• คำถามตามหัวข้อเกี่ยวกับพระคัมภีร์



    คำถามตามหัวข้อเกี่ยวกับพระคัมภีร์

    คริสเตียนมีมุมมองเกี่ยวกับการฆ่าตัวตายอย่างไร? พระคัมภีร์พูดเกี่ยวกับการฆ่าตัวตายว่าอย่างไร?
  • พระคัมภีร์พูดเกี่ยวกับการถวายทศางค์ว่าอย่างไร?
  • พระคัมภีร์พูดว่าอย่างไรเกี่ยวกับการทำแท้ง?
  • พระคัมภีร์พูดว่าอย่างไรเกี่ยวกับโทษประหารชีวิต/มหันตโทษ?
  • พระคัมภีร์พูดว่าอย่างไรเกี่ยวกับโรคซึมเศร้า? คริสเตียนจะเอาชนะโรคซึมเศร้าได้อย่างไร?
  • พระคัมภีร์พูดเกี่ยวกับการบริหารการเงินของท่านไว้ว่าอย่างไร?
  • พระคัมภีร์พูดว่าอย่างไรเกี่ยวกับการหายโรค? มีการหายโรคในการเป็นเครื่องถวายบูชาลบบาปของพระคริสต์ไหม?
  • พระคัมภีร์พูดเกี่ยวกับสงครามว่าอย่างไร?


  • กลับสู่หน้าภาษาไทย

  • คำถามตามหัวข้อเกี่ยวกับพระคัมภีร์
  • คริสเตียนมีมุมมองเกี่ยวกับการฆ่าตัวตายอย่างไร? พระคัมภีร์พูดเกี่ยวกับการฆ่าตัวตายว่าอย่างไร?




    คำถาม: คริสเตียนมีมุมมองเกี่ยวกับการฆ่าตัวตายอย่างไร? พระคัมภีร์พูดเกี่ยวกับการฆ่าตัวตายว่าอย่างไร?

    คำตอบ:
    ตามมุมมองจากพระคัมภีร์ การฆ่าตัวตายไม่ได้เป็นตัวตัดสินว่าคน ๆ นั้นจะได้ขึ้นสวรรค์หรือไม่ หากเขายังไม่ได้รับความรอด การฆ่าตัวตายของเขาก็ไม่ได้ช่วยอะไรเลย นอกจากจะเป็นการ “เร่ง” ให้เขาไปสู่บึงไฟนรก “เร็วขึ้น” เท่านั้น อย่างไรก็ตามในที่สุดเขาก็จะต้องตกไปอยู่ในบึงไฟนรกอยู่ดี ไม่ใช่เพราะการฆ่าตัวตายของเขา แต่เพราะการปฎิเสธความรอดผ่านทางพระเยซูคริสต์ของเขาต่างหาก พระคัมภีร์กล่าวถึงคนสี่คนที่ฆ่าตัวตาย คือซาอูล (1 ซามูเอล 31:4) อาหิโธเฟล (2 ซามูเอล 17:23), ซิมรี (1 พงศ์กษัตริย์ 16:18), และยูดาส (มัทธิว 27:5) คนเหล่านี้แต่ละคนชั่วร้ายและเป็นคนบาป พระคัมภีร์มองว่าการฆ่าตัวตายคือการฆ่าคน - นั่นคือ – การฆ่าตัวเอง พระเจ้าคือผู้เดียวที่เป็นผู้ตัดสินว่าเมื่อไหร่คน ๆ นั้นจะถึงเวลาตาย และจะตายอย่างไร การนำอำนาจนี้มาใช้เสียเองพระคัมภีร์ถือว่าเป็นการหมิ่นประมาทพระเจ้า

    พระคัมภีร์พูดถึงคริสเตียนที่ฆ่าตัวตายว่าอย่างไร? ข้าพเจ้าไม่เชื่อว่าคริสเตียนที่ฆ่าตัวตายจะสูญเสียความรอดและต้องตกนรก พระคัมภีร์สอนว่าตั้งแต่วินาทีแรกที่คน ๆ นั้นเชื่อในพระคริสต์อย่างแท้จริงเขาก็จะปลอดภัยชั่วนิรันดร์ (ยอห์น 3:16) ตามที่พระคัมภีร์สอนไว้ คริสเตียนรู้อย่างไม่ต้องสงสัยว่าเขาได้รับชีวิตนิรันดร์แล้วไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น “ข้อความเหล่านี้ข้าพเจ้าได้เขียนมาถึงท่านทั้งหลายที่เชื่อในพระนามของพระบุตรของพระเจ้า เพื่อท่านทั้งหลายจะได้รู้ว่าท่านมีชีวิตนิรันดร์ และเพื่อท่านจะได้เชื่อในพระนามของพระบุตรของพระเจ้า” (1 ยอห์น 5:13) ไม่มี “สิ่งใดที่ได้ถูกทรงสร้างขึ้นมา” สามารถแยกคริสเตียนออกจากความรักของพระเจ้าได้! “เพราะข้าพเจ้าเชื่อมั่นว่า แม้ความตาย หรือชีวิต หรือทูตสวรรค์ หรือผู้มีบรรดาศักดิ์ หรือฤทธิ์เดชทั้งหลาย หรือสิ่งซึ่งมีอยู่ในปัจจุบันนี้ หรือสิ่งซึ่งจะมีในภายหน้า หรือซึ่งสูง หรือซึ่งลึก หรือสิ่งอื่นใดๆที่ได้ทรงสร้างแล้วนั้น จะไม่สามารถกระทำให้เราทั้งหลายขาดจากความรักของพระเจ้า ซึ่งมีอยู่ในพระเยซูคริสต์องค์พระผู้เป็นเจ้าของเราได้” (โรม 8:38-39) หากไม่มีสิ่งใดที่ “ทรงสร้าง” ขึ้นมาสามารถแยกคริสเตียนออกจากความรักของพระเจ้าได้ คริสเตียนคนที่ฆ่าตัวตายก็เป็นสิ่งที่พระองค์ “ทรงสร้าง” เช่นกัน ดังนั้นแม้การฆ่าตัวตายของเขาก็ไม่อาจแยกเขาออกจากความรักของพระเจ้าได้ พระเยซูทรงสิ้นพระชนม์เพื่อไถ่บาปทั้งสิ้นให้กับเรา … และหากว่าคริสเตียนแท้จะฆ่าตัวตายขึ้นมา ในขณะที่เขาถูกโจมตีฝ่ายวิญญาณและมีความอ่อนแอ ความบาปนั้นก็เป็นความบาปที่พระองค์ทรงสิ้นพระชนม์เพื่อไถ่ไว้แล้วเช่นกัน

