• คำถามเกี่ยวกับการตัดสินใจในชีวิต



    คำถามเกี่ยวกับการตัดสินใจในชีวิต

    อะไรคือความหมายของชีวิต?
  • ฉันจะรู้ถึงน้ำพระทัยของพระเจ้าสำหรับชีวิตฉันได้อย่างไร?
  • พระคัมภีร์พูดไว้ว่าอย่างไรเกี่ยวกับคริสเตียนกับการเป็นหนี้? การเป็นหนี้เป็นเรื่องผิดอยู่เสมอใช่ไหม? การกู้เงินหรือให้ยืมเงินผิดไหม?
  • คริสเตียนควรไปหาหมอไหม?
  • คริสเตียนควรออกกำลังกายไหม? พระคัมภีร์พูดเกี่ยวกับสุขภาพไว้อย่างไรบ้าง?
  • พระคัมภีร์พูดว่าอย่างไรเกี่ยวกับคริสเตียนเข้าเป็นทหาร?
  • พระคัมภีร์พูดว่าอย่างไรเกี่ยวกับการเป็นความ/การฟ้องร้อง?
  • พระคัมภีร์พูดว่าอย่างไรเกี่ยวกับวิธีค้นหาวัตถุประสงค์ในชีวิต?


  • กลับสู่หน้าภาษาไทย

  • คำถามเกี่ยวกับการตัดสินใจในชีวิต
  • ความหมายของชีวิตคืออะไร?




    คำถาม: ความหมายของชีวิตคืออะไร?

    คำตอบ:
    ความหมายของชีวิตคืออะไร? ฉันจะหาความหมายของชีวิต เติมชีวิตให้เต็ม และพอใจกับชีวิตได้อย่างไร? ฉันจะมี ความเข้มแข็งพอที่จะทำอะไรสักอย่างที่มีความหมายตลอดไปให้สำเร็จได้ไหม? มีคนมากมายไม่เคยหยุดคิดเลยว่าอะไรคือความหมายของชีวิต หลายปีให้หลัง เมื่อเขามองย้อนกลับไป แล้วสงสัยว่าทำไมความสัมพันธ์ของเขาจึงล้มเหลว และ ทำไมเขาจึงรู้สึกว่างเปล่้าเหลือเกินแม้ว่าเขาอาจจะประสพความสำเร็จในการทำสิ่งที่เขาตั้งใจว่าจะทำก็ตาม มีนักเล่นเบสบอลคนหนึ่งไปถึงจุดนั้นและมีชื่อของเขาบรรจุอยู่ในห้องสมุดของผู้มีชื่อเสียงทางด้านเบสบอล เมื่อถูกถามว่าเขาอยากให้มีใครบอกอะไรบ้างเมื่อเขาเริ่มเล่นเบลบอลล์ เขาตอบว่า “ผมอยากให้มีใครสักคนบอกผมว่า เมื่อคุณไปถึงจุดสูงสุดแล้ว คุณจะพบว่าที่นั่นไม่มีอะไรเลย” เป้าหมายหลายอย่างที่เราเสียเวลาหลายปีจนไปถึงแล้ว เรากลับพบว่ามันว่างเปล่า

    ในสังคมของมนุษยชาติ ผู้คนพยายามไปให้ถึงเป้าหมายด้วยวัตถุประสงค์หลายประการ ด้วยคิดว่าที่นั่นพวกเขาจะค้นพบความหมาย เป้าหมายเหล่านี้รวมถึง ความสำเร็จทางธุรกิจ, สุขภาพ, การมีความสัมพันธ์ที่ดี, เพศสัมพันธ์, ความบันเทิงเริงรมย์ด้านต่าง ๆ, การทำดีต่อคนอื่น, ฯลฯ มีหลายคนบอกว่าหลังจากที่เขาประสพความสำเร็จทางด้าน ความมั่งคั่ง, ความสัมพันธ์, และความรื่นรมย์ ที่ตั้งเป้าไว้ ข้างในของพวกเขาก็ยังว่างเปล่าอยู่ -- มันเป็นความรู้สึกเวิ้งว้างว่างเปล่าที่ไม่มีอะไรสามารถจะเติมให้เต็มได้เลย

    ผู้เขียนหนังสือปัญญาจารย์ในพระคัมภีร์ได้พูดถึงความรู้สึกว่างเปล่านี้ว่าเป็น “อนิจจัง! อนิจจัง! … อนิจจัง สารพัดอนิจจัง” พระองค์ทรงมีความมั่งคั่งเหลือคณานับ มีสติปัญญาเหนือใครในสมัยนั้นและในสมัยนี้ มีผู้หญิงนับร้อย มีปราสาทราชวัง มีสวน อันเป็นที่อิจฉาของบรรดาอาณาจักรต่าง ๆ มีอาหารและเหล้าที่ดีที่สุด มีสิ่งสันทนาการนานับประการ และณ.จุด ๆ หนึ่ง พระองค์ตรัสว่าไม่ว่าอะไรที่ทรงต้องการ พระองค์ก็จะทรงแสวงหามาจนได้เสมอ แต่ในที่สุดก็ได้ตรัสว่า “ชีวิตภายใต้ดวงอาทิตย์” (ชีวิตที่เปรียบเสมือนว่าทั้งหมดมีเพียงแค่เท่าที่ตามองเห็นและประสาทสัมผัสได้เท่านั้น) ไร้ความหมาย! ทำไมจึงมีแต่ความเวิ้งว้างว่างเปล่า? คำตอบคือ เพราะว่าพระเจ้าทรงสร้างเราขี้นมาเพื่ออะไรบางอย่างเหนืออะไรที่เป็นอยู่ ที่นี่้และเดี๋ยวนี้ กษัตริย์โซโลมอนกล่าวเกี่ยวกับพระเจ้าไว้ว่า “พระองค์ได้กำหนดความเป็นนิรันดร์ในหัวใจของมนุษย์ไว้ด้วย…” ในใจของเรา เรารู้ว่า “ที่นี่และเดี๋ยวนี้” ไม่ใช่ทั้งหมดที่มีอยู่

    ในหนังสือปฐมกาล ซึ่งเป็นหนังสือฉบับแรกในพระคัมภีร์ เราจะเห็นว่าพระเจ้าทรงสร้างมนุษย์ขึ้่นมาตามพระฉายของพระองค์ (ปฐมกาล 1:26) นั่นหมายความว่าเราเหมือนพระเจ้ามากกว่าสิ่งมีชีวิตใด ๆ ทั้งสิ้น เราได้พบอีกว่า ก่อนที่มนุษย์จะล้มลงในความบาป และคำสาปแช่งได้เข้ามาสู่โลก สิ่งต่าง ๆ ดังต่อไปนี้เป็นเรื่องจริง: (1) พระเจ้าทรงสร้างมนุษย์ให้เป็นสัตว์สังคม (ปฐมกาล 2:18-15); (2) พระเจ้าทรงมอบหมายงานให้กับมนุษย์ (ปฐมกาล 2:15); (3) พระเจ้าทรงมีความสัมพันธ์กับมยุษย์ (ปฐมกาล 3:8); และ (4) พระเจ้าทรงให้มนุษย์ครอบครองเหนือโลก (ปฐมกาล 1:26) สิ่งเหล่านี้สำคัญอย่างไร? ข้าพเจ้าเชื่อว่าพระเจ้าทรงตั้งพระทัยให้แต่ละสิ่งเหล่านี้เติมชีวิตเราให้เต็ม แต่ทั้งหมด (โดยเฉพาะการมีความสัมพันธ์กับพระเจ้า) เกิดผลกระทบเมื่อมนุษย์ล้มลงในความบาป อันเป็นผลให้คำสาปแช่งเกิดขึ้นบนโลก (ปฐมกาล 3)

