทำหลายอย่างตามพระวจนะของพระเจ้า:

พร้อมทุกเวลา - เช้า, เที่ยง, เย็น และกลางคืน (เฉลยธรรมบัญญัติ 6:6-7)

พัวพัน - สอดแทรก, ให้คำปรึกษา, คิดและดำเนินชีวิตด้วยกัน (เอเฟซัส 6:4)

สอน – พระคัมภีร์, มุมมองด้านพระคัมภีร์ (สดุดี 78:5-6, เฉลยธรรมบัญญัติ 4:10, เอเฟซัส 6:4)

ฝึก – ช่วยลูกให้พัฒนาทักษะและค้นพบความสามารถของเขา (สุภาษิต 22:6)

สั่งสอนอบรม – สอนเกี่ยวกับความยำเกรงพระเจ้า, ขีดเส้นอย่างสม่ำเสมอ, ด้วยความรัก, ความเด็ดขาด (เอเฟซัส 6:4, ฮีบรู 12:5-11, สุภาษิต 13:24, 19:18, 22:15, 23:13-14, 29:15-17)

ทะนุถนอมเลี้ยงดู – พร้อมเสมอที่จะให้คำสนับสนุน, ให้เสรีภาพในการทำผิดพลาด, ให้การยอมรับ, ให้ความเสน่หา, ให้ความรักที่ไม่มีเงื่อนไข (ทิตัส 2:4, 2 ทิโมธี 1:7, เอเฟซัส 4:29-32, 5:1-2, กาลาเทีย 5:22, 1 เปโตร 3:8-9)

เป็นตัวอย่างอย่างมั่นคง – ทำตามคำพูด, เป็นตัวอย่างที่ลูกสามารถเรียนรู้ได้จากการ “เห็นภาพ” ความสำคัญของการมีความประพฤติแบบคนของพระเจ้า (เฉลยธรรมบัญญัติ 4:9, 15, 23; สุภาษิต 10:9, 11:3; สดุดี 37:18, 37)

พระคัมภีร์ไม่ได้สั่งให้ผู้หญิงทุกคนเป็นแม่ แต่ได้พูดว่าผู้ที่พระเจ้าทรงอวยพรให้เป็นแม่ควรมีความรับผิดชอบในหน้าที่ของตนอย่างจริงจัง แม่มีบทบาทที่พิเศษและสำคัญยิ่งในชีวิตของลูก การเป็นแม่ไม่ใช่งานที่น่าเบื่อหรือไม่สนุก ดังที่แม่ได้อุ้มท้องลูกมาจนคลอด เลี้ยงดูเขาในขณะที่เขายังเป็นทารก แม่มีหน้าที่ต่อไปในชีวิตของลูกเมื่อเขาโตขึ้น, เข้าสู่วัยรุ่น, วัยหนุ่มสาว และ จนกระทั่งเขาโตเป็นผู้ใหญ่ ในขณะเดียวกับที่บทบาทของแม่ต้องเปลี่ยนและพัฒนาไปตามการเจริญเติบโตของลูก – ความรัก, การเอาใจใส่ดูแล, การเลี้ยงดู และการให้กำลังใจลูกไม่ควรหยุดลง





พระคัมภีร์พูดอะไรบ้างเกี่ยวกับการเป็นแม่ที่เป็นคริสเตียน?

คริสเตียนควรอบรมสั่งสอนบุตรหลานของตนอย่างไร? พระคัมภีร์พูดว่าอย่างไร?




คำถาม: คริสเตียนควรอบรมสั่งสอนบุตรหลานของตนอย่างไร? พระคัมภีร์พูดว่าอย่างไร?