    นี่ไม่ได้หมายความว่าการฆ่าตัวตายไม่ใช่ความบาปที่ร้ายแรงต่อพระเจ้า ตามที่มีปรากฏในพระคัมภีร์ การฆ่าตัวตายคือการฆาตกรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่ผิดอยู่เสมอ ข้าพเจ้าสงสัยเหลือเกินว่าคนที่บอกว่าตัวเองเป็นคริสเตียนแล้วยังฆ่าตัวตายนั้น มีความเชื่อจริงหรือไม่ ไม่มีสถานการณ์ใดที่ต้องทำให้คน ๆ หนึ่ง โดยเฉพาะคนที่เป็นคริสเตียน ถึงกับต้องฆ่าตัวตาย คริสเตียนได้รับการทรงเรียกให้มีชีวิตอยู่เพื่อพระเจ้า - การตัดสินว่าเมื่อไหร่เขาจึงจะตายเป็นการตัดสินใจของพระเจ้าแต่เพียงพระองค์เดียว บางทีวิธีอธิบายที่ดีที่สุดเกี่ยวกับการฆ่าตัวตายสำหรับคริสเตียนคงต้องดูจากหนังสือเอสเธอร์ ในเปอร์เซียมีกฎว่าผู้ที่เข้าเฝ้าพระเจ้าแผ่นดินโดยไม่ได้รับอนุญาตจะต้องถูกประหารชีวิต นอกจากพระเจ้าแผ่นดินจะทรงยื่นคฑามาที่เขาผู้นั้นเท่านั้น ซึ่งป็นการแสดงถึงพระเมตตาของพระองค์ การฆ่าตัวตายสำหรับคริสเตียนเปรียบเสมือนการเข้าเฝ้าโดยไม่ได้รับอนุญาต โดยไม่คอยให้พระเจ้าทรงเรียกเสียก่อน พระองค์จะทรงยื่นคฑามาที่ท่านแน่นอนเพื่อเป็นการช่วยชีวิตนิรันดร์ของท่าน แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าพระองค์จะทรงพอพระทัยในท่าน ถึงแม้ว่าข้อพระคัมภีร์ 1 โครินธ์ 3:15 จะไม่ได้พูดเกี่ยวกับการฆ่าตัวตาย แต่มันก็เป็นคำอธิบายที่ดีว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับคริสเตียนที่ฆ่าตัวตาย: “ต้วเขาเองจะรอด แต่เหมือนดังรอดจากไฟ”



    กลับสู่หน้าภาษาไทย

  • คริสเตียนมีมุมมองเกี่ยวกับการฆ่าตัวตายอย่างไร? พระคัมภีร์พูดเกี่ยวกับการฆ่าตัวตายว่าอย่างไร?
  • พระคัมภีร์พูดเกี่ยวกับการถวายสิบลดไว้ว่าอย่างไร?




    คำถาม: พระคัมภีร์พูดเกี่ยวกับการถวายสิบลดไว้ว่าอย่างไร?

    คำตอบ:
    การถวายสิบลดเป็นเรื่องที่คริสเตียนหลายคนมีปัญหากับมัน ในหลาย ๆ คริสตจักร การถวายสิบลดถูกเน้นมากเกินไป ในทำนองเดียวกัน คริสเตียนหลายคนปฏิเสธไม่ยอมทำตามพระคัมภีร์เกี่ยวกับการถวายให้กับพระเจ้า การถวายสิบลด/การถวาย ควรจะเป็นการกระทำด้วยความชื่นชมยินดี, และเป็นพระพร แต่เป็นที่น่าเสียใจว่ามันเกิดขึ้นเป็นส่วนน้อยในคริสตจักรในปัจจุบัน

    การถวายสิบลดเป็นแนวความคิดที่มาจากพระคัมภีร์เดิม การถวายสิบลดเป็นกฎข้อบังคับสำหรับคนอิสราเอลทุกคน คนอิสราเอลจะต้องถวาย 10% ของทุกสิ่งที่เขาหามาได้และเพาะปลูกได้ไว้ที่พลับพลา/พระวิหาร (เลวีนิติ 27:30; กันดารวิถี 18:26; เฉลยธรรมบัญญัติ 14:24; 2 พงศ์ศาวดาร 31:5) บางคนเข้าใจว่าการถวายทศางค์ในพันธสัญญาเดิมเปรียบเสมือนการเสียภาษี เพื่อให้ปุโรหิตและคนเลวีได้มีกินมีใช้ ในพันธสัญญาใหม่ไม่มีที่ไหนสั่งหรือแม้แต่แนะนำให้คริสเตียนยอมรับกฎแห่งการถวายสิบลดอย่างเป็นทางการ ท่านอาจารย์เปาโลบอกว่าผู้เชื่อควรแยกรายรับไว้ส่วนหนึ่งเพื่อสนับสนุนคริสตจักร (1 โครินธ์ 16:1-2).

    ไม่มีที่ไหนในพันธสัญญาใหม่ที่บอกจำนวนเปอร์เซ็นต์ของรายได้ที่คริสเตียนจะต้องแยกไว้ แต่บอกว่าให้เป็นไป “ตามที่พระเจ้าได้ทรงให้ท่านจำเริญขึ้น” (1 โครินธ์ 16:2). คริสตจักรยกเอาตัวเลข 10% มาจากทศางค์ในพันธสัญญาเดิมแล้วนำมาประยุกต์ว่าเป็นจำนวน “ขั้นต่ำที่แนะนำ” สำหรับคริสเตียนในการถวาย อย่างไรก็ตามคริสเตียนไม่ควรมีความรู้สึกว่าเป็นหน้าที่ที่จะต้องถวายเสมอ เขาควรถวาย “ตามที่พระเจ้าได้ทรงให้ท่านจำเริญขึ้น” นี่หมายความว่า บางครั้งอาจมากกว่าจำนวนทศางค์ บางครั้งอาจน้อยกว่า ทั้งหมดขึ้นอยู่ก้บความสามารถของเขาและความจำเป็นของคริสตจักร คริสเตียนทุกคนควรอธิษฐานขอสติปัญญาจากพระเจ้าว่าเขาควรถวายหรือไม่และ/หรือ เท่าไหร่ (ยากอบ 1:5) “ทุกคนจงให้ตามที่เขาได้คิดหมายไว้ในใจ มิใช่ให้ด้วยนึกเสียดาย มิใช่ให้ด้วยการฝืนใจ เพราะว่าพระเจ้าทรงรักคนนั้นที่ให้ด้วยใจยินดี” (2 โครินธ์ 9:7).



    กลับสู่หน้าภาษาไทย

  • พระคัมภีร์พูดเกี่ยวกับการถวายสิบลดไว้ว่าอย่างไร?
  • พระคัมภีร์พูดว่าอย่างไรเกี่ยวกับการทำแท้ง?