    ในหนังสือวิิวรณ์ซึ่งเป็นหนังสือเล่มสุดท้ายในพระคัมภีร์ หลังจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในยุคสุดท้ายมากมายหลายอย่าง พระเจ้าทรงเปิดเผยว่าพระองค์จะทรงทำลายโลกและฟ้าสวรรค์ที่เรารู้จักในปัจจุบัน แล้วจะทรงสร้างทั้งหมดขึ้นมาใหม่ซึ่งจะคงอยู่ชั่วนิรันดร์ เมื่อถึงเวลานั้น พระองค์จะทรงมีความความสัมพันธุ์อย่างเต็มรูปแบบกับมนุษย์ที่ทรงไถ่ไว้ มนุษย์บางคนจะถูกพิพากษาและส่งไปยังบึงไฟนรก (วิวรณ์ 20:11-15) 21:4 และคำสาปแช่งจะไม่มีอีกต่อไป ความบาปจะไม่มีอีกต่อไป ความโศกเศร้า โรคภัยไข้เจ็บ ความตาย ความเจ็บปวด, ฯลฯ จะไม่มีอีกต่อไป (วิวรณ์ 21:4) และผู้เชื่อจะได้รับสิ่งสารพัดเป็นมรดก และพระเจ้าจะทรงอยู่กับพวกเขา และเขาจะเป็นบุตรของพระองค์ (วิวรณ์ 21:7) แล้ววงจรก็จะครบถ้วน คือ พระเจ้าทรงสร้างเราขึ้นมาเพื่อให้มีความสัมพันธ์กับพระองค์; มนุษย์ล้มลงในความบาปซึ่งทำให้ึความสัมพันธ์นั้นขาดออก; พระเจ้าทรงทำให้ึความสัมพันธ์กับผู้ที่พระิองค์ทรงเห็นว่าสมควร กลับสู่สภาพดีชั่วนิรันดร์ ดังนั้น การมีชีวิตพร้อมความสำเร็จในทุก ๆ ด้าน เพียงเพื่อเมื่อจากโลกนี้ไปจะต้องถูกตัดขาดจากพระเจ้าชั่วนิรันดร์ เป็นเรื่องไร้ประโยชน์! แต่พระเจ้าได้ทรงเปิดทาง ที่ไม่เพียงแต่จะทำให้เราได้พบกับความสุขนิรันดร์เท่านั้น (ลูกา 23:43) แต่ในขณะที่เรายังมีชีวิตอยู่ในโลกนี้ พระองค์จะทรงทำให้่ชีวิตเราอิ่มเอมและมีความหมายอีกด้วย เราจะมีความสุขนิรันดร์ และ “สวรรค์บนโลก” ได้อย่างไร?

    ความหมายในชีวิตที่ได้รับการกู้โดยพระเยซูคริสต์

    ดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น ความหมายแห่งชีวิตที่แท้จริงทั้งในปัจจุบันและชั่วนิรันดร์กาล อยู่ที่การทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับพระเจ้าที่ขาดหายไปตั้งแต่สมัยที่อาดัมกับเอวาล้มลงในความบาปกลับสู่สภาพดี ในปัจจุบัน ความสัมพันธ์นั้นเป็นไปได้โดยทางพระบุตร, พระเยซูคริสต์, เท่านั้น (กิจการ 4:12; ยอห์น 14:6; ยอห์น 1:12) มนุษย์สามารถมีชีวิตนิรันดร์ได้เมื่อเขาสารภาพบาป (ไม่อยากทำบาปต่อไป และต้องการให้พระคริสต์ช่วยเปลี่ยนและทำให้เขาเป็นคนใหม่) และเริ่มพึ่งพระเยซูคริสต์ในฐานะพระผู้ช่วยให้รอด (ดูคำถามในหัวข้อ “แผนการสำหรับความรอดคืออะไร? หากคุณต้องการความรู้มากขึ้นสำหรับเรื่องสำคัญนี้)

    ความหมายที่แท้จริงในชีวิตไม่ใช่การได้พบว่าพระเยซูทรงเป็นพระผู้ช่วยให้รอดเท่านั้น (ซึ่งเป็นเรื่องแสนอัศจรรย์อยู่แล้ว) แต่อยู่่ที่การที่ได้เริ่มต้นติดตามพระคริสต์ในฐานะสาวกของพระองค์ ได้เรียนรู้จากพระองค์ ใช้เวลากับพระองค์ผ่านทางพระวจนะ (พระคัมภีร์) สื่อสารกับพระองค์ทางการอธิษฐาน และเดินกับพระองค์ด้วยความเชื่อฟังต่อคำสั่งของพระองค์ หากคุณไม่ใช่ผู้เชื่อ (หรือเป็นผู้เชื่อใหม่) คุณอาจพูดกับตัวเองว่า “ฟังดูแล้วไม่เห็นน่าตื่นเต้นหรืออิ่มเอมสำหรับฉันเลย!” แต่จงอ่านต่อไปอีกสักนิดหนึ่ง พระเยซูได้ตรัสถ้อยคำเหล่านี้ไว้:

    “บรรดาผู้ทำงานเหน็ดเหนื่อยและแบกภาระหนัก จงมาหาเรา และเราจะให้ท่านทั้งหลายหายเหนื่อยเป็นสุข จงเอาแอกของเราแบกไว้ แล้วเรียนจากเรา เพราะว่าเรามีใจอ่อนสุภาพและถ่อมลง และท่านทั้งหลายจะพบที่สงบสุขในใจของตน ด้วยว่าแอกของเราก็แบกง่าย และภาระของเราก็เบา" (มัทธิว 11:28-30) “เราได้มาเพื่อเขาทั้งหลายจะได้ชีวิต และจะได้อย่างครบบริบูรณ์ (ยอห์น 10:10ข) “ถ้าผู้ใดใคร่ตามเรามา ให้ผู้นั้นเอาชนะตัวเอง และรับกางเขนของตนแบกและตามเรามา เพราะว่าผู้ใดใคร่จะเอาชีวิตของตนรอด ผู้นั้นจะเสียชีวิต แต่ผู้ใดจะเสียชีวิตของตนเพราะเห็นแก่เรา ผู้นั้น จะได้ชีวิตรอด” (มัทธิว 16:24-25) “จงปีติยินดีในพระเยโฮวาห์และพระองค์จะประทานตามใจปรารถนาของท่าน” (สดุดี 37:4)

    สิ่งที่ข้อพระคัมภีร์เหล่านี้กำลังพูดถึงก็คือเรามีทางเลือก เราสามารถเลือกที่จะนำพาชีวิตด้วยตัีวเอง (ซึ่งหมายถึงการใช้ชีวิตที่ว่างเปล่า) หรือติดตามพระเจ้าและน้ำพระทัยของพระองค์ที่มีต่อชีวิตของเราจนหมดใจ (ซึ่งหมายถึงการใช้ชีวิตที่เต็มบริบูรณ์ สมปรารถนา อิ่มเอมและพึงพอใจ) ที่เป็นเช่นนี้ได้ก็เพราะพระผู้สร้างของเราทรงรักเราและปรารถนาให้เราได้สิ่ีงที่ดีที่สุด (ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นชีวิตที่ง่ายที่สุด แต่จะเป็นชีวิตที่เต็มบริบูรณ์ที่สุด)

    ก่อนจบขอแบ่งปันคำเปรียบเทียบที่ขอยืมมาจากเื่พื่อนที่เป็นศิษยาภิบาล เขาพูดว่า หากคุณเป็นแฟนกีฬาประเภทใดประเภทหนึ่ง และตัดสินใจที่จะไปดูการแข่งขันระดับมืออาชีพ คุณอาจเจียดเงินมาสักก้อนหนึ่งซื้อตั๋ว “แบบประหยัด” แล้วได้ที่นั่งไกลลิบ หรือ อาจยอมควักกระเป๋าจ่ายเงินเพื่อซื้่อที่นั่งใกล้ ๆ เพื่อดูการแข่งขันอย่างเป็นส่วนตัว ก็ได้ นี่ก็เหมือนกับชีวิตคริสเตียน การได้ดูพระเจ้าทรงทำพระราชกิจอย่างใกล้ชิด ไม่ได้มีไว้สำหรับคริสเตียนเฉพาะวันอาทิตย์ พวกเขาไม่ยอมควักกระเป๋า การดูพระเจ้าทรงทำพระราชกิจอย่างใกล้ชิด มีไว้สำหรับสาวกของพระคริสต์ผู้ที่ยอมทุ่มหมดใจ ยอมทิ้งความปรารถนาในชีวิตของตัวเอง เพื่อที่จะได้ติดตามพระประสงค์ของพระเจ้าในชีวิต พวกเขายอมเสียค่าใช้จ่าย (จำนนต่อพระคริสต์และน้ำพระทัยของพระองค์โดยสิ้นเชิง) พวกเขาได้ประสบการณ์ชีวิตอย่างเต็มที่ และสามารถมองหน้าตัวเอง หรือคนอื่น และพระผู้สร้างของเขา ได้อย่างเต็มที่โดยไม่ต้องมีคำว่าเสียใจ! แล้วคุณเล่า ได้ควักกระเป๋าไปแล้วหรือไม่? คุณจะยอมควัีกกระเป๋าไหม? หากยอม คุณก็จะไม่โหยหาความหมายในชีวิตอีกเลย.