คำตอบ:
ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมาการตีเพื่อสอนเด็ก ๆ เป็นที่ยอมรับ แต่ในปัจจุบันการตีเพื่อสอน (และการลงโทษในรูปแบบอื่น ๆ) ถูกเปลี่ยนเป็น “การใช้เวลานอก” และการลงโทษอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวกับการแตะต้องร่างกายแทน การตีเพื่อสอนเด็กถูกลงความเห็นว่าผิดกฎหมายในบางประเทศ พ่อแม่หลายคนกลัวที่จะตีเพื่อสอนลูกเพราะกลัวถูกรายงานต่อรัฐแล้วรัฐจะมาเอาลูกไป โปรดอย่าเข้าใจผิด – เราไม่ได้กำลังพูดถึงการทำร้ายเด็ก – เด็กไม่ควรถูกสั่งสอนด้วยการลงโทษทางร่างกายจนกระทั่งบาดเจ็บ พระคัมภีร์สอนว่า การสั่งสอนที่เหมาะสมและการไม่ทำโทษฝ่ายร่างกายเป็นเรื่องดี และเป็นการช่วยให้เด็กได้ดีและได้รับการเลี้ยงดูให้โตเป็นผู้ใหญ่อย่างเหมาะสม

ที่จริงแล้วข้อพระคัมภีร์หลายข้อสนับสนุนการอบรมสั่งสอนด้วยการตีเพื่อสอน “จงอย่าพลาดที่จะว่ากล่าวตักเตือนลูก ๆ ของท่าน พวกเขาไม่ตายหรอกหากท่านตีเพื่อสอนเขา การตีเพื่อสอนอาจช่วยให้เขารอดจากความตายได้” มีข้อพระคัมภีร์อื่น ๆ อีกด้วยที่สนับสนุนการตีเพื่อสอน (สุภาษิต 13:24, 22:15, 20:30) พระคัมภีร์เน้นมากถึงความสำคัญของการมีวินัย มันเป็นอะไรที่เราทุกคนต้องมีเพื่อที่จะเป็นคนที่เกิดผล และมันจะง่ายขึ้นหากเราเรียนรู้เกี่ยวกับมันตั้งแต่ตอนที่เราเป็นเด็ก เด็ก ๆ ที่ไม่ได้รับการฝึกวินัยจะโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดื้อรั้น, ไม่เคารพสิทธิอำนาจ, และผลที่ติดตามมาคือแน่นอนว่าพวกเขาจะไม่พร้อมที่จะติดตามพระเจ้าด้วย พระเจ้าทรงใช้การฝึกสอนเพื่อที่จะว่ากล่าวตักเตือนเราและนำเราไปในทางที่ถูกต้อง และหนุนใจให้เรากลับใจใหม่จากการกระทำของเรา (สดุดี 94:12; สุภาษิต 1:7, 6:23, 12:1, 13:1, 15:5; อิสยาห์ 38:16; ฮีบรู 12:9) นี่เป็นเพียงพระคัมภีร์ไม่กี่ข้อเกี่ยวกับการฝึกสอนที่ดี

ปัญหาอยู่ตรงนี้; หลายครั้งที่พ่อแม่อ่อนเกินไปหรือแข็งเกินไปเมื่อพูดถึงการเลี้ยงดูลูก ๆ พ่อแม่ที่ไม่เชื่อในการตีเพื่อสอนบางครั้งขาดความสามารถในการว่ากล่าวตักเตือนและฝึกอบรมลูกอย่างถูกต้อง จึงทำให้ลูกโตขึ้นอย่างเกกมะเหรกเกเรและดึ้อรั้น ความประพฤติเช่นนี้ในระยะยาวแล้วเป็นการทำร้ายเด็ก “ไม้เรียวและคำตักเตือนให้เกิดปัญญา แต่ถ้าปล่อยเด็กไว้แต่ลำพังจะนำความอับอายมาสู่มารดาของตน” (สุภาษิต 29:15) แล้วยังมีพ่อแม่อีกประเภทหนึ่งอีกที่ตีความหมายของคำว่าตักเตือนสั่งสอนในพระคัมภีร์ผิด (หรืออาจเป็นคนที่ชอบทำร้ายคนอื่นก็ได้) และใช้พระคัมภีร์เป็นข้ออ้างในการทำร้ายลูก ๆ