    คำถาม: พระคัมภีร์พูดว่าอย่างไรเกี่ยวกับการทำแท้ง?

    คำตอบ:
    พระคัมภีร์ไม่ได้พูดอย่างเจาะจงเกี่ยวกับการทำแท้ง แต่มีคำสอนหลายตอนในพระคัมภีร์ที่บอกชัดเจนว่าพระเจ้าทรงคิดอย่างไรเกี่ยวกับการทำแท้ง หนังสือเยเรมีย์ 1:5 บอกเราว่าพระเจ้าทรงรู้จักเราก่อนที่พระองค์จะได้ก่อร่างตัวเราที่ในครรภ์ หนังสือสดุดี 139:13-16 พูดเกี่ยวกับบทบาทในการทรงลงมือสร้างและปั้นแต่งเราในครรภ์ หนังสืออพยพ 21:22-25 บอกว่าผู้ที่ทำให้ทารกในครรภ์เสียชีวิตจะต้องถูกลงโทษเหมือนกับคนผู้นั้นเป็นฆาตรกร นี่บอกชัดเจนว่าพระเจ้าทรงมองว่าทารกในครรภ์มีชีวิตเทียบเท่าผู้ใหญ่ สำหรับคริสเตียน การทำแท้งไม่ใช่สิทธิที่ผู้หญิงสามารถเลือกได้ แต่มันเป็นเรื่องของความเป็นความตายของมนุษย์ที่พระเจ้าทรงสร้างขึ้นมาตามพระฉายาของพระองค์ (ปฐมกาล 1:26-27; 9:6)

    ข้อโต้แย้งประการแรกเกี่ยวกับจุดยืนของคริสเตียนในการทำแท้งคือ “แล้วถ้าผู้หญิงถูกข่มขืนหรือมีการล่วงประเวณีกับคนในครอบครัวเล่า?” แม้ว่าการที่ผู้หญิงเกิดท้องขึ้นมาเพราะถูกข่มขืนหรือเพราะล่วงประเวณีกับคนในครอบครัวจะฟังดูแล้วเป็นเรื่องที่แย่มากก็ตาม แต่การฆ่าทารกเป็นคำตอบที่ดีแล้วหรือ? การทำผิดสองครั้งไม่ได้ช่วยทำให้ทุกอย่างถูกต้องขึ้นมาได้ เด็กที่เกิดมาเนื่องจากผลของการกระทำดังกล่าวอาจถูกยกให้ครอบครัวที่ต้องการมีลูกแต่ไม่สามารถมีด้วยตนเองได้ หรือแม่อาจอยากเลี้ยงไว้เอง ก็ได้ ขอย้ำอีกครั้งหนึ่งว่าทารกไม่ควรถูกลงโทษเพระการกระทำที่ชั่วร้ายของผู้เป็นพ่อ

    ข้อโต้แย้งประการที่สองเกี่ยวกับจุดยืนของคริสเตียนในการทำแท้งคือ “แล้วถ้าแม่ต้องเสี่ยงชีวิตเล่า?” จริง ๆ แล้วคำถามนี้เป็นคำถามที่ตอบยากที่สุดเกี่ยวกับเรื่องการทำแท้ง ประการแรกคือ การทำแท้งด้วยเหตุนี้เกิดขึ้นเพียงแค่ เศษหนึ่งส่วนสิบของหนึ่งเปอร์เซ็นต์เท่านั้นในปัจจุบัน ผู้หญิงส่วนใหญ่ทำแท้งเพราะไม่ต้องการให้ “รูปร่างเสีย” มากกว่าที่ต้องทำแท้งเพระต้องการรักษาชีวิตของต้วเองไว้ ประการที่สองคือ เราต้องไม่ลืมว่าพระเจ้าคือพระเจ้าแห่งการอัศจรรย์ พระองค์ทรงสามารถสงวนชีวิตของทั้งแม่และลูกได้ ไม่ว่าหลักฐานทางการแพทย์จะว่าอย่างไรก็ตาม คู่สมรสที่เจอปัญหานี้ควรอธิษฐานขอสติปัญญาจากพระเจ้า (ยากอบ 1:5) ว่าพระองค์จะทรงให้พวกเขาทำอย่างไร

    94% ของเหตุผลในการทำแท้งในปัจจุบันเป็นเหตุผลอย่างอื่นที่ไม่ใช่การที่ต้องเสี่ยงกับชีวิตของแม่ เหตุผลส่วนใหญ่มักจะเป็นว่า “แม่หรือคู่ครองตัดสินใจว่าเขาทั้งสองไม่ต้องการเด็กในครรภ์” นี่เป็นความชั่วร้ายอย่างที่สุด แต่แม้ว่าเหตุผลอีก 6% ที่เหลือจะเป็นเหตุผลที่ดีที่ทำให้ยากต่อการตัดสินใจ การทำแท้งไม่ควรเป็นทางเลือกทางแรก ชีวิตในครรภ์มีค่ามากพอที่เราควรพยายามทุกวิถีทางที่จะเก็บรักษาไว้จนเด็กได้คลอดออกมา

    สำหรับผู้ที่เคยผ่านการทำแท้งมาแล้ว ความบาปในการทำแท้งไม่ใช่ความบาปที่ยิ่งใหญ่เกินความบาปอื่น ๆ ที่พระเจ้าจะทรงให้อภัยไม่ได้ โดยการมีความเชื่อในพระคริสต์ ความบาปทุกชนิดสามารถได้รับการให้อภัยได้ (ยอห์น 3:16; โรม 8:1; โคโลสี 1:14) ผู้หญิงที่เคยทำแท้งมาแล้ว หรือผู้ชายที่เคยสนับสนุนการทำแท้ง หรือแม้กระทั่งหมอที่เคยทำแท้งให้คนไข้มาแล้วก็ตาม - ทุกคนสามารถได้รับการให้อภัยได้โดยทางความเชื่อในพระเยซูคริสต์



    กลับสู่หน้าภาษาไทย

  • พระคัมภีร์พูดว่าอย่างไรเกี่ยวกับการทำแท้ง?
  • พระคัมภีร์พูดว่าอย่างไรเกี่ยวกับโทษประหารชีวิต/มหันตโทษ?




    คำถาม: พระคัมภีร์พูดว่าอย่างไรเกี่ยวกับโทษประหารชีวิต/มหันตโทษ?