    กลับสู่หน้าภาษาไทย

  • ความหมายของชีวิตคืออะไร?
  • ฉันจะรู้ถึงน้ำพระทัยพระเจ้าสำหรับชีวิตของฉันได้อย่างไร? พระคัมภีร์ได้กล่าวถึงการรู้น้ำพระทัยพระเจ้าอย่างไร?




    คำถาม: ฉันจะรู้ถึงน้ำพระทัยพระเจ้าสำหรับชีวิตของฉันได้อย่างไร? พระคัมภีร์ได้กล่าวถึงการรู้น้ำพระทัยพระเจ้าอย่างไร?

    คำตอบ:
    มีกุญแจสองดอกที่จะทำให้ทราบถึงน้ำพระทัยของพระเจ้าสำหรับแต่ละสถานการณ์คือ (1) ให้เราแน่ใจว่าสิ่งที่เราทูลขอต่อพระองค์ หรือสิ่งที่เราคิดจะทำนั้น ไม่ใช่สิ่งที่เป็นข้อห้ามในพระคัมภีร์ และ (2) ให้แน่ใจว่าสิ่งที่เราทูลขอต่อพระองค์ หรือสิ่งที่เราคิดจะทำนั้นเป็นที่ถวายเกียรติแด่พระองค์ และจะทำให้เราเจริญขึ้นในฝ่ายจิตวิญญาณ ถ้าคุณทำตามสองข้อนี้แล้วแต่พระเจ้ายังไม่ได้ทรงประทานสิ่งที่คุณขอจากพระองค์ – นั่นหมายความว่าสิ่งที่คุณขอนั้นไม่ใช่น้ำพระทัยของพระองค์ หรือ คุณอาจจำต้องรอนานขึ้นอีกนิด เพื่อจะได้สิ่งที่คุณขอนั้นมา การรู้ถึงน้ำพระทัยพระเจ้าในบางครั้งนั้นเป็นเรื่องยาก คนเรามักต้องการให้พระเจ้าบอกเราตรง ๆ ว่าจะต้องทำอะไร–จะทำงานที่ใดดี – จะอยู่ที่ไหนดี จะแต่งงานกับใคร ฯลฯ ใน โรม 12:2 บอกเราว่า “อย่าประพฤติตามอย่างคนในยุคนี้ แต่จงรับการเปลี่ยนแปลงจิตใจ แล้วอุปนิสัยของท่านจึงจะเปลี่ยนใหม่ เพื่อท่านจะได้ทราบน้ำพระทัย ของพระเจ้า จะได้รู้ว่าอะไรดี อะไรเป็นที่ชอบพระทัยและอะไรดียอดเยี่ยม”

    พระเจ้าอาจจะไม่ทรงตรัสกับเราตรงๆบ้าง พระองค์ทรงให้เรามีความคิดเกี่ยวกับสิ่งต่างๆ เหล่านั้น มีเพียงการตัดสินใจเรื่องเดียว ที่พระเจ้าไม่ทรงประสงค์ให้เราทำ คือการตัดสินใจกระทำบาป หรือทำสิ่งที่ขัดต่อน้ำพระทัยพระองค์ พระเจ้าทรงต้องการให้เราเลือกทางที่เป็นตามน้ำพระทัยของพระองค์ ดังนั้น คุณควรจะทราบถึงน้ำพระทัยของพระองค์ได้อย่างไร? ก็เมื่อคุณได้เดินติดตามพระองค์อย่างใกล้ชิด และปรารถนาที่จะทำให้ชีวิตของคุณเป็นที่พอพระทัยของพระองค์ – พระองค์จะทรงใส่ความปรารถนาของพระองค์ลงไปในจิตใจของคุณ กุญแจสำคัญคือหัวใจ... หัวใจที่ต้องการเชื่อฟังน้ำพระทัยของพระเจ้า – ไม่ใช่ความต้องการของตัวคุณเอง “จงปีติยินดีในพระเจ้า และพระองค์จะทรงประทานตามใจปรารถนาของท่าน” ( สดุดี 37:4) ถ้าสิ่งนั้นไม่ขัดกับพระคัมภีร์ และเป็นสิ่งที่ส่งผลดีต่อจิตวิญญาณของคุณ นั่นหมายความว่า พระคัมภีร์ “อนุญาต” ให้คุณตัดสินใจที่จะกระทำสิ่งนั้น ๆ และทำตามหัวใจคุณได้



    กลับสู่หน้าภาษาไทย

  • ฉันจะรู้ถึงน้ำพระทัยพระเจ้าสำหรับชีวิตของฉันได้อย่างไร? พระคัมภีร์ได้กล่าวถึงการรู้น้ำพระทัยพระเจ้าอย่างไร?
  • พระคัมภีร์พูดไว้ว่าอย่างไรเกี่ยวกับคริสเตียนกับการเป็นหนี้? การเป็นหนี้เป็นเรื่องผิดอยู่เสมอใช่ไหม? การกู้เงินหรือให้ยืมเงินผิดไหม?




    คำถาม: พระคัมภีร์พูดไว้ว่าอย่างไรเกี่ยวกับคริสเตียนกับการเป็นหนี้? การเป็นหนี้เป็นเรื่องผิดอยู่เสมอใช่ไหม? การกู้เงินหรือให้ยืมเงินผิดไหม?

    คำตอบ:
    คำสอนของท่านเปาโลที่ว่าไม่ให้เราเป็นหนี้ใครนอกจากความรักในหนังสือโรม 13:8 เป็นการเตือนความจำที่ดีสำหรับเราว่าพระเจ้าทรงไม่ชอบการเป็นหนี้ไม่ว่าจะเป็นหนี้ในรูปแบบไหนก็ตามที่ไม่มีการชำระตรงตามเวลา (ดูสดุดี37:21 ประกอบด้วย) โดยปกติเมื่อพูดถึงการเป็นหนี้สินเรานึกถึงว่ามันเป็นหนี้สินทางด้านเงินทอง แต่ในความหมายของข้อพระคัมภีร์นี้ (โรม 13:1-10) ดูเหมือนว่าท่านเปาโลมีมุมมองที่กว้างกว่า (โรม 13:7) ท่านไม่ได้เพียงแต่พูดถึงภาษี, ส่วย และภาษีศุลกากรที่ผู้มีอำนาจปกครองได้กำหนดไว้เท่านั้น แต่พูดถึงความยำเกรง, เกียรติยศ และคำสรรเสริญที่ผู้มีอำนาจปกครองสมควรจะได้รับด้วย เราทุกคนเป็นหนี้พระคุณของพระเจ้า เมื่อพระองค์ได้ทรงสำแดงความรักของพระองค์ต่อเรา เราจึงจำเป็นที่จะต้องส่งมอบความรักนั้นให้กับผู้ที่อยู่รอบตัวเราในที่ทำงานและที่บ้านด้วย และต่อผู้เก็บภาษีและผู้มีอำนาจปกครองเหนือเราด้วย