การลงวินัยคือการแก้ไขและฝึกให้คนเดินไปในทางที่ถูกต้อง “เมื่อมีการตีสอนนั้นดูไม่เป็นที่ชื่นใจเลย เป็นเรื่องเศร้าใจ แต่ต่อมาภายหลังก็จะก่อให้เกิดความสุขสำราญแก่บรรดาคนที่ต้องทนอยู่นั้น คือความชอบธรรมนั้นเอง” (ฮีบรู 12:11) การลงวินัยของพระเจ้าเป็นการกระทำด้วยความรัก ซึ่งควรจะเป็นการกระทำระหว่างพ่อหรือแม่และลูก การตีเพื่อสอนไม่ควรทำให้เกิดความบาดเจ็บ แต่ควรเป็นการตีเบา ๆ เร็ว ๆ (ที่ก้นซึ่งมีเบาะรองมากที่สุด) เพื่อสอนเด็กว่าสิ่งที่เขาทำนั้นผิดแต่พ่อแม่รับได้ การตีไม่ควรเป็นการระบายอารมณ์โกรธและผิดหวังของเราลงที่ลูก หรือเป็นการกระทำที่คุมไม่อยู่

“ฝ่ายท่านผู้เป็นบิดาอย่ายั่วบุตรของตนให้เกิดโทสะ แต่จงอบรมบุตรด้วยการสั่งสอนและการเตือนสติตามหลักขององค์พระผู้เป็นเจ้า” (เอเฟซัส 6:4) การเลี้ยงดูลูก “ตามหลักขององค์พระผู้เป็นเจ้า” รวมไปถึงการลงวินัยทางกายที่ไม่รุนแรงแต่มาจากความรักด้วย





คริสเตียนควรอบรมสั่งสอนบุตรหลานของตนอย่างไร? พระคัมภีร์พูดว่าอย่างไร?

พระคัมภีร์พูดว่าอย่างไรเกี่ยวกับการคุมกำเนิดของคริสเตียน? การคุมกำเนิดถูกต้องไหม?




คำถาม: พระคัมภีร์พูดว่าอย่างไรเกี่ยวกับการคุมกำเนิดของคริสเตียน? การคุมกำเนิดถูกต้องไหม?

คำตอบ:
พระเจ้าทรงอวยพรให้มนุษย์ “มีลูกดกและทวีคูณ” (ปฐมกาล 1:28) และการสมรสถูกสถาปนาขึ้นมาโดยพระเจ้าให้เป็นบรรยกาศที่มั่นคงในการเลี้ยงดูเด็ก ๆ ในสังคมของเรา บ่อยครั้งเด็ก ๆ ถูกมองว่าเป็นตัวยุ่งและเป็นภาระ เป็นตัวขวางอาชีพ, เปลืองเงิน และทำให้ “ชีวิตทางสังคมของท่านยุ่งเหยิง” บ่อยครั้งความเห็นแก่ตัวคือที่มาของการใช้ยาคุมกำเนิด

หนังสือปฐมกาล 38 พูดถึงเอร์และโอนันลูกของยูดาห์ เอร์แต่งงานกับหญิงสาวคนหนึ่งชื่อทามาร์ แต่เอร์เป็นคนชั่วร้าย พระเจ้าจึงทรงประหารเขาเสีย จึงทำให้ทามาร์ไม่มีทั้งสามีและลูก ทามาร์จึงถูกยกให้แต่งงานกับโอนันผู้เป็นน้องชายของเอร์ตามกฎของคนเลวีในหนังสือเฉลยธรรมบัญญัติ 25:5-6 แต่โอนันไม่อยากให้สมบัติของเขาตกเป็นของลูก ๆ ที่จะเกิดจากทามาร์เพระรู้ว่าเด็ก ๆ จะไม่ได้เป็นผู้สืบเชื้อสายของเขาแต่เป็นของพี่ชาย ดังนั้นเขาจึงใช้วิธีคุมกำเนิดที่เก่าที่สุด หนังสือปฐมกาล 38:10 กล่าวว่า “สิ่งที่โอนันกระทำนั้นผิด พระองค์จึงทรงประหารชีวิตเขาเสีย” เจตนารมณ์ของโอนันเป็นเจตนารมณ์ที่เห็นแก่ตัว: เขาใช้ทามาร์เพื่อความเพลิดเพลินใจของตัวเอง แต่ไม่ยอมทำหน้าที่ของ “น้องชาย” ในการสืบเชื้อสายให้กับพี่ชายที่เสียชีวิตไปแล้ว ข้อพระคัมภีร์นี้ถูกยกขึ้นมาเป็นหลักฐานบ่อย ๆ ว่าพระเจ้าทรงไม่อนุมัติการคุมกำเนิด การคุมกำเนิดไมได้เป็นสาเหตุให้พระเจ้าทรงประหารชีวิตโอนัน แต่ความคิดที่เห็นแก่ตัวของเขาต่างหากที่เป็นต้นเหตุ