    คำตอบ:
    กฎหมายในพันธสัญญาเดิมสั่งให้มีการประหารชีวิตในกรณีที่มีการทำผิดเช่น: การฆาตกรรม (อพยพ 21:12), การลักพาตัว (อพยพ 21:16), การร่วมประเวณีกับสัตว์ (อพยพ 22:19); การทำผิดประเวณี (เลวีนิติ 20:10); การหลับนอนกับเพศเดียวกัน (เลวีนิติ 20:13), การเป็นผู้เผยพระวจนะเทียมเท็จ (เฉลยธรรมบัญญัติ 13:5), การขายประเวณีและการข่มขืน (เฉลยธรรมบัญญัติ 22:4) และความผิดอื่น ๆ อีกหลายข้อ แต่พระเจ้าจะทรงแสดงพระเมตตาของพระองค์เสมอเมื่อมีการลงโทษถึงขั้นประหารชีวิตเกิดขึ้น กษัตริย์ดาวิดกระทำการล่วงประเวณีและฆาตกรรม แต่พระเจ้าทรงไม่ได้เรียกร้องที่จะเอาชีวิตของกษัตริย์ดาวิด (2 ซามูเอล 11:1-5, 14-17; 2 ซามูเอล 12:13) อันที่จริงแล้วความบาปแต่ละชนิดและทุกชนิดที่เราได้ทำลงไปสมควรที่จะได้รับโทษประหารชีวิต (โรม 6:23) ขอบคุณพระเจ้า ที่พระองค์ทรงสำแดงความรักของพระองค์ต่อเราด้วยการไม่เอาโทษเรา (โรม 5:8)

    เมื่อพวกฟาริสีนำหญิงคนหนึ่งที่ถูกจับได้ว่าทำการล่วงประเวณีมาหาพระเยซูและทูลถามพระองค์ว่าเธอสมควรที่จะถูกหินขว้างหรือไม่ พระองค์ตรัสตอบว่า “ผู้ใดในพวกท่านที่ไม่มีบาป ก็ให้ผู้นั้นเอาหินขว้างเขาก่อน” (ยอห์น 8:7) แต่ข้อพระคัมภีร์ข้อนี้ไม่ควรถูกนำมาใช้เป็นข้ออ้างว่าพระเยซูทรงไม่เห็นด้วยกับโทษประหารชีวิตในทุกกรณี ณ.ที่นี้พระเยซูเพียงแต่ทรงเปิดเผยการเป็นคนมือถือสากปากถือศีลของพวกฟาริสีเท่านั้น พวกฟาริสีต้องการล่อให้พระเยซูทรงทำผิดกฎในพันธสัญญาเดิม. ทั้ง ๆ ที่จริง ๆ แล้วพวกเขาไม่ได้สนใจเลยว่าหญิงนั้นจะต้องถูกหินขว้างจนตายหรือไม่ ( แล้วชายที่ล่วงประเวณีกับเธออยู่ที่ไหน? ) พระเจ้าคือผู้ที่ทรงกำหนดโทษประหารชีวิต: “ผู้ใดฆ่ามนุษย์ให้โลหิตไหล มนุษย์จะฆ่าผู้นั้นให้โลหิตไหลเหมือนกัน เพราะพระเจ้าทรงสร้างมนุษย์ตามพระฉายาของพระองค์” (ปฐมกาล 9:6) พระเยซูทรงสนับสนุนการประหารชีวิตในบางกรณี แต่พระองค์ก็ทรงสำแดงพระคุณของพระองค์ด้วยเมื่อเกิดจะต้องมีการลงโทษถึงขั้นประหารชีวิต (ยอห์น 8:1-11) อัครทูตยอห์นตระหนักถึงสิทธิอำนาจของผู้มีอำนาจปกครองแน่นอนในการตัดสินลงโทษประหารชีวิตหากเป็นการสมควร (โรม 13:1-5)

    ดังนั้น จริง ๆ แล้วเราก็วนกลับมาอยู่ที่เดิมอีก แน่นอนพระเจ้าทรงอนุญาตให้มีการลงโทษขั้นประหารชีวิต แต่ในขณะเดียวกัน พระองค์ไม่ได้ทรงเรียกร้องให้มีการประหารชีวิตเมื่อเกิดกรณีเช่นนั้นขึ้น แล้วคริสเตียนควรจะมีมุมมองอย่างไรเกี่ยวกับโทษประหารชีวิต? ประการแรกเราจะต้องจำเอาไว้ว่าพระเจ้าได้ทรงสถาปนาโทษประหารชีวิตในพระวจนะของพระองค์ ดังนั้น หากเราคิดว่าเราจะสามารถสร้างมาตรฐานที่เหนือกว่ามาตรฐานของพระองค์ได้ หรือเราจะมีความเมตตากว่าพระองค์ได้ ก็เท่ากับเราทึกทักเอาเอง พระเจ้าทรงมีมาตรฐานสูงสุดเหนือสิ่งมีชีวิตใด ๆ เพราะพระองค์ทรงเป็นเลิศในทุกกรณี มาตรฐานนี้ไม่ได้มีไว้สำหรับเราเท่านั้นแต่มีไว้สำหรับพระองค์ด้วย ดังนั้น ความรักของพระองค์จึงเป็นความรักที่ไม่รู้จบและพระเมตตาของพระองค์ก็เป็นพระเมตตาที่ไร้จุดจบเช่นกัน แต่เราก็เห็นว่าการลงโทษของพระองค์ก็ไม่มีที่สิ้นสุดเหมือนกัน และทั้งหมดสมดุลกันอย่างไร้ที่ติ

    ประการที่สอง เราต้องตระหนักว่าพระเจ้าทรงมอบสิทธิอำนาจให้กับผู้ปกครองในการตัดสินใจเมื่อโทษนั้นเป็นมหันตโทษ (ปฐมกาล 9:6; โรม 13:1-7) หากจะพูดว่าพระเจ้าทรงต่อต้านโทษประหารชีวิตในทุกกรณีก็จะไม่ตรงกับพระคัมภีร์ คริสเตียนไม่ควรดีใจเมื่อมีการตัดสินโทษด้วยการประหารชีวิต แต่ในทำนองเดียวกัน คริสเตียนก็ไม่ควรต่อต้านสิทธิของผู้ปกครองในการตัดสินลงโทษผู้กระทำผิดมหันตโทษ



    กลับสู่หน้าภาษาไทย

  • พระคัมภีร์พูดว่าอย่างไรเกี่ยวกับโทษประหารชีวิต/มหันตโทษ?
  • พระคัมภีร์พูดว่าอย่างไรเกี่ยวกับโรคซึมเศร้า? คริสเตียนจะเอาชนะโรคซึมเศร้าได้อย่างไร?




    คำถาม: พระคัมภีร์พูดว่าอย่างไรเกี่ยวกับโรคซึมเศร้า? คริสเตียนจะเอาชนะโรคซึมเศร้าได้อย่างไร?

