ประวัติความเป็นมาของหนังสือ
ฮีบรู
เราไม่ทราบว่าใครเขียนหนังสือฮีบรูนี้ แต่คนส่วนมากคิดว่าเปาโลเป็นผู้เขียน เราสามารถทราบได้ว่าหนังสือเล่มนี้เป็นจดหมายถึงชาวฮีบรู เพราะว่าตั้งแต่ต้นถึงปลายมีการเปรียบเทียบความเชื่อของคริสเตียนกับพระคัมภีร์เดิม กับเครื่องบูชาและพิธีต่างๆ ของชาวฮีบรูซึ่งเล็งไปถึงพระคริสต์ ข้อแรกพูดถึงบรรพบุรุษ ซึ่งหมายถึงพวกบรรพบุรุษของชาวฮีบรู (ชาวยิว)
จดหมายฉบับนี้ไม่ได้เขียนถึงคริสตจักรใดๆ (เช่น โรม 1 และ 2 โครินธ์ เอเฟซัส ฟีลิปปี โคโลสี 1 และ 2 เธสะโลนิกา) หรือถึงพวกคริสตจักร (เช่นกาลาเทีย) หรือถึงคนส่วนตัว (เช่น 1 และ 2 ทิโมธี ทิตัส ฟีเลโมน 2 และ 3 ยอห์น) แต่หนังสือฮีบรูนี้เป็นที่เรียกกันว่า “จดหมายทั่วไป” ซึ่งเขียนถึงชาวยิวที่กระจัดกระจายไป (เช่นหนังสือยากอบ (ยก 1:1) ซึ่งเขียนถึงชาวยิวด้วย) แต่จดหมายฉบับนี้ก็เหมาะสำหรับคริสเตียนทุกคน เพราะว่าเราได้เชื่อและใช้พระคัมภีร์ทั้งเดิมและใหม่เช่นกัน
ชาวยิวที่ไม่เชื่อก็เกลียดเปาโล ชาวยิวที่เชื่อแล้วในกรุงเยรูซาเล็มก็มักจะเชื่อว่าจะต้องตามธรรมเนียมต่างๆของศาสนายิว (กท 2:11-13) พวกคริสเตียนยิวบางคนได้ไปสอนคำสอนผิดให้แก่ผู้เชื่อแล้วในเมืองกาลาเทีย ดังนั้นถ้าเปาโลเขียนจดหมายฉบับนี้ก็เป็นการดีที่ท่านจะไม่ให้ชื่อของท่านปรากฏในจดหมายฉบับนี้ เรารู้ว่าจดหมายฉบับนี้เขียนขึ้นที่กรุงโรมเพราะได้เขียนว่า “พวกพี่น้องที่เป็นชาวอิตาลีก็ฝากความคิดถึงมายังท่านทั้งหลาย” (13:24) ทิโมธีซึ่งได้ติดคุกพร้อมกับเปาโล พึ่งได้รับการปล่อยตัว (13:23) และเปาโลหวังว่าอีกไม่นานท่านจะได้รับการปลดปล่อยด้วย (13:19) ดูเหมือนว่าหนังสือ 2 เปโตร 3:15-16 ชี้ให้เห็นว่าเปาโลเป็นผู้เขียนหนังสือฮีบรูนี้ เพราะว่าเปโตรพูดถึงวันขององค์พระผู้เป็นเจ้าและเรื่องอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับชาวยิวซึ่งท่านว่า “มีบางข้อที่เข้าใจยาก” ซึ่งเล็งถึงคำเขียนของเปาโล
หนังสือฮีบรูเขียนก่อนการทำลายกรุงเยรูซาเล็มและพระวิหาร ซึ่งเกิดขึ้นในปีค.ศ. 70 (10:2-3; 13:10-11)
หนังสือเล่มนี้เน้นว่า พระเยซู ซึ่งเป็นมหาปุโรหิต เครื่องบูชาและพระผู้ช่วยให้รอดก็ประเสริฐกว่าสิ่งต่างๆในสมัยของโมเสส
1
สง่าราศีของพระบุตรและพระราชกิจของพระองค์