ข้อพระคัมภีร์ต่อไปนี้พูดถึงเด็ก ๆ จากมุมมองของพระเจ้า: เด็ก ๆ เป็นของขวัญจากพระเจ้า (ปฐมกาล 4:1; ปฐมกาล 33:5) เด็ก ๆ เป็นมรดกจากพระเจ้า (สดุดี 127:3-5) เด็ก ๆ คือพระพรจากพระเจ้า (ลูกา 1:42) 17:6 หลานๆเป็นมงกุฎของคนแก่ (สุภาษิต 17:6) พระเจ้าทรงอวยพรหญิงหมันด้วยเด็ก ๆ (สดุดี 113:9 ปฐมกาล 21:1-3; 25:21-22; 30:1-2; 1 ซามูเอล 1:6-8; ลูกา 1:7, 24-25) พระเจ้าทรงสร้างเด็ก ๆ ขึ้นภายในครรภ์ของมารดา (สดุดี 139:13-16) พระเจ้าทรงรู้จักเด็ก ๆ ก่อนที่เขาจะคลอดจากครรภ์ (เยเรมีย์ 1:5; กาลาเทีย 1:15)

การมองเด็ก ๆ ตามมุมมองของพระเจ้าเป็นเรื่องสำคัญ ไม่ใช่ตามที่โลกบอกเราว่าเราควรจะมองพวกเขาอย่างไร แต่พระคัมภีร์ไม่ได้ห้ามการคุมกำเนิด การคุมกำเนิด ตามคำจำกัดความของมัน คือสิ่งที่ตรงกันข้ามกับการให้กำเนิด การคุมกำเนิดโดยตัวของมันเองไม่ได้เป็นตัวกำหนดว่ามันเป็นสิ่งที่ผิดหรือถูก แต่ความคิดเบื้องหลังการกระทำดังที่เราได้เรียนจากเรื่องของโอนันต่างหากที่เป็นตัวกำหนดว่าการกระทำนั้นผิดหรือถูก หากคนที่คุมกำเนิดคุมเพราะเขาจะได้ไม่ต้องลำบาก การกระทำนั้นผิดแน่นอน แต่หากเขาคุมกำเนิดเพื่อค่อยมีลูกเมื่อเขาเป็นผู้ใหญ่มากกว่านี้และมีสถานภาพทางการเงินมั่นคงกว่าปัจจุบัน และมีความพร้อมทางจิตวิญญาณมากกว่านี้ บางทีการคุมกำเนิดชั่วระยะเวลาหนึ่งอาจเป็นที่ยอมรับได้ แต่ที่พูดมาทั้งหมดก็ยังขึ้นอยู่กับท่าทีในความคิดอยู่นั่นเอง

พระคัมภีร์แสดงให้เห็นเสมอว่าการมีลูกเป็นสิ่งที่ดี พระคัมภีร์ “คาดหวัง” ว่าสามีภรรยาจะต้องมีลูก พระคัมภีร์ชี้ให้เห็นเสมอว่าการไม่มีลูกเป็นสิ่งที่ไม่ดี ไม่มีใครในพระคัมภีร์แสดงความปรารถนาที่จะไม่มีลูก เราเชื่อว่าคู่สมรสควรพยายามที่จะมีลูก ในเวลาเดียวกัน เราไม่เชื่อว่าเราสามารถใช้ข้อพระคัมภีร์มาเถียงได้ว่าการคุมกำเนิดชั่วคราวเป็นสิ่งที่ผิด คู่สมรสทุกคู่ควรแสวงหาน้ำพระทัยของพระเจ้าว่าเมื่อไหร่เขาพร้อมที่จะมีลูก และควรมีกี่คน





พระคัมภีร์พูดว่าอย่างไรเกี่ยวกับการคุมกำเนิดของคริสเตียน? การคุมกำเนิดถูกต้องไหม?