    คำตอบ:
    โรคซึมเศร้าเป็นโรคที่แพร่หลายทั่วไปและมีผลกระทบต่อคนนับล้าน ทั้งคนที่เป็นคริสเตียนและไม่เป็น คนที่เป็นโรคซึมเศร้าจะมีความรู้สึกเศร้า, โกรธ, สิ้นหวัง, เหนื่อยเพลีย และอื่น ๆ อย่างรุนแรง คนที่เป็นอาจเริ่มต้นด้วยการมีความรู้สึกว่าตัวเองไร้ประโยชน์และถึงกับอาจอยากฆ่าตัวตาย, หมดความสนใจในทุกสิ่งและทุกคนที่ครั้งหนึ่งเขาเคยชอบ โรคซึมเศร้ามักเกิดขึ้นเพราะสถานการณ์ในชีวิต เช่น ตกงาน, คนที่ตัวรักเสียชีวิต, หรือการหย่าร้าง หรือปัญหาทางจิตใจ เช่น การถูกทำทารุณ หรือการสูญเสียการนับถือตนเอง

    พระคัมภีร์สอนให้เราเต็มล้นด้วยความชื่นชมยินดีและคำสรรเสริญ (ฟีลิปปี 4:4; โรม 15:11) ดังนั้นดูเหมือนว่าพระเจ้าทรงมีพระประสงค์ที่จะให้เรามีชีวิตอย่างมีความสุข นี่ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับคนบางคนที่มีปัญหาซึมเศร้า แต่ปัญหานี้สามารถแก้ได้โดยทางของประทานแห่งการอธิษฐานจากพระเจ้า, การศึกษาพระคัมภีร์และนำมาประยุกต์ใช้, กลุ่มคอยให้ความช่วยเหลือ หรือกลุ่มสามัคคีธรรมตามบ้าน, การพบปะพูดคุยในหมู่ผู้เชื่อ, การสารภาพบาป, การให้อภัย และการเข้ารับการปรึกษา เราจะต้องพยายามที่จะไม่หมกมุ่นอยู่กับตัวเอง แต่หันไปสนใจสิ่งอื่นนอกตัวแทน บ่อนครั้งความรู้สึกซึมเศร้าสามารถแก้ไขได้เมื่อผู้ที่มีปัญหาเลิกจดจ่ออยู่ที่ตัวเองและหันไปจดจ่ออยู่ที่พระคริสต์และคนอื่น ๆ แทน

    โรคซึมเศร้าที่เกิดจากความผิดปกติทางกายต้องให้หมอวินิจฉัย เพราะมันไม่ได้เกิดขึ้นจากเหตุการณ์ที่ไม่ดีในชีวิต และอาการไม่สามารถหายไปได้เอง ตรงกันข้ามกับที่คริสเตียนบางคนคิด โรคซึมเศร้าที่เกิดจากความผิดปกติทางกายไม่ได้เกิดขึ้นเพราะความบาปเสมอไป บางครั้งโรคซึมเศร้าอาจมาจากความผิดปกติที่จำเป็นจะต้องได้รับการรักษาด้วยยาและ/หรือคำปรึกษา แน่นอนพระเจ้าทรงสามารถรักษาโรคหรือความผิดปกติใด ๆ ได้ แต่ในบางกรณี การไปหาหมอเพราะโรคซึมเศร้าก็เหมือนกับการไปหาหมอเพราะบาดเจ็บนั่นเอง

    มีอะไรบางอย่างที่ผู้ที่มีปัญหาด้วยอาการซึมเศร้าสามารถทำได้เพื่อเอาความกระวนกระวายออกไป นั่นคือเขาควรอยู่ในพระคำแม้ว่าจะไม่อยู่ในอารมณ์ที่จะทำก็ตาม อารมณ์สามารถดึงเราให้ออกนอกลู่นอกทางได้ แต่พระคำของพระเจ้าไม่เคยเปลี่ยนแปลง เราต้องยึดมั่นในความเชื่อในพระเจ้า และยึดพระองค์ให้มั่นยิ่งขึ้นเมื่อเราตกอยู่ในการทดลอง พระเจ้าทรงสัญญาไว้ว่าจะทรงไม่ให้การทดลองใด ๆ เข้ามาในชีวิตเราที่เกินกว่าเราจะทนได้ (1 โครินธ์ 10:13) แม้ว่าการมีความรู้สึกซึมเศร้าจะไม่ใช่ความบาป แต่เราก็ต้องรับผิดชอบในการกระทำของเราว่าเราตอบโต้ความทุกข์นี้อย่างไร นี่รวมไปถึงการไปหาหมอด้วย “เหตุฉะนั้น ให้เราถวายคำสรรเสริญเป็นเครื่องบูชาแด่พระเจ้าตลอดไปโดยทางพระองค์นั้น คือคำกล่าวยอมรับเชื่อพระนามของพระองค์” (ฮีบรู 13:15)



    กลับสู่หน้าภาษาไทย

  • พระคัมภีร์พูดว่าอย่างไรเกี่ยวกับโรคซึมเศร้า? คริสเตียนจะเอาชนะโรคซึมเศร้าได้อย่างไร?
  • พระคัมภีร์พูดเกี่ยวกับการบริหารการเงินของท่านไว้ว่าอย่างไร?




    คำถาม: พระคัมภีร์พูดเกี่ยวกับการบริหารการเงินของท่านไว้ว่าอย่างไร?

    คำตอบ:
    พระคัมภีร์มีเรื่องที่จะพูดมากมายเกี่ยวกับการบริหารการเงิน เมื่อพูดถึงการกู้ยืมจงดูหนังสือสุภาษิต 6:1-5; 20:16; 22:7, 26-27 (คนมั่งคั่งปกครองเหนือคนยากจน และคนขอยืมก็เป็นทาสของคนให้ยืม… จงอย่าให้สัญญาค้ำประกัน, เป็นผู้ค้ำประกัน หากท่านไม่มีอะไรจ่าย, ทำไมท่านจึงจะยอมให้เขาเอาเตียงนอนของท่านไปเล่า?) เกี่ยวกับการติดสินบน จงดูหนังสือสุภาษิต 17:8; 18:16; 21:14; 28:21; 17:23 (คนชั่วร้ายรับสินบนจากอกเสื้อเพื่อผันแปรทางแห่งความยุติธรรม) เกี่ยวกับความมั่งคั่ง จงดูหนังสือสุภาษิต 10:15; 11:4; 18:11; 23:5; 28:20 “คนที่สัตย์ซื่อจะได้รับพรมากมาย แต่ผู้ที่รีบมั่งคั่งจะไม่มีโทษหามิได้”