    มีบางคนถามถึงการคิดดอกเบี้ยเงินกู้ แต่หลายครั้งพระคัมภีร์บอกว่าผู้ให้ยืมสมควรคาดหวังดอกเบี้ยที่เหมาะสม (สุภาษิต 28:8, มัทธิว 25:27) ในสมัยอิสราเอลโบราณมีกฎห้ามคิดดอกเบี้ยจากเงินกู้ประเภทหนึ่ง นั่นคือเงินกู้สำหรับคนจน (เลวีนิติ 25:35-38) กฎนี้มีเรื่องของสังคม, การเงิน และเรื่องฝ่ายวิญญาณหลายแง่มุมเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย แต่มีสองข้อที่สมควรนำมากล่าวถึง ข้อแรกคือ กฎหมายนี้มีเพื่อช่วยเหลือคนจนเพื่อช่วยไม่ให้คนเหล่านั้นแย่ลงไปอีก การเป็นคนจนก็แย่มากอยู่แล้ว และการไปขอความช่วยเหลืออาจเป็นเรื่องที่น่าอับอายมากก็ได้ แต่การที่ต้องจ่ายหนี้พร้อมดอกเบี้ยสูงอาจทำให้ผู้กู้เจ็บปวดมากยิ่งขึ้นแทนที่จะเป็นการช่วยเหลือ

    ประการที่สองคือ กฎหมายนี้ได้สอนบทเรียนฝ่ายวิญญาณที่สำคัญไว้ด้วย คือ สำหรับผู้ให้ยืมโดยไม่คิดดอกเบี้ยจากคนจนคือการแสดงความเมตตาต่อเขา ผู้ให้ยืมอาจต้องอดใช้เงินในขณะที่มันถูกยืมไป



    กลับสู่หน้าภาษาไทย

  • พระคัมภีร์พูดไว้ว่าอย่างไรเกี่ยวกับคริสเตียนกับการเป็นหนี้? การเป็นหนี้เป็นเรื่องผิดอยู่เสมอใช่ไหม? การกู้เงินหรือให้ยืมเงินผิดไหม?
  • คริสเตียนควรไปหาหมอไหม?




    คำถาม: คริสเตียนควรไปหาหมอไหม?

    คำตอบ:
    ตลอดพระคัมภีร์มีการเอ่ยถึงหมอหลายครั้ง มีข้อพระคัมภีร์ข้อเดียวที่ควรยกเว้นเมื่อพูดเกี่ยวกับการแสวงหาหมอ คือข้อพระคัมภีร์ 2 พงศาวดาร 16:12 ข้อพระคัมภีร์นี้กล่าวว่า “ในปีที่สามสิบเก้าแห่งรัชกาลของพระองค์ อาสาทรงเป็นโรคที่พระบาทของพระองค์ และโรคของพระองค์ก็ร้ายแรง แม้เป็นโรคอยู่พระองค์ก็มิได้ทรงแสวงหาพระเจ้า แต่ได้แสวงหาความช่วยเหลือจากแพทย์” แต่ในกรณีนี้เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับมุมมองของกษัตริย์อาสาในปีท้าย ๆ ของพระองค์ (นั่นคือการหันหลังให้กับพระเจ้าในตอนต้นของชีวิตของพระองค์)

    มีข้อพระคัมภีร์หลายข้อที่พูดถึง “การรักษาทางยา” เช่นการใช้ผ้าพันแผล (อิสยาห์ 1:6), น้ำมัน (ยากอบ 5:14), น้ำมันและเหล้าองุ่น (ลูกา 10:34), ใบไม้ (เอเสเคียล 47:12), การดื่มเหล้าองุ่น (1 ทิโมธี 5:23), และขี้ผึ้ง – โดยเฉพาะ “พิมเสนในกิเลอาด” (เยเรมีย์ 8:22) นอกจากนั้นท่านอาจารย์เปโลยังได้เรียกท่านลูกาผู้เขียนหนังสือกิจการและลูกว่า “ลูกาแพทย์ที่รัก” อีกด้วย (โคโลสี 4:14)

    หนังสือมาระโก 5:25-30 ได้พูดถึงหญิงผู้หนึ่งที่มีปัญหาเกี่ยวกับโรคตกเลือดซึ่งแพทย์ไม่สามารถเยียวยาได้แม้ว่าเธอจะได้ไปพบแพทย์หลายคนและใช้เงินทั้งหมดของเธอเพื่อการรักษาแล้วก็ตาม เธอจึงมาหาพระเยซูและคิดว่าเพียงแค่เธอได้แตะชายฉลองพระองค์เท่านั้นเธอก็จะหาย แล้วเธอก็หายจริง ๆ

    เมื่อพวกฟาริสีถามพระเยซูว่าทำไมพระองค์จึงทรงใช้เวลากับพวกคนบาป พระองค์ตรัสว่า “คนปกติไม่ต้องการหมอ แต่คนเจ็บป่วยต้องการหมอ” (มัทธิว 9:12) จากข้อพระคัมภีร์เหล่านี้เราสามารถมองเห็นหลักการว่า:

    1) หมอไม่ใช่พระเจ้าและเราไม่ควรมองว่าเป็นเช่นนั้น หมอบางครั้งช่วยได้ แต่บางครั้งเราก็เสียเงินเปล่า

    2) พระคัมภีร์ไม่ได้ห้ามการไปหาหมอและใช้วิธีรักษาแบบ “ชาวโลก” และดูเหมือนว่าพระคัมภีร์ได้กล่าวถึงการไปหาหมอไว้ตลอดทั่วพระคัมภีร์

    3) เราควรแสวงหาการเข้ามาแทรกแซงของพระเจ้าเมื่อมีป้ญหาฝ่ายร่างกาย (ยากอบ 4:2; 5:13) แต่พระองค์ไม่ได้ทรงสัญญาไว้ว่าพระองค์จะทรงตอบคำอธิษฐานตามที่เราอยากจะให้เป็น (อิสยาห์ 55:8-9) แต่เราสามารถมั่นใจได้ว่าทุกสิ่งที่พระองค์ทรงกระทำเป็นการกระทำที่เกิดจากความรักและเป็นการดีที่สุดสำหรับเรา (สดุดี 145:8-9)

    ดังนั้น คริสเตียนควรไปหาหมอหรือไม่? พระเจ้าทรงสร้างเราให้มีความฉลาดและทรงให้ความสามารถในการคิดค้นยาและวิธีซ่อมแซมร่างกายให้กับเรา ไม่มีอะไรผิดที่เราจะนำความรู้และความสามารถนี้มาใช้เพื่อการรักษาโรค เราสามารถมองดูหมอว่าเป็นของขวัญจากพระเจ้าได้ .. เป็นช่องทางที่พระเจ้าทรงนำการรักษาและหายดีมาให้เรา ในเวลาเดียวกัน ความเชื่อและความวางใจของเราต้องอยู่ที่พระเจ้า ไม่ใช่ที่หมอหรือยา จากการที่เรามีปัญหายุ่งยากมากมายในชีวิตที่จะต้องตัดสินใจ พระเจ้าทรงให้สัญญาว่าพระองค์จะทรงประทานสติปัญญาให้กับเราเมื่อเราขอจากพระองค์ (ยากอบ 1:5)



    กลับสู่หน้าภาษาไทย

  • คริสเตียนควรไปหาหมอไหม?
  • คริสเตียนควรออกกำลังกายไหม? พระคัมภีร์พูดเกี่ยวกับสุขภาพไว้อย่างไรบ้าง?




    คำถาม: คริสเตียนควรออกกำลังกายไหม? พระคัมภีร์พูดเกี่ยวกับสุขภาพไว้อย่างไรบ้าง?