ภรรยาต้องเชื่อฟังต่อสามีไหม?




คำถาม: ภรรยาต้องเชื่อฟังต่อสามีไหม?

คำตอบ:
นี่เป็นหัวข้อสำคัญมากที่เกี่ยวกับชีวิตสมรสและชีวิตประจำวันด้วย พระเจ้าทรงให้มีการเชื่อฟังเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในหนังสือปฐมกาล ในตอนแรก เนื่องจากความบาปยังไม่เกิดขึ้น มนุษย์จึงไม่ต้องจำนนต่ออำนาจบังคับบัญชาของใครนอกจากของพระเจ้า เมื่ออาดัมและเอวาไม่เชื่อฟังพระเจ้า ความบาปจึงเข้ามาในโลกและอำนาจบังคับบัญชาจึงเป็นสิ่งจำเป็น ดังนั้น พระเจ้าจึงได้ทรงสถาปนาอำนาจบังคับบัญชาขึ้นมาเพื่อบังคับให้กฎหมายของแผ่นดินเป็นไปตามนั้น และเพื่อให้เรามีเครื่องปกป้องคุ้มครอง ประการแรกเราจำเป็นที่จะต้องจำนนต่อพระเจ้าซึ่งเป็นทางเดียวที่เราจะเชื่อฟังพระองค์ได้อย่างแท้จริง (ยากอบ 1:21 และยากอบ 4:7) ในหนังสือ 1 โครินธ์ 11:2-3 เราจะเห็นว่าสามีจะต้องจำนนต่อพระคริสต์ดังเช่นที่พระคริสต์ทรงจำนนต่อพระเจ้า ต่อจากนั้นพระคัมภีร์บอกว่าภรรยาควรดูตัวอย่างจากสามี และจำนนต่อสามีของเธอ ข้อพระคัมภีร์อื่น ๆ ที่พูดเกี่ยวกับการจำนนต่อพระเจ้าของพระคริสค์อยู่ในหนังสือมัทธิว 26:39 และยอห์น 5:30.

การจำนนเป็นการตอบสนองตามธรรมชาติต่อผู้นำที่เต็มไปด้วยความรัก เมื่อสามีรักภรรยาเหมือนพระคริสต์ทรงรักคริสตจักร (เอเฟซัส 5:25-33), การจำนนเป็นการตอบสนองตามธรรมชาติจากภรรยาต่อสามีของเธอ รากศัพท์ของคำว่า ยอมฟัง (Hupotasso) เป็นคำต่อเนื่องของคำกริยา นั่นหมายความว่าการยอมฟังพระเจ้า, ผู้นำของเรา และสามีของเราไม่ได้เป็นการกระทำครั้งเดียว แต่เป็นการกระทำต่อเนื่องในความคิด ซึ่งกลายมาเป็นรูปแบบในความประพฤติ การยอมฟังที่หนังสือเอเฟซัสบทที่ 5 พูดถึง ไม่ใช่เป็นการยอมจำนนฝ่ายเดียวของผู้เชื่อ ต่อคนที่เห็นแก่ตัวและชอบกดขี่ผู้อื่น การจำนนตามแนวพระคัมภีร์คือการจำนนระหว่างผู้เชื่อสองคนที่เต็มล้นด้วยพระวิญญาณ โดยทั้งสองฝ่ายยอมพระเจ้าและซึ่งกันและกัน การยอมจำนนเป็นถนนสองทาง การจำนนเป็นสี่งที่มีเกียรติและมีความสมบูรณ์ เมื่อภรรยาได้รับความรักดังเช่นที่พระคริสต์ทรงรักคริสตจักร การจำนนไม่ใช่เรื่องยาก หนังสือ เอเฟซัส 5:24 กล่าวว่า “คริสตจักรยอมฟังพระคริสต์ฉันใด ภรรยาก็ควรยอมฟังสามีทุกประการฉันนั้น” พระคัมภีร์ข้อนี้บอกว่าภรรยาต้องจำนนต่อสามีทุกอย่างในเรื่องที่ถูกต้องและถูกกฎหมาย ภรรยาไม่มีเหตุผลอะไรที่จะไม่เชื่อฟังกฎหมายหรือละทิ้งความสำพันธ์กับพระเจ้า