    เกี่ยวกับการเป็นคนเกียจคร้านและการเงิน จงดูหนังสือสุภาษิต 6:6-11 “คนเกียจคร้านเอ๋ย ไปหามดไป๊ พิเคราะห์ดูทางของมัน และจงฉลาด โดยปราศจากผู้หัวหน้า เจ้าหน้าที่หรือผู้ปกครอง มันเตรียมอาหารของมันในฤดูแล้ง และส่ำสมของกินของมันในฤดูเกี่ยว คนเกียจคร้านเอ๋ย เจ้าจะนอนนานเท่าใด เมื่อไรเจ้าจะลุกขึ้นจากหลับ หลับนิด เคลิ้มหน่อย กอดมือพักนิดหน่อย และความจนจะมาเหนือเจ้าอย่างคนจร และความขัดสนอย่างคนถืออาวุธ” เกี่ยวกับการไร้ประโยชน์ของความมั่งคั่ง จงดูหนังสือปัญญาจารย์ 5:8-6:12 (ข้อ 5:10 กล่าวว่า “คนรักเงินย่อมไม่อิ่มเงิน และคนรักสมบัติไม่รู้จักอิ่มกำไร นี่ก็อนิจจังด้วย”) และหนังสือ 1 ทิโมธี 6:6-11 ด้วย เกี่ยวกับการให้ จงดูหนังสือ ลูกา 6:38; 2 โครินธ์ 9:6-15 (ข้อ 6-7 “นี่แหละ คนที่หว่านเพียงเล็กน้อยก็จะเกี่ยวเก็บได้เพียงเล็กน้อย คนที่หว่านมากก็จะเกี่ยวเก็บได้มา ทุกคนจงให้ตามที่เขาได้คิดหมายไว้ในใจ มิใช่ให้ด้วยนึกเสียดาย มิใช่ให้ด้วยการฝืนใจ เพราะว่าพระเจ้าทรงรักคนนั้นที่ให้ด้วยใจยินดี”)

    เกี่ยวกับการเป็นผู้ดูแล จงดูหนังสือลูกา16:1-13 (ข้อ 11 “เหตุฉะนั้น ถ้าท่านทั้งหลายไม่สัตย์ซื่อในทรัพย์สมบัติอธรรม ใครจะมอบทรัพย์สมบัติอันแท้ให้แก่ท่านเล่า”) และหนังสือยากอบ 1:17 เราต้องรับผิดชอบในการเลี้ยงดูคนในครอบครัวของเราด้วย หนังสือ 1 ทิโมธี 5:8 กล่าวว่า “แต่ถ้าแม้ผู้ใดไม่เลี้ยงดูวงศ์ญาติของตน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งคนในบ้านเรือนของตน ผู้นั้นก็ได้ปฏิเสธความเชื่อเสียแล้ว และชั่วยิ่งกว่าคนที่ไม่ได้เชื่อเสียอีก”

    สรุปว่า พระคัมภีร์พูดว่าอย่างไรบ้างเกี่ยวกับการบริหารการเงิน? คำตอบสามารถสรุปได้เป็นคำ ๆ เดียวคือ – สติปัญญา เราจะต้องฉลาดในการใช้จ่ายเงิน เราจะต้องเก็บเงินเอาไว้บ้างแต่ไม่ใช่เก็บหวงไว้โดยไม่ใช้จ่ายเลย เราต้องใช้จ่ายเงินบ้าง แต่ต้องมีการไตร่ตรองและควบคุม เราจะต้องถวายคืนให้กับพระเจ้า - ด้วยความชื่นชมยินดีและเหมือนกับเป็นการถวายเครื่องบูชา เราจะต้องใช้เงินของเราเพื่อช่วยเหลือผู้อื่น แต่ต้องมีการไตร่ตรองและเป็นการทรงนำของพระวิญญาณของพระเจ้า การร่ำรวยไม่ใช่ความผิด แต่การรักเงินเป็นสิ่งผิด การยากจนไม่ใช่ความผิด แต่การใช้จ่ายเงินอย่างไร้สาระเป็นสิ่งผิด พระคัมภีร์สอนอยู่ตลอดเวลาเกี่ยวกับการบริหารเงินว่าให้เราเป็นคนฉลาด



    กลับสู่หน้าภาษาไทย

  • พระคัมภีร์พูดเกี่ยวกับการบริหารการเงินของท่านไว้ว่าอย่างไร?
  • พระคัมภีร์พูดว่าอย่างไรเกี่ยวกับการหายโรค? มีการหายโรคในการเป็นเครื่องถวายบูชาลบบาปของพระคริสต์ไหม?




    คำถาม: พระคัมภีร์พูดว่าอย่างไรเกี่ยวกับการหายโรค? มีการหายโรคในการเป็นเครื่องถวายบูชาลบบาปของพระคริสต์ไหม?

    คำตอบ:
    ข้อพระคัมภีร์ในหนังสืออิสยาห์ 53:5 ซึ่งถูกยกมาอ้างถึงอีกครั้งหนึ่งในหนังสือ 1 เปโตร 2:24 เป็นข้อพระคัมภีร์หลักเกี่ยวกับการบำบัดรักษาที่ได้รับการเข้าใจผิดและใช้ผิดเสมอ ๆ “แต่ท่านถูกบาดเจ็บเพราะความทรยศของเราทั้งหลาย ท่านฟกช้ำเพราะความบาปผิดของเรา การตีสอนอันทำให้เราทั้งหลายสมบูรณ์นั้นตกแก่ท่าน ที่ท่านต้องฟกช้ำนั้นก็ให้เราหายดี” คำที่แปลว่า “หายดี” สามารถหมายถึงการหายดีทั้งฝ่ายวิญญาณและฝ่ายร่างกาย แต่จากบริบทของหนังสืออิสยาห์ 53 และ 1 เปโตร 2 ทำให้เราเห็นชัดเจนว่าพระคัมภีร์พูดถึงการหายดีฝ่ายวิญญาณ หนังสือ 1 เปโตร 2:24 กล่าวว่า “พระองค์เองได้ทรงรับแบกบาปของเราไว้ในพระกายของพระองค์ที่ต้นไม้นั้น เพื่อว่าเราทั้งหลายซึ่งตายจากบาปแล้ว และดำเนินชีวิตตามคลองธรรม ด้วยบาดแผลของพระองค์ ท่านทั้งหลายจึงได้รับการรักษาให้หาย” ข้อพระคัมภีร์ข้อนี้พูดถึงความบาปและความชอบธรรมไม่ใช่ความเจ็บป่วยและโรคภัยไข้เจ็บ ดังนั้นการ “หายดี” จึงเป็นการพูดถึงการได้รับอภัยบาปและได้รับความรอด ไม่ใช่การหายดีฝ่ายร่างกาย