    คำตอบ:
    ข้อพระคัมภีร์ 1 ทิโมธี 4:8 กล่าวว่า “เพราะว่าการฝึกทางกายนั้นมีประโยชน์อยู่บ้าง ทางของพระเจ้าก็มีประโยชน์ในทุกทาง เพราะทรงไว้ซึ่งประโยชน์สำหรับชีวิตปัจจุบันและชีวิตอนาคตด้วย” จงสังเกตว่าพระคัมภีร์ไม่ได้บอกว่าการออกกำลังกายไม่มีประโยชน์! พระคัมภีร์บอกว่าการออกกำลังกายมีประโยชน์ และวางลำดับความสำคัญไว้อย่างถูกต้องคือบอกว่าทางของพระเจ้ามีคุณค่ามากกว่า อัครทูตเปาโลก็ได้พูดถึงการฝึกทางกายเช่นกันเมื่อพูดถึงความจริงฝ่ายวิญญาณ หนังสือ 1 โครินธ์ 9:24-27 กล่าวว่า “ท่านไม่รู้หรือว่าคนเหล่านั้นที่วิ่งแข่งกัน ก็วิ่งด้วยกันทุกคน แต่คนที่ได้รับรางวัลมีคนเดียว เหตุฉะนั้นจงวิ่งเพื่อชิงรางวัลให้ได้ ฝ่ายนักกีฬาทุกคนก็เคร่งครัดในระเบียบ เขากระทำอย่างนั้นเพื่อจะได้มงกุฎใบไม้ซึ่งร่วงโรยได้ แต่เรากระทำเพื่อจะได้มงกุฎที่ไม่มีวันร่วงโรยเลย ส่วนข้าพเจ้าวิ่งแข่งโดยมีเป้าหมาย ข้าพเจ้ามิได้ต่อสู้อย่างนักมวยที่ชกลม แต่ข้าพเจ้าก็ทุบตีร่างกายให้มันแข็งจนอยู่มือ เพราะเกรงว่าเมื่อข้าพเจ้าได้ประกาศข่าวประเสริฐแก่คนอื่นแล้ว ตัวข้าพเจ้าเองจะเป็นคนที่ใช้การไม่ได้” หนังสือ 2 ทิโมธี 2:5 กล่าวว่า “และถ้าผู้ใดจะเข้าแข่งขันกัน เขาก็คงมิได้สวมมงกุฎ เว้นเสียแต่เขาได้ปฏิบัติตามกฎ” 2 ทิโมธี 4:7 กล่าวว่า “ข้าพเจ้าได้ต่อสู้อย่างเต็มกำลัง ข้าพเจ้าได้แข่งขันจนถึงที่สุด ข้าพเจ้าได้รักษาความเชื่อไว้แล้ว”

    ดังนั้นการออกกำลังกายจึงไม่มีอะไรผิด อันที่จริงพระคัมภีร์บอกชัดเจนว่าเราควรดูแลร่างกายของเรา (1 โครินธ์ 6:19-20) ข้อพระคัมภีร์ เอเฟซัส 5:29 บอกว่า “เพราะว่าไม่มีผู้ใดเกลียดชังเนื้อหนังของตนเอง มีแต่เลี้ยงดูและทะนุถนอม…” พระคัมภีร์ยังเตือนอีกด้วยว่าไม่ให้เรากินอย่างตะกละมูมมาม (เฉลยธรรมบัญญัติ 21:20, สุภาษิต 23:2, 2 เปโตร 1:5-7, 2 ทิโมธี 3:1-9, 2 โครินธ์ 10:5) ในเวลาเดียวกันพระคัมภีร์ก็ได้สอนเราไม่ให้สนใจเกี่ยวกับสิ่งที่ไร้สาระ (1 ซามูเอล 16:7; สุภาษิต 31:30; 1 เปโตร 3:3-4) แล้วพระคัมภีร์พูดอะไรบ้างเกี่ยวกับสุขภาพ? จงมีสุขภาพที่แข็งแรง! แล้วเราจะทำอย่างนั้นได้อย่างไร? ก็โดยการออกกำลังอย่างพอสมควรและกินอาหารอย่างเหมาะสม นั่นคือรูปแบบเกี่ยวกับสุขภาพและการออกกำลังกายตามแนวพระคัมภีร์



    กลับสู่หน้าภาษาไทย

  • คริสเตียนควรออกกำลังกายไหม? พระคัมภีร์พูดเกี่ยวกับสุขภาพไว้อย่างไรบ้าง?
  • พระคัมภีร์พูดว่าอย่างไรเกี่ยวกับคริสเตียนเข้าเป็นทหาร?




    คำถาม: พระคัมภีร์พูดว่าอย่างไรเกี่ยวกับคริสเตียนเข้าเป็นทหาร?

    คำตอบ:
    พระคัมภีร์มีข้อมูลมากมายเกี่ยวกับการเป็นทหาร แม้ว่าข้อมูลเกี่ยวกับกองทัพส่วนใหญ่ในพระคัมภีร์จะเป็นคำอุปมา แต่มีข้อพระคัมภีร์หลายข้อพูดเกี่ยวกับคำถามนี้โดยตรง พระคัมภีร์ไม่ได้บอกว่า “เจ้าจะต้องรับใช้ในกองทัพ” และก็ไม่ได้พูดว่า “เจ้าจะต้องไม่รับใช้ในกองทัพ” เช่นกัน แต่คริสเตียนสามารถนอนใจได้ว่าการเป็นทหารได้รับเกียรติตลอดทั่วพระคัมภีร์ และขอให้ท่านรู้ว่าการรับใช้ในกองทัพถูกต้องตามพระคัมภีร์

    ตัวอย่างแรกของการรับราชการเป็นทหารอยู่ในพันธสัญญาเดิม (ปฐมกาล 14) เมื่อโลท, หลานของอับราฮัม, ถูกลักพาตัวไปโดยกษัตริย์เคโดร์ลาโอเมอร์แห่งเอลามและพันธมิตรของพระองค์ อับราฮัมรวบรวมกำลังและได้คนในครอบครัวที่ได้รับการฝึกมาแล้วเป็นอย่างดี 318 คนเพื่อไปช่วยโลทและมีชัยเหนือกองกำลังต่างชาติ

    ต่อมาภายหลังในประวิติศาสตร์ ประชาชาติอิสราเอลได้มีกองทัพประจำการของตนเองเกิดขึ้น ความรู้สึกที่ว่าพระเจ้าทรงเป็นนักรบของพวกเขาและพระองค์จะทรงปกป้องคนของพระองค์ไม่ว่าพวกเขาจะมีกองทหารหรือไม่อาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ว่าทำไมคนอิสราเอลจึงไม่กระตือรือร้นในการมีกองทหาร การมีกองทหารประจำการในหมู่คนอิสราเอลเกิดขึ้นหลังจากที่กษัตริย์ซาอูล, ดาวิดและโซโลมอน ได้ก่อตั้งระบบการเมืองส่วนกลางที่เข้มแข็งขึ้นเท่านั้น กษัตริย์ซาอูลเป็นคนแรกที่ได้ทรงจัดตั้งกองทัพถาวรขึ้น (1 ซามูเอล 13:2; 24:2; 26:2) แต่กระนั้นก็ตามกองทัพจะต้องได้รับการสนับสนุนทางด้านอาหารและของจำเป็นอื่น ๆ จากครอบครัวของแต่ละคน (1 ซามูเอล 17:17-19)

    กษัตริย์ดาวิดทรงสานต่อสิ่งที่กษัตริย์ซาอูลได้ทรงเริ่มต้นเอาไว้ พระองค์ทรงเพิ่มพลังพล, ทรงนำทหารรับจ้างจากแคว้นอื่น ๆ ที่สัตย์ซื่อต่อพระองค์เท่านั้นเข้ามา (2 ซามูเอล 15:19-22) แล้วพระองค์ทรงมอบให้โยอาบเป็นแม่ทัพผู้ควบคุมดูแลกองทัพของพระองค์โดยตรง ภายใต้การทรงนำของกษัตริย์ดาวิด กองทัพของอิสราเอลเข้มแข็งมากยิ่งขึ้นในเชิงรุกและได้มีชัยต่อเมืองใกล้เคียงเช่นอัมโมน เป็นต้น (2 ซามูเอล 11:1; 1 พงศาวดาร 20:1-3) กษัตริย์ดาวิดได้ทรงตั้งระบบกองเวรหมุนเวียนผลัดเปลี่ยนทหารซึ่งมีอยู่ 12 กลุ่ม กองเวรหนึ่งประกอบด้วยทหาร 24,000 นาย แต่ละกองเวรต้องเข้าเวรหนึ่งเดือนภายในหนึ่งปี (1 พงศาวดาร 27) แม้ว่าในสมัยของกษัตริย์โซโลมอนจะเป็นสมัยที่สงครามสงบ แต่พระองค์ก็ยังทรงขยายกองทัพให้ใหญ่ขึ้นด้วยการเพิ่มรถรบและพลม้า (1 พงศ์กษัตริย์ 10:26) การมีกองทัพประจำการยังคงดำเนินต่อไปเรื่อย ๆ (แม้ว่าอาณาจักรจะถูกแบ่งแยกหลังจากที่กษัตริย์โซลมอนสิ้นพระชนม์ก็ตาม) จนกระทั่งถึงปี กคศ 586 เมื่ออิสราเอลล่มสลายไปด้วยเหตุผลทางการเมือง