ผู้หญิงคนแรกถูกสร้างขึ้นมาจากกระดูกซี่โครงด้านข้างของอาดัม ไม่ใช่ทางด้านศีรษะของเขาพื่อเป็นนายเหนือเขา, หรือทางด้านเท้าของเขาเพื่อให้เขาเหยียบย่ำ แต่จากด้านข้างเพื่อให้เสมอกับเขา, ใต้แขนของเขาเพื่อให้เขาปกป้องดูแล และใกล้หัวใจของเขาเพื่อเป็นที่รักของเขา คำว่า “จำนน” ในหนังสือเอเฟซัส 5:21 เป็นคำ ๆ เดียวกับในข้อ 5:22 ผู้เชื่อทุกคนถูกเรียกให้จำนนต่อซึ่งกันและกันด้วยความยำเกรงพระคริสต์ ข้อ 19-21 เป็นผลมาจากการเต็มล้นด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์ (5:18) ผู้เชื่อที่เต็มล้นด้วยพระวิญญาณถูกเรียกให้เป็นนักนมัสการ (5:19), ให้ขอบคุณพระเจ้า (5:20), ให้ยอมฟังกันและกัน (5:21) ต่อจากนั้นท่านอาจารย์เปาโลเขียนต่อไปเกี่ยวกับการมีชีวิตที่เต็มล้นด้วยพระวิญญาณแล้วนำมาใช้กับสามีและภรรยาในข้อ 22-33





ภรรยาต้องเชื่อฟังต่อสามีไหม?

พ่อแม่ที่เป็นคริสเตียนควรทำอย่างไรหากลูกของเขาเป็นคริสเตียนที่หลงหาย?




คำถาม: พ่อแม่ที่เป็นคริสเตียนควรทำอย่างไรหากลูกของเขาเป็นคริสเตียนที่หลงหาย?

คำตอบ:
มีอะไรหลายอย่างในเรื่องบุตรน้อยหลงหาย (ลูกา 15:11-32) ที่พ่อแม่ผู้เชื่อสามารถนำมาใช้ได้เพี่อจัดการลูก ๆ ที่เดินไปในทางตรงกันข้ามกับทางที่พ่อแม่สอน เราจำเป็นที่จะต้องจำไว้ว่าเมื่อลูกโต “เป็นผู้ใหญ่” แล้วพวกเขาไม่ได้อยู่ภายใต้สิทธิอำนาจของพ่อแม่อีกต่อไป

ในเรื่องบุตรน้อยหลงหาย บุตรชายรับมรดกแล้วก็ออกเดินทางไปยังเมืองไกลแล้วใช้มรดกนั้นจนหมด ในกรณีของเด็กที่ไม่ได้เป็นผู้เชื่อที่บังเกิดใหม่ นั่นเป็นเรื่องปกติ แต่ในกรณีของเด็กที่ครั้งหนึ่งได้ตัดสินใจเชื่อในพระคริสต์ เราเรียกว่า “สุรุ่ยสุร่าย” คำว่าสุรุ่ยสุร่ายไม่ได้มีปรากฏอยู่ในเรื่องนี้ ความหมายของคำ ๆ นี้คือ “ใช้อย่างสิ้นเปลืองโดยเปล่าประโยชน์ หรือคนที่ใช้ทรัพยากรของตนอย่างเปล่าประโยชน์” ดังนั้นคำ ๆ นี้จึงเป็นคำอธิบายอธิบายเกี่ยวกับบุตรน้อยในหนังสือลูกาบทที่ 15 นอกจากนั้นมันยังอธิบายเกี่ยวกับเด็กน้อยที่ออกไปจากบ้านและนำเอาสมบัติที่พ่อแม่ได้ลงทุนไว้ในตัวเขา และลืมวันเวลาที่พ่อแม่ได้ทุ่มเทเลี้ยงดู, สั่งสอน, รัก, และดูแล เมื่อเด็กคนนี้กบฏต่อพระเจ้า เพราะการกบฏทุกชนิดเป็นการกบฏต่อพระเจ้าก่อน และแสดงออกในการกบฏต่อพ่อแม่และสิทธิอำนาจที่อยู่เหนือเขาเป็นเวลานานแล้วเด็กคนนี้ก็ออกไปจากบ้านสู่โลกภายนอกและใช้มรดกของพ่อแม่อย่างไร้ประโยชน์และไม่เห็นคุณค่าของพ่อแม่