    พระคัมภีร์ไม่ได้โยงการหายดีฝ่ายร่างกายกับฝ่ายวิญญาณเข้าด้วยกันอย่างเจาะจง หลายครั้งผู้คนหายโรคเมื่อเขามีความเชื่อในพระคริสต์ – แต่มันไม่ได้เป็นเช่นนั้นเสมอไป บางครั้งมันเป็นน้ำพระทัยของพระเจ้าที่จะทรงรักษาแต่บางครั้งก็ไม่ใช่ อัครทูตยอห์นได้ให้มุมมองที่เหมาะสมไว้ว่า “และนี่คือความมั่นใจที่เรามีต่อพระองค์ คือถ้าเราทูลขอสิ่งใดที่เป็นพระประสงค์ของพระองค์ พระองค์ก็ทรงโปรดฟังเรา และถ้าเรารู้ว่า พระองค์ทรงโปรดฟังเรา เมื่อเราทูลขอสิ่งใดๆ เราก็รู้ว่าเราได้รับสิ่งที่เราทูลขอจากพระองค์นั้น” (1 ยอห์น 5:14-15) พระเจ้ายังคงสำแดงการอัศจรรย์อยู่ พระเจ้ายังคงทรงรักษาผู้คนอยู่ โรคภัยไข้เจ็บ, ความเจ็บปวด, และความตายยังคงเป็นความจริงในโลกนี้ นอกจากว่าพระเจ้าจะเสด็จกลับมาภายใน 50 ปีข้างหน้า เกือบทุกคนที่ยังมีชีวิตอยู่ในขณะนี้จะเสียชีวิตไปแล้ว และส่วนใหญ่ (รวมถึงคริสเตียนด้วย) ก็จะเสียชีวิตด้วยปัญหาฝ่ายร่างกาย (โรคภัย, ไข้เจ็บ, ความบาดเจ็บ) มันไม่ใช่น้ำพระทัยของพระเจ้าเสมอไป ที่จะรักษาเราฝ่ายร่างกาย

    การหายดีอย่างบริบูรณ์ของเรารอคอยเราแล้วบนสวรรค์ บนสวรรค์จะไม่มีความเจ็บปวด, โรคภัย, ไข้เจ็บ, ความทุกข์ทรมาน หรือความตายอีกต่อไป (วิวรณ์บทที่ 21) เราควรหมกมุ่นอยู่สุขภาพทางร่างกายในโลกนี้ให้น้อยลง และหมกมุ่นอยู่กับสุขภาพฝ่ายวิญญาณของเราให้มากขึ้น (โรม 12:1-2) เพื่อที่เราจะได้ทำใจให้จดจ่ออยู่บนสวรรค์และไม่สนใจปัญหาฝ่ายร่างกายอีกต่อไป และเมื่อนั้นหนังสือวิวรณ์ 21:4 กล่าวว่า “พระเจ้าจะทรงเช็ดน้ำตาทุกๆหยดจากตาของเขา ความตายจะไม่มีอีกต่อไป ความคร่ำครวญ การร้องไห้ และการเจ็บปวดจะไม่มีอีกต่อไป เพราะยุคเดิมนั้นได้ผ่านพ้นไปแล้ว”



    กลับสู่หน้าภาษาไทย

  • พระคัมภีร์พูดว่าอย่างไรเกี่ยวกับการหายโรค? มีการหายโรคในการเป็นเครื่องถวายบูชาลบบาปของพระคริสต์ไหม?
  • พระคัมภีร์พูดเกี่ยวกับสงครามว่าอย่างไร?




    คำถาม: พระคัมภีร์พูดเกี่ยวกับสงครามว่าอย่างไร?

    คำตอบ:
    มีหลายคนเข้าใจผิดเมื่อพระคัมภีร์พูดว่า “อย่าฆ่าคน” แล้วนำข้อพระคัมภีร์นี้มาใช้เกี่ยวกับสงคราม อันที่จริงแล้วพระคัมภีร์พูดว่า “อย่าทำการฆาตกรรม” (อพยพ 20:13) ในภาษาฮีบรูคำ ๆ นี้หมายความว่า “การฆ่าคนด้วยความตั้งใจและมีการคิดล่วงหน้าไว้ก่อนด้วยความประสงค์ร้าย” พระเจ้าทรงสั่งให้คนอิสราเอลไปทำสงครามกับบรรดาประชาชาติอื่นเสมอ ๆ (1 ซามูเอล 15:3; โยชูวา 4:13) พระเจ้าทรงสั่งให้มีการลงโทษถึงตายสำหรับความผิดหลายอย่าง (อพยพ 21:12; 21:15; 22:19; เลวีนิติ 20:11) ดังนั้นพระเจ้าจึงทรงไม่ได้ต่อต้านการฆ่าในทุกสถานการณ์ แต่ทรงต่อต้านการฆาตกรรมมากกว่า สงครามไม่เคยเป็นสิ่งที่ดี แต่บางครั้งมันก็เป็นเรื่องจำเป็น ในโลกที่เต็มไปด้วยคนบาป (โรม 3:10-18) สงครามเป็นเรื่องที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ บางครั้งการสงครามก็เป็นวิธีเดียวที่จะหยุดไม่ให้คนบาปทำความบาปที่ยิ่งใหญ่ขึ้น

    สงครามเป็นสิ่งเลวร้าย! สงครามคือผลพวงของความบาปเสมอ (โรม 3:10-18) ในพันธสัญญาเดิมพระเจ้าทรงสั่งให้คนอิสราเอล: “จงแก้แค้นคนมีเดียนเพื่อคนอิสราเอล แล้วภายหลังเจ้าจะถูกรวบให้ไปอยู่กับประชาชนของเจ้า” (กันดารวิถี 31:2) ดูเฉลยธรรมบัญญัติ 20:16-17 ประกอบด้วย “แต่ในหัวเมืองของชนชาติทั้งหลายนี้ ซึ่งพระเยโฮวาห์พระเจ้าของท่านประทานแก่ท่านเป็นมรดก ท่านอย่าไว้ชีวิตสิ่งใดๆที่หายใจได้เลย แต่จงทำลายเขาเสียให้สิ้นเชิง คือคนฮิตไทต์ คนอาโมไรต์ คนคานาอัน คนเปริสซี คนฮีไวต์ และคนเยบุส ดังที่พระเยโฮวาห์พระเจ้าของท่านทรงบัญชาไว้” หนังสืออพยพ 17:16 กล่าวว่า “มือบนบัลลังก์ของพระเจ้าพระองค์จะทรงกระทำสงครามกับอามาเลขต่อไปทุกชั่วชาติพันธุ์” และใน 1 ซามูเอล 15:18 “และพระเจ้าทรงใช้ให้ท่านออกไปประกอบกิจ ตรัสว่า จงไปทำลายคนอามาเลขคนบาปหนาเสียให้สิ้นเชิง และต่อสู้กับเขาจนกว่าเขาจะถูกผลาญเสียหมด” ดังนั้นเราจึงเห็นได้อย่างชัดเจนว่าพระเจ้าไม่ได้ทรงต่อต้านสงคราม พระเยซูทรงเห็นพ้องต้องกันกับพระบิดาเต็มที่เสมอ (ยอห์น 10:30) ดังนั้นเราจึงเถียงไม่ได้ว่าสงครามเป็นน้ำพระทัยของพระเจ้าเพียงแค่ในพันธสัญญาเดิมเท่านั้น พระเจ้าทรงไม่เปลี่ยนแปลง (มาลาคี 3:6; ยากอบ 1:17)