    พระเยซูทรงประหลาดใจเมื่อนายร้อยชาวโรมันเข้ามาหาพระองค์ (นายทหารดูแลทหารหนึ่งร้อยคน) คำตอบของนายร้อยแสดงให้เห็นว่าเขาเข้าใจเรื่องสิทธิอำนาจชัดเจน รวมถึงความเชื่อของเขาในพระเยซูด้วย (มัทธิว 8:5-13) พระองค์ไม่ได้ทรงตำหนิอาชีพของเขา พันธสัญญาใหม่เอ่ยถึงนายร้อยหลายคนและชมเขาเหล่านั้นว่าเป็นคริสเตียน, ผู้ยำเกรงพระเจ้าและมีนิสัยใจคอดี (มัทธิว 8:5,8,13; 27:54; มาระโก 15:39,44-45; ลูกา 7:2,6; 23:47; กิจการ 10:1,22; 21:32; 22:25-26; 23:17,23; 24:23; 27:1,6,11,31,43; 28:16)

    สถานที่และตำแหน่งในประวัติศาสตร์คงเปลี่ยนแปลงไปหมดแล้ว แต่เราควรให้คุณค่าต่อกองทัพของเราเหมือนดังที่เหล่านายร้อยในพระคัมภีร์เหล่านั้นได้รับ การเป็นทหารได้รับการยกย่องเป็นอย่างมาก อาจารย์เปาโลพูดถึงเอปาโฟรดิทัส, ผู้เป็นพี่น้องคริสเตียน, ว่าเป็น “เพื่อนทหาร” ของท่าน (ฟิลิปปี 2:25) นอกจากนั้นพระคัมภีร์ยังใช้ศัพท์ทหารเมื่อพูดถึงความเข้มแข็งในพระเจ้าโดยการใช้คำว่ายุทธภัณฑ์ทั้งชุดของพระเจ้า (เอเฟซัส 6:10-20)

    ใช่แล้วพระคัมภีร์พูดถึงการเข้าเป็นทหาร, ทั้งโดยทางตรงและทางอ้อม, คริสเตียนทั้งหญิงและชายที่รับใช้ประเทศชาติด้วยความเต็มใจ, ภูมิใจ และมีเกียรติ สามารถมั่นใจได้ว่างานรับใช้ประเทศชาติของเขาการยอมรับและให้เกียรติโดยพระเจ้าผู้ยิ่งใหญ่สูงสุดของเรา ผู้ที่รับใช้ในกองทัพสมควรที่จะได้รับความนับถือและคำขอบคุณจากพวกเรา



    กลับสู่หน้าภาษาไทย

  • พระคัมภีร์พูดว่าอย่างไรเกี่ยวกับคริสเตียนเข้าเป็นทหาร?
  • พระคัมภีร์พูดว่าอย่างไรเกี่ยวกับการเป็นความ/การฟ้องร้อง?




    คำถาม: พระคัมภีร์พูดว่าอย่างไรเกี่ยวกับการเป็นความ/การฟ้องร้อง?

    คำตอบ:
    หนังสือ 1 โครินธ์ 6:1-8 สั่งไว้อย่างชัดเจนไม่ให้ผู้เชื่อเป็นความต่อกัน การแสดงว่าคริสเตียนไม่สามารถยกโทษให้ซึ่งกันและกันและกลับคืนดีกันได้ เป็นการแสดงถึงการพ่ายแพ้ฝ่ายวิญญาณ ทำไมใครถึงอยากจะเป็นคริสเตียนหากคริสเตียนยังมีปัญหามากพอ ๆ กับคนอื่นและไม่สามารถแก้ปัญหาได้เหมือน ๆ กัน? แต่ในบางกรณีการฟ้องร้องอาจเป็นเรื่องที่สมควรจะทำก็ได้ ในบางกรณี หากรูปแบบเพื่อการคืนดีที่พระคัมภีร์วางไว้ได้ถูกนำมาใช้แล้ว (มัทธิว 18:15-17) แต่ฝ่ายผู้ก่อเรื่องยังทำผิดอยู่ การฟ้องร้องอาจเป็นเรื่องเหมาะสมก็ได้ แต่ผู้ต้องการฟ้องควรอธิษฐานขอสติปัญญา (ยกกอบ 1:5) และปรึกษาผู้นำฝ่ายวิญญาณเสียก่อน

    หนังสือ 1 โครินธ์ 6:4 กล่าวว่า “เมื่อพวกท่านเป็นความกันเรื่องชีวิตนี้ ท่านจะตั้งคนที่คริสตจักรนับถือน้อยที่สุดให้ตัดสินหรือ” บริบททั้งบริบทในข้อพระคัมภีร์ 1 โครินธ์ 6:1-6 พูดถึงการทะเลาะเบาะแว้งกันในคริสตจักร แต่ท่านอาจารย์เปาโลได้ยกระบบศาลมาอ้างถึงเมื่อท่านพูดเกี่ยวกับการเป็นความกันเรื่อชีวิตนี้ ท่านหมายความว่าหากเป็นเรื่องเกี่ยวกับชีวิตนี้ที่เกิดขึ้นนอกคริสจักร นี่คือเหตุผลว่าทำไม่จะต้องมีระบบศาลยุติธรรมเกิดขึ้น ท่านเปาโลกำลังพูดว่าปัญหาภายในคริสตจักรไม่ควรถึงกับต้องขึ้นศาล แต่ควรได้รับการตัดสินกันเองภายในคริสตจักร

    หนังสือกิจการบทที่ 21 เริ่มตั้งแต่ข้อที่ 26 พูดเรื่องท่านอาจารย์เปาโลถูกจับและถูกกล่าวหาอย่างผิด ๆ ในเรื่องที่ท่านไม่ได้ทำ แล้วท่านก็ถูกทหารโรมันจับตัวไป และในบทที่ 22 เริ่มต้นที่ข้อ 24 ข้อพระคัมภีร์กล่าวว่า “นายพันจึงสั่งให้พาเปาโลเข้าไปในกรมทหาร และสั่งให้ไต่สวนโดยการเฆี่ยน เพื่อจะได้รู้ว่าเขาร้องปรักปรำท่านด้วยเหตุประการใด ครั้นเอาเชือกหนังมัดเปาโล ท่านจึงถามนายร้อยซึ่งยืนอยู่ที่นั่นว่า การที่จะเฆี่ยนคนสัญชาติโรมก่อนพิพากษาปรับโทษนั้นถูกต้องตามกฎหมายหรือ” ท่านเปาโลใช้กฎหมายของชาวโรมและการเป็นชาวโรมป้องกันตัวเอง การใช้ระบบศาลไม่มีอะไรผิดตราบเท่าที่มันเป็นการกระทำด้วยเหตุผลที่ถูกต้องและใจที่บริสุทธิ์

    หนังสือ 1 โครินธ์ 6:7 กล่าวว่า “อันที่จริงเมื่อพวกท่านไปเป็นความกัน ท่านก็ตกจากระดับที่ควร ทำไมท่านจึงไม่ทนต่อการร้ายซึ่งเขาทำแก่ท่าน ทำไมท่านจึงไม่ยอมให้เขาโกง” สิ่งที่ท่านเปาโลกำลังเป็นห่วงในตอนนี้คือการเป็นพยานของผู้เชื่อ การที่เราจะยอมถูกฉวยโอกาส หรือถูกทำร้ายก็จะดีกว่าที่จะผลักให้คน ๆ นั้นห่างออกไปจากพระคริสต์โดยการพาเขาไปขึ้นศาล อะไรจะสำคัญมากกว่ากัน, สงครามกฎหมาย หรือ สงครามช่วงชิงวิญญาณ?