ในโบราณกาลพระเจ้าได้ตรัสด้วยวิธีต่างๆมากมายแก่บรรพบุรุษทางพวกศาสดาพยากรณ์ แต่ในวันสุดท้ายเหล่านี้พระองค์ได้ตรัสแก่เราทั้งหลายทางพระบุตร ผู้ซึ่งพระองค์ได้ทรงตั้งให้เป็นผู้รับสรรพสิ่งทั้งปวงเป็นมรดก พระองค์ได้ทรงสร้างกัลปจักรวาลโดยพระบุตร พระบุตรทรงเป็นแสงสะท้อนสง่าราศีของพระเจ้า และทรงมีสภาวะเป็นพิมพ์เดียวกันกับพระองค์ และทรงผดุงสรรพสิ่งไว้โดยพระดำรัสอันทรงฤทธิ์ของพระองค์ เมื่อพระบุตรได้ทรงชำระบาปของเราด้วยพระองค์เองแล้ว ก็ได้ทรงประทับนั่ง ณ เบื้องขวาพระหัตถ์ของผู้ทรงเดชานุภาพเบื้องบน
พระบุตรทรงอยู่เหนือพวกทูตสวรรค์
พระองค์ทรงเป็นผู้เยี่ยมกว่าเหล่าทูตสวรรค์มากนัก ด้วยว่าพระองค์ทรงรับพระนามที่ประเสริฐกว่านามของทูตสวรรค์นั้นเป็นมรดก เพราะว่ามีผู้ใดบ้างในบรรดาทูตสวรรค์ที่พระองค์ได้ตรัสแก่เขาในเวลาใดว่า ‘ท่านเป็นบุตรของเรา วันนี้เราได้ให้กำเนิดแก่ท่านแล้ว’ และยังตรัสอีกว่า ‘เราจะเป็นบิดาของเขา และเขาจะเป็นบุตรของเรา’ และอีกครั้งหนึ่งเมื่อพระองค์ทรงนำพระบุตรหัวปีองค์ที่ได้บังเกิดนั้นให้เสด็จเข้ามาในโลก พระองค์ก็ตรัสว่า ‘ให้บรรดาพวกทูตสวรรค์ทั้งสิ้นของพระเจ้านมัสการท่าน’ ส่วนพวกทูตสวรรค์นั้น พระองค์ตรัสว่า ‘พระองค์ทรงบันดาลพวกทูตสวรรค์ของพระองค์ให้เป็นดุจวิญญาณ และทรงบันดาลผู้รับใช้ของพระองค์ให้เป็นดุจเปลวเพลิง’ แต่ส่วนพระบุตรนั้น พระองค์ตรัสว่า ‘โอ พระเจ้าข้า พระที่นั่งของพระองค์ดำรงเป็นนิตย์และเป็นนิตย์ ธารพระกรแห่งอาณาจักรของพระองค์ก็เป็นธารพระกรเที่ยงธรรม พระองค์ทรงรักความชอบธรรม และทรงเกลียดชังความชั่วช้า ฉะนั้นพระเจ้า คือ พระเจ้าของพระองค์ ได้ทรงเจิมพระองค์ไว้ด้วยน้ำมันแห่งความยินดียิ่งกว่าพระสหายทั้งปวงของพระองค์’ 10 และ ‘องค์พระผู้เป็นเจ้าเจ้าข้า เมื่อเดิมพระองค์ทรงวางรากฐานของแผ่นดินโลก และฟ้าสวรรค์เป็นพระหัตถกิจของพระองค์ 11 สิ่งเหล่านี้จะพินาศไป แต่พระองค์ทรงดำรงอยู่ สิ่งเหล่านี้จะเก่าไปเหมือนเครื่องนุ่งห่ม 12 พระองค์จะทรงม้วนสิ่งเหล่านี้ไว้ดุจเสื้อคลุม และสิ่งเหล่านั้นก็จะเปลี่ยนแปลงไป แต่พระองค์ยังทรงเป็นอย่างเดิม และปีเดือนของพระองค์จะไม่สิ้นสุด’ 13 แต่แก่ทูตสวรรค์องค์ใดเล่าที่พระองค์ได้ตรัสในเวลาใดว่า ‘จงนั่งที่ขวามือของเรา จนกว่าเราจะกระทำให้ศัตรูของท่านเป็นแท่นรองเท้าของท่าน’ 14 ทูตสวรรค์ทั้งปวงเป็นแต่เพียงวิญญาณผู้ปรนนิบัติ ที่พระองค์ทรงส่งไปช่วยเหลือบรรดาผู้ที่จะได้รับความรอดเป็นมรดกมิใช่หรือ