    การเสด็จมาครั้งที่สองของพระเยซูจะมีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น หนังสือวิวรณ์ 19:11-21 กล่าวว่า “แล้วข้าพเจ้าได้เห็นสวรรค์เปิดออก และดูเถิด มีม้าขาวตัวหนึ่ง พระองค์ผู้ทรงม้านั้นมีพระนามว่า "สัตย์ซื่อและสัตย์จริง" พระองค์พิพากษาและทรงกระทำสงครามด้วยความชอบธรรม พระเนตรของพระองค์ดุจเปลวไฟ และบนพระเศียรของพระองค์มีมงกุฎหลายอัน และพระองค์ทรงมีพระนามจารึกไว้ซึ่งไม่มีผู้ใดรู้จักเลย นอกจากพระองค์เอง พระองค์ทรงฉลองพระองค์ที่จุ่มเลือด และพระนามที่เรียกพระองค์นั้นคือ "พระวาทะของพระเจ้า" เหล่าพลโยธาในสวรรค์สวมอาภรณ์ผ้าป่านเนื้อละเอียด ขาวบริสุทธิ์ ได้นั่งบนหลังม้าขาวตามเสด็จพระองค์ไป มีพระแสงคมออกมาจากพระโอษฐ์ของพระองค์ เพื่อพระองค์จะได้ทรงฟันฟาดบรรดานานาประชาชาติด้วยพระแสงนั้น และพระองค์จะทรง ครอบครองเขาด้วยคทาเหล็ก พระองค์จะทรงเหยียบบ่อย่ำองุ่นแห่งพระพิโรธอันเฉียบขาดของพระเจ้า ผู้ทรงฤทธานุภาพสูงสุด พระองค์ทรงมีพระนามจารึกที่ฉลองพระองค์ และที่ต้นพระอูรุของพระองค์ว่า "จอมกษัตริย์และจอมเจ้านาย” แล้วข้าพเจ้าเห็นทูตสวรรค์องค์หนึ่งยืนอยู่บนดวงอาทิตย์ ท่านร้องประกาศแก่นกทั้งปวงที่บินอยู่ในท้องฟ้าด้วยเสียงอันดังว่า "จงมาประชุมกันในการเลี้ยงใหญ่ของพระเจ้า เพื่อจะได้กินเนื้อกษัตริย์ เนื้อนายทหาร เนื้อ่ชายฉกรรจ์ เนื้อม้า และเนื้อคนที่นั่งบนม้า และเนื้อประชาชน ทั้งไทและทาส ทั้งผู้ใหญ่และผู้น้อย" และข้าพเจ้าเห็นสัตว์ร้ายนั้น และบรรดากษัตริย์บนแผ่นดินโลก พร้อมทั้งพลรบของกษัตริย์เหล่านั้น มาประชุมกันสงครามกับพระองค์ผู้ทรงม้า และกับพลโยธาของพระองค์ สัตว์ร้ายนั้นถูกจับพร้อมด้วยคนที่ปลอมตัวเป็นผู้เผยพระวจนะ ที่ได้กระทำหมายสำคัญต่อหน้าสัตว์ร้ายนั้น และใช้หมายสำคัญนั้นล่อลวงคนทั้งหลายที่ได้รับเครื่องหมายของสัตว์ร้ายนั้น และบูชารูปของมัน สัตว์ร้ายและคนที่ปลอมตัวเป็นผู้เผยพระวจนะถูกทิ้งทั้งเป็นลงในบึงไฟที่ไหม้ด้วยกำมะถัน และคนที่เหลืออยู่นั้น ก็ถูกฆ่าด้วยพระแสงที่ออกมาจากพระโอษฐ์ของพระองค์ผู้ทรงม้านั้นเสีย และนกทั้งปวงก็กินเนื้อของคนเหล่านั้นจนอิ่ม”

    หากจะพูดว่าพระเจ้าทรงไม่สนับสนุนสงครามก็ไม่ถูกต้องนัก พระเยซูทรงไม่ใช่ผู้รักความสงบ ในโลกที่เต็มไปด้วยคนชั่วร้ายบางครั้งก็จำเป็นที่จะต้องมีสงครามเพื่อไม่ให้ความชั่วร้ายร้ายแรงยิ่งขึ้น หากฮิตเลอร์ไม่แพ้สงครามโลกครั้งที่สองไปเสียก่อน จะมีคนยิวอีกกี่ล้านคนที่ต้องถูกฆ่า? หากไม่มีสงครามกลางเมือง คนอเมริกันผิวดำยังจะต้องตกเป็นทาสอยู่อีกนานสักเท่าใด? เราทุกคนต้องจำไว้ว่าเราจะต้องยึดในพระคัมภีร์เป็นหลัก ไม่ใช่อารมณ์ (2 ทิโมธี 3:16-17)

    หนังสือปัญญาจารย์ 3:8 กล่าวว่า “มีวาระรัก และวาระเกลียด วาระสงคราม และวาระสันติ” ในโลกที่เต็มไปด้วยความบาป, ความเกลียดชัง, และความชั่วร้าย (โรม 3:10-18) สงครามเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ สงครามบางสงครามมี “ความยุติธรรม” กว่าสงครามอีกสงครามหนึ่ง แต่สุดท้ายแล้วสงครามทั้งหมดเป็นผลพวงของความบาป คริสเตียนไม่ควรปรารถนาสงคราม แต่คริสเตียนก็ไม่ควรต่อต้านรัฐบาลที่พระเจ้าได้ทรงมอบสิทธิอำนาจให้เหนือพวกเขา (โรม 13:1-4; 1 เปโตร 2:17) สิ่งที่สำคัญที่สุดที่เราสามารถทำได้ในระหว่างสงครามคือการอธิษฐานขอสติปัญญาจากพระเจ้าให้กับผู้นำของเรา, ขอความปลอดภัยให้กับกองทัพของเรา, ขอให้ข้อโต้แย้งได้รับการแก้ไขโดยเร็ว, และขอให้ทั้งสองฝ่ายเกิดความเสียหายน้อยที่สุด (ฟีลิปปี 4:6-7)



    กลับสู่หน้าภาษาไทย

  • พระคัมภีร์พูดเกี่ยวกับสงครามว่าอย่างไร?