    สรุปว่า คริสเตียนควรเป็นความกันในศาลด้วยคดีที่เกี่ยวกับคริสตจักรไหม? ไม่ควรแน่นอน! คริสเตียนควรเป็นความกันในศาลด้วยคดีอื่น ๆ ไหม? หากเลี่ยงได้เราก็ไม่ควรทำ คริสเตียนควรเป็นความกับคนที่ไม่ใช่คริสเตียนไหม? ขอย้ำอีกครั้งหนึ่งว่าหากเลี่ยงได้เราก็ไม่ควรทำ แต่ในบางกรณี เช่นการปกป้องสิทธิของตนเอง (ดังเช่นกรณีของอัครทูตเปาโล) การใช้กฎหมายเข้ามาช่วยอาจเป็นวิธีที่เหมาะสมก็ได้



    กลับสู่หน้าภาษาไทย

  • พระคัมภีร์พูดว่าอย่างไรเกี่ยวกับการเป็นความ/การฟ้องร้อง?
  • พระคัมภีร์พูดว่าอย่างไรเกี่ยวกับวิธีค้นหาวัตถุประสงค์ในชีวิต?




    คำถาม: พระคัมภีร์พูดว่าอย่างไรเกี่ยวกับวิธีค้นหาวัตถุประสงค์ในชีวิต?

    คำตอบ:
    พระคัมภีร์พูดไว้อย่างชัดเจนว่าวัตถุประสงค์ในชีวิตของเราควรเป็นอย่างไร!

    วัตถุประสงค์ในชีวิตของบุคคลในพระคัมภีร์:

    โซโลมอน: หลังจากที่ได้พูดถึงการใช้ชีวิตที่หาประโยชน์ไม่ได้เหมือนกับว่าโลกนี้และทั้งหมดในโลกนี้มีอยู่เท่านั้น กษัตริย์โซโลมอนสรุปไว้ในหนังสือปัญญาจารย์ว่า “จบเรื่องแล้ว ได้ฟังกันทั้งสิ้นแล้ว จงยำเกรงพระเจ้า และรักษาพระบัญญัติของพระองค์ เพราะนี่แหละเป็นหน้าที่ของมนุษย์ทั้งปวง ด้วยว่าพระเจ้าจะทรงเอาการงานทุกประการเข้าสู่การพิพากษา พร้อมด้วยสิ่งเร้นลับทุกอย่าง ไม่ว่าดีหรือชั่ว” (ปัญญาจารย์ 12:13-14) กษัตริย์โซโลมอนตรัสว่าทั้งหมดเกี่ยวกับการมีชีวิตอยู่คือการถวายเกียรติพระเจ้าด้วยความคิด และชีวิตและด้วยการรักษาพระบัญญัติของพระองค์ เพราะในวันหนึ่งเราจะต้องไปยืนจำเพาะพระพักตร์ของพระองค์เพื่อรับการพิพากษา

    ดาวิด: ไม่เหมือนกับคนอื่นซึ่งมองแค่ความสุขในชีวิตปัจจุบัน กษัตริย์ดาวิดมองความสุขในอนาคต พระองค์ตรัสว่า “ส่วนข้าพระองค์ ข้าพระองค์จะเห็นพระพักตร์ของพระองค์ในความชอบธรรม เมื่อข้าพระองค์ตื่นขึ้น ข้าพระองค์จะอิ่มเอิบใจด้วยพระลักษณะของพระองค์” (สดุดี 17:15) ความสุขใจสำหรับกษัตริย์ดาวิดคือวันที่พระองค์ตื่นขึ้นมา (ในชีวิตหน้า) แล้วได้เห็นพระพักตร์ของพระเจ้า (ได้มีสามัคคีธรรมกับพระองค์) และมีพระลักษณะของพระองค์ (1 ยอห์น 3:2)

    อาสาฟ: ในหนังสือสดุดี 73 อาสาฟพูดว่าท่านได้ถูกทดลองอย่างไรด้วยความริษยาคนชั่วผู้ที่ดูเหมือนว่าจะไม่สนใจอะไรเลยนอกจากจะสร้างความมั่งคั่งให้กับตัวเองด้วยการฉวยโอกาสเอาจากคนอื่น แต่ในที่สุดท่านก็ได้พิจารณาเห็นถึงจุดจบของพวกเขาเหล่านั้น แล้วตรงกันข้ามกับสิ่งที่พวกเขาแสวงหาในชีวิต ท่านพูดไว้ในข้อ 25 ว่าสิ่งที่สำคัญสำหรับท่านก็คือ: “นอกจากพระองค์ ข้าพระองค์มิมีผู้ใดในฟ้าสวรรค์ นอกจากพระองค์แล้ว ข้าพระองค์ไม่ปรารถนาใดใดในโลก” สำหรับท่าน ความสัมพันธ์กับพระเจ้าคือสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิต

    เปาโล: อัครทูตเปาโลพูดว่าทั้งหมดที่ท่านได้ทำสำเร็จลงก่อนที่จะได้เผชิญหน้ากับพระคริสต์ผู้ทรงฟื้นคืนพระชนม์ และทุกสิ่งที่ครั้งหนึ่งท่านเคยมีหรือเคยทำ (โดยเฉพาะทางด้านศาสนา) ตอนนี้มันเปรียบเสมือนกองขยะสำหรับท่านเมื่อเปรียบเทียบกับการที่ได้รู้จักกับองค์พระเยซูคริสต์ แม้ว่าการที่ท่านได้รู้จักกับพระคริสต์นั้นรวมถึงความทุกข์ยากและการสูญเสียหมดทุกอย่างก็ตาม ในหนังสือ ฟีลิปปี 3:9-10 ท่านกล่าวว่าสิ่งที่ท่านต้องการคือ “และจะได้ปรากฏอยู่ในพระองค์ ไม่มีความชอบธรรมของข้าพเจ้าเองซึ่งได้มาโดยธรรมบัญญัติ แต่มีมาโดยความเชื่อในพระคริสต์ เป็นความชอบธรรมซึ่งมาจากพระเจ้าซึ่งขึ้นอยู่กับความเชื่อ ข้าพเจ้าต้องการจะรู้จักพระองค์ และได้รับประสบการณ์ในฤทธิ์เดชเนื่องในการที่พระองค์ทรงคืนพระชนม์นั้น และร่วมทุกข์กับพระองค์ คือยอมตั้งอารมณ์ตายเหมือนพระองค์ ถ้าเป็นไปได้ข้าพเจ้าก็จะได้เป็นขึ้นมาจากความตายด้วย” สำหรับท่านเปาโลแล้วสิ่งที่สำคัญที่สุดคือการได้รู้จักกับพระคริสต์และมีความชอบธรรมจากพระองค์ซึ่งได้มาโดยความเชื่อในพระคริสต์ และ ได้มีสามัคคีธรรมกับพระองค์แม้ว่าจะต้องถูกกดขี่ข่มเหงเพราะการนั้นก็ตาม (2 ทิโมธี 3:12) ความปรารถนาสูงสุดของท่านคือการรอคอยเวลาที่ท่านจะได้มีส่วนร่วมในการ “เป็นขึ้นมาจากความตาย” ด้วย

    วัตถุประสงค์ในชีวิตตามความหมายในหนังสือวิวรณ์:

    ดังที่เราได้รู้กันอยู่แล้ว หนังสือวิวรณ์ซึ่งเป็นหนังสือเล่มสุดท้ายในพระคัมภีร์ ได้พูดว่าอะไรจะเกิดขึ้นบ้างในยุคสุดท้าย หลังจากที่พระคริสต์เสด็จกลับมาและการครองราชย์ 1000 ปีบนโลกของพระองค์สิ้นสุดลง ผู้ไม่เชื่อจะฟื้นขึ้นมาและการกระทำของพวกเขาจะได้รับการพิพากษา แล้วพวกเขาจะถูกส่งลงไปยังบึงไฟนรกและจะต้องอยู่ที่นั่นชั่วนิรันดร์ (วิวรณ์ 20) โลกและสวรรค์ตามที่เรารู้จักจะถูกทำลายลง แล้วโลกใหม่และสวรรค์ใหม่จะถูกสร้างขึ้นมาและสภาวะนิรันดร์จะมาถึง แล้วมวลมนุษย์จะได้อยู่ก้บพระเจ้าและพระองค์จะทรงอยู่กับพวกเขาอีกครั้งหนึ่ง ดังเช่นที่เกิดขึ้นในสวนเอเดนในหนังสือปฐมกาล (วิวรณ์ 21:3); คำสาปแช่งที่หลงเหลืออยู่ (บนโลกอันเนื่องมาจากความบาปของมนุษย์) จะถูกขจัดให้หมดไป (ความโศกเศร้า, ความเจ็บป่วย, ความตาย, ความเจ็บปวด) (วิวรณ์ 21:4) พระเจ้าตรัสว่าผู้ที่มีชัยเหนือทุกอย่างจะได้รับทุกอย่างเป็นมรดก พระองค์จะทรงเป็นพระเจ้าของพวกเขาและพวกเขาจะเป็นบุตรของพระองค์ ดังนั้น เหมือนอย่างที่เริ่มต้นในหนังสือปฐมกาล มวลมนุษย์ที่ได้รับการไถ่จะมีชีวิตอยู่และมีสามัคคีธรรมกับพระเจ้าโดยเป็นอิสระจากความบาป (ทั้งภายนอกและภายใน) และคำสาปแช่งในโลกที่บริบูรณ์พร้อม และมีหัวใจที่สมบูรณ์เหมือนอย่างหัวใจของพระคริสต์เอง (1 ยอห์น 3:2-3)