จงสังเกตว่าพ่อในเรื่องนี้ไม่ได้ขัดขวางลูกไม่ให้ไป หรือตามไปปกป้องลูก หรือขัดขวางการเลือกหรือการตัดสินใจของลูก ตรงกันข้ามพ่อคอยลูกอยู่ที่บ้านและอธิษฐานอย่างสัตย์ซื่อ และเมื่อลูก “ได้สติ” และกลับมาบ้าน พ่อผู้ที่เฝ้ารอคอยอยู่เห็นเขา “ตั้งแต่ไกล” และรีบวิ่งไปหาเขา

หลักการของเรื่องนี้มีดังนี้คือ เมื่อลูก ๆ ของเราไปตามทางของเขาและเลือกอะไรที่เรารู้ว่าจะเป็นผลเสียต่อเขา พ่อแม่ต้องยอมปล่อยลูกไป พ่อแม่ต้องไม่ตามลูกไป และต้องไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับผลที่จะตามมา ตรงกันข้าม พ่อแม่จะต้องคอยอยู่ที่บ้าน อธิษฐานอย่างสัตย์ซื่อ และรอคอยให้ลูกกลับใจและเดินออกจากทางนั้น จนกว่าเขาจะกลับใจ พ่อแม่จะต้องไม่ออกความเห็น ไม่ขัดขวางการกระทำหรือเข้ามายุ่งเกี่ยวกับเรื่องของลูก (1 เปโตร 4:15)

เมื่อลูกถึงวัย “ผู้ใหญ่” เมื่อไหร่ เขาก็อยู่ภายใต้สิทธิอำนาจของพระเจ้าและของรัฐเท่านั้น (โรม 13:1-7) ในฐานะพ่อแม่ เราสามารถอยู่ข้าง ๆ ลูกได้เมื่อเขาตัดสินใจที่จะเดินตามพระเจ้า พระเจ้าทรงใช้ความทุกข์ยากที่เจ้าตัวทำให้เกิดขึ้นเอง และ “การฝึกฝนเด็ก” ทำให้ทุกคนมีสติปัญญา และมันขึ้นอยู่กับแต่ละคนที่จะตอบสนองอย่างถูกต้อง ในฐานะพ่อแม่เราช่วยลูกให้ปลอดภัยไม่ได้ มีแต่พระเจ้าเท่านั้นที่ทรงทำได้ ด้วยความเชื่อฟังเราต้องอบรมลูกด้วยการสั่งสอนและการตักเตือนตามหลักขององค์พระผู้เป็นเจ้า เมื่อมีโอกาส (เอเฟซัส 6:4) ต่อจากนั้นเราต้องยอมให้เขาเลือกทางของเขาเอง จนกว่าจะถึงเวลานั้น เราต้องเฝ้าดูและอธิษฐานแล้ววางเรื่องทั้งหมดไว้กับพระเจ้า นี่อาจเป็นเรื่องเจ็บปวดแต่เมื่อมันจบลงตามความเห็นของพระเจ้ามันจะนำรางวัลและสันติสุขมาให้เรา เราตัดสินลูก ๆ ของเราไม่ได้ พระเจ้าเท่านั้นที่จะทรงทำเช่นนั้นได้ เมื่อเราวางใจในพระเจ้าเราก็จะโล่งใจ “พระองค์ ผู้พิพากษาสากลโลกจะไม่กระทำสิ่งที่ยุติธรรมหรือ” (ปฐมกาล 18:25)





พ่อแม่ที่เป็นคริสเตียนควรทำอย่างไรหากลูกของเขาเป็นคริสเตียนที่หลงหาย?