    วัตถุประสงค์ในชีวิตตามความหมายของพระเยซูคริสต์:

    ในตอนแรกพระเจ้าทรงสร้างมนุษย์ให้เพลิดเพลินอยู่กับ (1) การมีสามัคคีธรรมกับพระองค์, (2) การมีความสัมพันธ์กับคนอื่น, (3) การทำงาน, (4) การมีอำนาจปกครองโลก แต่เมื่อมนุษย์ล้มลงในความบาป การมีสามัคคีธรรมกับพระเจ้าจึงถูกตัดขาดออกไป ความสัมพันธ์กับมนุษย์ด้วยกันเป็นไปอย่าง “ไม่ราบรื่น” การงานดูเหมือนจะมีข้อเสีย และมนุษย์ก็ต้องพยามที่จะรักษาอำนาจครอบครองเหนือธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นอำนาจเหนือลมฟ้าอากาศหรือวัชพืชในท้องทุ่งหรือในสวนก็ตาม ในสวรรค์ใหม่และโลกใหม่มนุษย์จะมามีอำนาจดูแลสิ่งเหล่านี้อีกครั้งหนึ่งและนำสภาวะทั้งหมดกลับสู่สภาพสมบูรณ์ แต่เราจะเป็นหนึ่งในกลุ่มที่ไปถึงโลกใหม่และสวรรค์ใหม่ได้อย่างไร? และเราจะต้องทำอะไรบ้างในตอนนี้? เมื่อคำสาปแช่งแห่งความบาปหมดไปมีเพียงชีวิตหน้าเท่านั้นหรือหรือที่มีความหมาย? พระเยซูคริสต์, พระบุตรของพระเจ้า, ทรงจากบ้านของพระองค์ในสวรรค์, เสด็จมาทรงรับสภาพมนุษย์แต่ยังทรงรักษาสภาพพระเจ้า เพื่อชดเชยบาปให้กับเราเพื่อที่เราจะได้มีชีวิตนิรันดร์และมีชีวิตที่มีความหมาย เนื่องจากความบาปของเราที่แยกเราออกจากพระเจ้าและนำคำสาปแช่งมาสู่เรา หนังสือมัทธิว 1:21 กล่าวว่าพระเยซูเสด็จมาเพื่อ “เป็นผู้ที่จะโปรดช่วยชนชาติของท่านให้รอดจากความผิดบาปของเขา”

    วัตถุประสงค์ในชีวิตขึ้นอยู่กับต้นกำเนิดของมวลมนุษย์:

    หากเราคือผลพวงของการก่อกำเนิดที่ค่อยเป็นค่อยไปในจักรวาล (วิวัฒนาการ) ดังนั้นเราก็คือสิ่งมีชีวิตทางชีววิทยาที่ประสบความสำเร็จในการทำให้ตัวเองมีสติสัมปชัญญะได้ แต่เราหาความหวังอะไรไม่ได้เลยเพราะเราไม่มีวัตถุประสงค์อะไรในชีวิตที่มากไปกว่าการมีชีวิตอยู่และสืบสายพันธ์จนกว่าสายพันธ์ใหม่จะเกิดขึ้นเพื่อพัฒนาสายพันธุ์เดิมให้ดีขึ้น แต่เราไม่ใช่ผลพวงของการก่อกำเนิดโดยบังเอิญในจักรวาล วิทยาศาสตร์ที่แท้จริงแสดงหลักฐานให้เห็นว่าการวิวัฒนาการใหญ่ (การเปลี่ยนจากสายพันธ์หนึ่งไปยังอีกสายพันธ์หนึ่งที่แตกต่างออกไป) เป็นเรื่องตลก การวิวัฒนาการถูกเรียกผิด ๆ ว่าเป็น “วิทยาศาสตร์” ทั้ง ๆ ที่มันเกิดขึ้นซ้ำอีกไม่ได้หรือมีการเฝ้าสังเกตการณ์เปลี่ยนแปลงไม่ได้ แต่มันต้องเป็นที่ยอมรับโดยความเชื่อเท่านั้นเช่นเดียวกับการทรงสร้าง

    เมื่อเราศึกษาเกี่ยวกับจุลชีววิทยามากยิ่งขึ้น เราก็ได้รู้ว่าการฟอร์มตัวของแม้ว่าจะเป็นโมเลกุลของโปรตีนที่เล็กที่สุดและที่จำเป็นในการสร้างชีวิตเป็นเรื่องที่ไม่น่าจะเป็นไปได้ แม้ว่าจะใช้เวลาเป็นล้าน, ล้าน, ล้านปีก็ตามสำหรับโอกาสที่กรดอมิโนจะฟอร์มตัวตามลำดับได้อย่างถูกต้อง หรือแม้แต่บันทึกการฟอร์มตัวของฟอสซิลก็ไม่สามารถสนับสนุนทฤษฎีวิวัฒนาการได้ นักค้นคว้าเกี่ยวกับทฤษฎีวิวัฒนาการเองก็ได้พูดไว้ว่า มันน่าจะมีสิ่งมีชีวิตชีวิตมากมายที่อยู่ในระหว่างการเปลี่ยนแปลงที่ยังไม่ได้ถูกค้นพบ สิ่งที่หลักฐานจากซากฟอสซิลไม่ได้ยืนยันคือสิ่งที่หนังสือปฐมกาลบทที่หนึ่งได้กล่าวไว้: ชนิดของต้นไม้หรือสัตว์จำนวนมากมายที่มีลักษณะแตกต่างกันปรากฏขึ้นในเวลาเดียวกันและชนิดของต้นไม้และสัตว์เหล่านั้นส่วนใหญ่มีลักษณะเหมือนกับชนิดของต้นไม้และสัตว์ที่มีอยู่ในปัจจุบัน ความเปลี่ยนแปลงในนกหรือแมลงเท่าที่มีการเฝ้าสังเกตในช่วงศตวรรษที่ผ่านมาและได้ถูกนำมาอ้างในการสนับสนุนทฤษีวิวัฒนาการเป็นการเปลี่ยนแปลงภายในสายพันธ์เดียวกัน (จุลวิวัฒนาการ) นี่เป็นสิ่งที่พระคัมภีร์หรือผู้สนับสนุนทฤษีวิวัฒนาการไม่ได้เถียง และในขณะที่เราเรียนรู้มากขึ้นเกี่ยวกับสิ่งที่เรียกว่าเซลล์ธรรมดา ๆ เรายังได้พบสิ่งที่หนังสือปฐมกาลบทที่หนึ่งได้พูดไว้อีกด้วย: นั่นคือชีวิตคือผลงานของนักออกแบบที่ยิ่งใหญ่และพระผู้ทรงสร้าง เนื่องจากว่าเราไม่ใช่ผลพวงที่เกิดขึ้นโดยบังเอิญของการเปลี่ยนแปลงของจักรวาล แต่เราเกิดจากการทรงสร้างของพระเจ้า, หากจะมีวัตถุประสงค์สำหรับการมีชีวิต, พระเจ้าได้ทรงบอกเราแล้วว่าวัตถุประสงค์นั้นคืออะไร



    กลับสู่หน้าภาษาไทย

  • พระคัมภีร์พูดว่าอย่างไรเกี่ยวกับวิธีค้นหาวัตถุประสงค์ในชีวิต?